เปิดนิยาม 'ทุเรียน' โมเดล เศรษฐกิจไทยฟื้นช้าสุดในอาเซียน

เปิดนิยาม 'ทุเรียน' โมเดล เศรษฐกิจไทยฟื้นช้าสุดในอาเซียน

นักเศรษฐศาสตร์ประสานเสียง เศรษฐกิจไทยพื้นช้ากว่าอาเซียน ด้านซีไอเอ็มบีไทย ชี้ เศรษฐกิจไทย เข้าสู่ โมเดล "ทุเรียน" แข็งนอกอ่อนใน หลังพึ่งพาท่องเที่ยวเกินไป สอดคล้องกสิกร มองเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า โควิดกระทบในประเทศอ่อนแอ หนี้พุ่ง

    ผลกระทบจากโควิด-19 ไปทั่วโลกฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกเมื่อปีที่ผ่านมา และยังแพร่ระบาดระลอกใหม่ต่อเนื่องในช่วงต้นปีนี้ ทำให้การคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้เริ่มปรับลดลง ถึงแม้ว่าจะมีความหวัง การกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในหลายประเทศแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่า “การขยายเศรษฐกิจไทยในปี 2564 และปี 2565”ยังเผชิญการฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

     “อมรเทพ จาวะลา”ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปี2564 เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่โมเดล “ทุเรียน” อีกครั้ง เป็นโมเดลทุเรียน 2.0 กรอบนอก นุ่มใน โดยกรอบนอก คือปัจจัยต่างประเทศ อุปสงค์ต่างประเทศดูดี จากการส่งออก

    ส่วนภายในยังนุ่ม จากปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ การลงทุน การบริโภคภายใน กลุ่มเอสเอ็มอี ที่ยังมีปัญหาภายใต้การท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมา ดังนั้นคาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียงระดับ 2-3% เท่านั้น และจะเห็นการฟื้นตัวได้เต็มที่ปี 2565

    สวนทางกับประเทศอื่นๆในอาเซียน ที่เศรษฐกิจปีนี้จะฟื้นตัวกลับมาได้เท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว ขณะที่ไทยฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อน เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเน้นการท่องเที่ยวมาก

     ดังนั้นปีหน้าน่าจะเร่งตัวขึ้น จากการฉีดวัคซีนที่จะมีมากขึ้น และการท่องเที่ยวน่าจะกลับมา และช่วยให้การกระจายรายได้ได้ดีมากขึ้น อีกด้านที่เป็นโจทย์สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย คือ ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวเชิงคุณภาพดีขึ้นได้อย่างไร

    “โมเดลทุเรียนที่ว่า ยังสะท้อนเศรษฐกิจที่เปราะบาง เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงอยู่มาก โดยเฉพาะหากโควิด-19อีกรอบ แล้วหากวัคซีนมาคนจะกล้าฉีดหรือไม่ จะฉีดให้ผู้สูงอายุ หรือเด็กได้หรือไม่ดังนั้นมองว่าระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่ดี”

    “อเล็กซานเดอร์ วอน เซอ มูเล็น” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธนาคารดอยซ์แบงก์ มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าจีดีพีจะกลับมาฟื้นตัว และเติบโตสู่ระดับ 3.8%

    โดยคาดว่าจะเห็นการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาไทยและอาเซียนมากขึ้น หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 ที่คาดว่าจะกลับมาลงทุนได้ชัดเจนราวไตรมาส 4 ปีนี้

     ภายหลังนักลงทุนมองเห็นผลกระทบจากโควิด-19ชัดเจน ทำให้อาจเห็นเงินไหลเข้าของต่างชาติ ที่มองโอกาสในการขยายธุรกิจเข้ามาสู่ไทย โดยเฉพาะในเขตอีอีซี และในภูมิภาคเอเชียเพิ่มในระยะข้างหน้า

    โดยเฉพาะการย้ายฐานจากสหรัฐ ยุโรป เข้ามาในภูมิภาคเอเชียได้มากกว่าภูมิภาคอื่นๆถึง 2เท่าตัวซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการหนุน ให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและไทย มีโอกาสเติบโตมากขึ้น จากเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆที่เข้ามาหลังจากโควิด-19ผ่านพ้นไป

161366769786    ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย หรือ KResearch ที่เปิดห้อง “คุยกันเบาๆทิศทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ ต่างก็มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังฟื้นตัวช้า เพราะการพึ่งพารายได้การท่องเที่ยวสูงมาก

    “ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองว่าจีดีพีปี 2564 ขยายตัวที่ 2.6% ตามเดิม อย่างไรก็ตามยังมีหลายประเด็นที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ตามหลังประเทศอื่นๆในอาเซียน

     โดยเฉพาะโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวที่สูงกว่า ขณะที่ยังต้องติดตามการควบคุมโควิด-19 ตลอดจนการกระจายวัคซีนจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดแนวทางการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ขณะนี้มองไว้ว่าน่าจะเป็นช่วงปลายปี 2564 ราว 2-4 ล้านคน

    ดังนั้นคาดว่ากว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปที่ระดับก่อนโควิดได้ คงใช้เวลาถึงปี 2565-2566 เพราะโควิด-19 ในรอบนี้กระทบภาคธุรกิจจริงตรงๆ ต่างจากปี 2540 ที่มีจุดกำเนิดจากธุรกิจการเงิน

    อีกทั้งการฟื้นตัวของธุรกิจหลังผ่านพ้นช่วงโควิด-19 คงไม่ทั่วถึง และยังมีโจทย์เชิงโครงสร้างรออยู่ อีกทั้งสังคมสูงอายุ ตลาดผู้บริโภคเล็กลง ปัญหาหนี้ครัวเรือน และปัญหาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ เป็นต้น

     ส่วนแนวโน้มหนี้ครัวเรือน คาดว่ามีโอกาสเห็นมากกว่ากว่าระดับ 91% ต่อจีดีพีได้ หากเทียบกับไตรมาส 3 ปีก่อนที่ 90% ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่า น่าจะคงดอกเบี้ยยาวที่ 0.50% เพราะลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้

    "เกวลิน หวังพิชญสุข" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกรณีพื้นฐานไว้ที่ประมาณ 2 ล้านคน โดย “ภาคท่องเที่ยว” และธุรกิจค้าปลีก เป็นอุตสาหกรรมที่เปราะบางและน่าเป็นห่วง

     จากการประเมินว่า รายได้ท่องเที่ยวอาจสูญเสียไปในช่วงปี 2563-2564 ราว 4.5 ล้านล้านบาท จากช่วงก่อนโควิด-19ในปี 2562 ส่วนยอดขายค้าปลีกอาจสูญเสียไปในช่วงปี 2563-2564 ราว 2.3 แสนล้านบาทจากก่อนโควิด-19 ในปี 2562

     สำหรับภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมในจังหวัดที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก ขณะที่ปัญหาโควิด-19 ในครั้งนี้คงทำให้โรงแรม 30-40% อาจต้องออกจากตลาดไป หรือจำนวนไม่น้อยกว่า 4,000 แห่ง เน้นไปที่โรงแรมในกลุ่มราคาประหยัด (Budget) หรือราคาระดับกลาง (Midscale)

     ในส่วน “ธุรกิจค้าปลีก” โดยเฉพาะร้านค้าเอสเอ็มอีในห้างที่มีจำนวน 30% ของเอสเอ็มอีภาคการค้าทั่วประเทศ ที่เป็นผู้ประกอบการเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า แม้โควิด-19 ระลอกใหม่จะไม่ปิดห้างสรรพสินค้าแต่คนเลี่ยงเดินห้าง สะท้อนกำลังซื้ออ่อนแอลง

    ดังนั้นเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังไม่แน่นอน คนมีความเสี่ยงความไม่มั่นคงการมีรายได้และการมีงานทำ ทำให้คนระวังการใช้จ่าย อาจกระทบผู้ประกอบการค้าปลีก ยอดขายตก รายได้ไม่เข้า

    สำหรับประเด็นเรื่อง Vaccine Passport ยังไม่อาจคาดหวังได้มาก เพราะยังไม่มีหลักฐานว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว จะไม่ติดเชื้อหรือแพร่เชื้ออีกครั้ง ดังนั้นประโยชน์คงเกิดกับเฉพาะบางประเทศที่รับความเสี่ยงได้ มาก กว่าจะเป็นประโยชน์ในระดับโลก

    นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า โจทย์เฉพาะหน้า คือ การดูแลปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจและครัวเรือน คาดว่าในปีนี้จะยังเห็นผู้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน ในกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อลูกค้าบุคคลรายย่อยที่คงไต่ระดับขึ้น จากในปี 2563 เพิ่มขึ้นมากใกล้ระดับ 50% แล้ว

    โดยสินเชื่อของกลุ่มเอสเอ็มอีไต่ระดับจาก 27.6% เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 49% และลูกค้าบุคคลรายย่อย ไต่ระดับจาก 14.7% เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 36% แม้ว่าตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะยังไม่สะท้อนมาก เพราะยังอยู่ในช่วงมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ของธปท.ก็ตาม

    สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เปราะบางนั้น ภาครัฐคงจะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม อาทิ Asset Warehousing เพียงแต่อาจไม่เร็ว เพราะยังต้องรอรายละเอียดในหลายประเด็น ขณะที่หากมีสัญญาณปัญหาการชำระหนี้ แนะนำให้รีบหารือกับสถาบันการเงิน โดยไม่ต้องรอให้เป็นเอ็นพีแอล