เผยเป้าใหญ่‘ฟอร์ด’ลุยตลาดรถอีวียุโรป

เผยเป้าใหญ่‘ฟอร์ด’ลุยตลาดรถอีวียุโรป

ฟอร์ด ประกาศแผนใหญ่ ปรับโครงสร้างการทำตลาดรถยนต์ในยุโรปให้สอดคล้องกับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไม่ให้เจอข้อห้ามจำหน่ายรถยนต์ใช้เชื้อพลิงฟอสซิลในบางประเทศ ด้วยการเตรียมจำหน่ายเฉพาะรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าสำหรับตลาดยุโรป ภายในปี 257

ฟอร์ด มอเตอร์ หนึ่งในค่ายรถยักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐ ประกาศแผนนี้เมื่อวันพุธ (17ก.พ.)ว่า บริษัทจะลงทุนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 30 เดือนนับจากนี้ เพื่อปรับเปลี่ยนโรงงานผลิตรถของตนในเมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี ให้เป็นศูนย์การผลิตรถพลังงานไฟฟ้าแห่งแรกของบริษัทในยุโรป

นอกจากนี้ บริษัทจะเริ่มผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรุ่นแรกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวและผลิตในยุโรปทั้งหมด ที่ศูนย์การผลิตดังกล่าวตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ขณะที่ กำลังพิจารณาผลิตรถแบบดังกล่าวในรุ่นที่ 2 ด้วย

ฟอร์ดร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทโฟล์คสวาเกน โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ผลิตรถสัญชาติอเมริกันแห่งนี้จะต้องใช้รถไฟฟ้าเอ็มอีบีของโฟล์คสวาเกน เป็นต้นแบบการผลิตต่อไปและฟอร์ดซึ่งเป็นผู้ผลิตรถที่มีมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐรายนี้ยังตั้งเป้าที่จะเริ่มเปิดตัวรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวเพื่อจำหน่ายในยุโรปภายในปี 2569 และเล็งที่จะปรับสัดส่วนรถเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งหมายถึง รถบรรทุกต่าง ในตลาดนี้ให้เป็นรถไฟฟ้าหรือรถไฮบริดมากถึง 2 ใน 3 ภายในปี 2573 ด้วย

ปัจจุบัน ฟอร์ด เป็นผู้นำตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันในสหรัฐ และยุโรป ด้วยสัดส่วนการตลาดสำหรับรถประเภทดังกล่าวที่ 40% และเกือบ 15 %

เมื่อวันจันทร์(15ก.พ.)ที่ผ่านมา จากัวร์ แลนด์ โรเวอร์ ระบุว่ารถยนต์ที่บริษัทผลิตทุกคันจะเป็นรถไฟฟ้า ภายในปี 2573 ส่วนรถยนต์แบรนด์จากัวร์ทั้งหมดจะเป็นรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าภายในปี 2568 และจะเลิกผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันทั้งหมดภายใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่เจเนอรัล มอเตอร์(จีเอ็ม)และวอลโว่ คาร์ส ก็ตั้งเป้าคล้ายๆกันนี้

ในปีนี้ บรรดาค่ายรถในอียูจะถูกปรับเงินจำนวนมากถ้าไม่สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานการปล่อยไอเสีย โดยสหราชอาณาจักรมีแผนที่จะแบนารขายรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานรูปแบบเก่าและรถยนต์ดีเซลตั้งแต่ปี 2573ส่วนฝรั่งเศสก็ตั้งเป้าแบบเดียวกันภายในปี 2583

“เดวิด แล็กเก็ต”นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมรถยนต์จากโกลบอลดาต้า ให้ความเห็นว่า “รถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถยนต์ราคาแพงสำหรับผู้ผลิตรถแต่ก็จำเป็นต้องลงทุนในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า เพราะในระยะ10ปีนี้รถยนต์ที่ใช้พลังงานรูปแบบเก่าหรือพลังงานจากฟอสซิลจะมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ถือเป็นจุดจบของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน”

เมื่อวันอังคาร(16ก.พ.)มีการเปิดตัวสนามบินโคเวนทรี ในอังกฤษที่อาจเป็นที่ตั้งของโรงงานขนาดใหญ่ สำหรับผลิตแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า และที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษประกาศให้ทุน 500 ล้านปอนด์เพื่อสนับสนุนการผลิตรถไฟฟ้า รวมทั้งพัฒนาโรงงานขนาดใหญ่เพื่อผลิตแบตเตอรีทั่วสหราชอาณาจักร

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอุตสาหกรรมสีเขียว มูลค่า 12,000 ล้านปอนด์ เพื่อทำแผนที่จะส่งเสริมการจ้างงาน 250,000 อัตรา โดยแผนนี้ครอบคลุมพลังงานสะอาด การคมนาคม การจัดการธรรมชาติ และนวัตกรรมเทคโนโลยี พร้อมทั้งตั้งเป้าว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศปล่อยไอเสียศูนย์เปอร์เซนต์ ภายในปี2593

ด้านสมาคมผู้ค้าและผู้ผลิตรถยนต์ มีความเห็นว่า การเลิกใช้รถที่ใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมดเป็นเรื่องใหญ่และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรม จึงจำเป็นที่ต้องให้เวลาอุตสาหกรรมได้ปรับตัว

“ขณะนี้ปริมาณความต้องการรถที่ใช้เชื้อเพลิงทางเลือกกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ภาคอุตสาหกรรมต้องการแนวทางที่เป็นบวก ซึ่งให้ผลประโยชน์ที่จูงใจแก่ลูกค้าในการซื้อรถยนต์เหล่านี้ เราอาจจะสร้างความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหราชอาณาจักรได้ ถ้าเราไม่ให้เวลาที่เพียงพอแก่ภาคอุตสาหกรรมในการปรับตัว” ไมค์ เฮาส์ ประธานสมาคมผู้ค้าและผู้ผลิตรถยนต์สหราชอาณาจักร กล่าว

การรณรงค์ในเรื่องนี้ของรัฐบาลอังกฤษเกิดขึ้น ท่ามกลางสัญญาณของการเร่งให้หันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินทั้งในอังกฤษและต่างประเทศและคาดว่า

มลพิษทางอากาศ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของพลเมืองในอังกฤษก่อนวัยอันควรประมาณปีละ 40,000 คน ขณะที่การคมนาคมก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น