อนันดาย้ำจุดแข็งได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ‘สต็อกพร้อมโอน-คอนโดเกาะรถไฟฟ้า’

อนันดาย้ำจุดแข็งได้เปรียบเหนือคู่แข่ง  ‘สต็อกพร้อมโอน-คอนโดเกาะรถไฟฟ้า’

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้หลายดีเวลลอปเปอร์หั่นราคาเร่งระบายสต็อก! จนตัวเบา ต้องขยับพัฒนาโครงการใหม่ ขณะที่ “อนันดา” มีสต็อกในมือรอระบายและรอจังหวะเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่อีก5โครงการมูลค่า24,422 ลบ.กลางปี

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้มีความท้าทาย และต้องปรับตัวอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงรอบ30 ปีที่ผ่านมายังไม่เท่ากับปี 2563-2564 ที่เป็น “ตัวเร่ง” การเปลี่ยนแปลงที่ใน 10 ปีข้างหน้ามาอยู่ในห้วงเวลานี้

“จากภาพรวมดูเหมือนตลาดคอนโดกระทบมาก! แต่ผมมองเป็นภาพลวงตา เพราะตัวเลขคอนโดติดลบ 42% จริงๆ ไม่ได้ติดลบ เพราะ URBAN LIFE NEVER DIES ส่วนยอดขายอนันดาโตกว่าเป้าหมาย 4% หรือ 18,340 ล้านบาท สำหรับตัวเลขคอนโดติดลบ 42% เพราะเปิดตัวโครงการลดลงถึง 63% รวมทั้งกำลังซื้อต่างชาติหายไป”

ขณะเดียวกัน พฤติกรรมลูกค้าทั้งในและต่างประเทศเปลี่ยนไป!!! ลูกค้าต้องการจับต้องสินค้า อยากเห็นของจริงก่อนตัดสินใจซื้อทำให้ยอดโอนของอสังหาฯติดลบ 10% ดีมานด์ยังมีเท่าเดิม แต่ว่าดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่หั่นราคาลงมามากกว่า 10% นั่นหมายความว่า ดีมานด์ของคอนโดพร้อมอยู่ปี 2563 ไม่ได้ติดลบ ขณะที่ตลาดบ้านไม่ได้ปรับราคาลง

ผู้ชนะในตลาดปีนี้คือคนที่มีสต็อก! เพราะอย่าลืมว่า ธุรกิจอสังหาฯ รายได้มาจากการโอน ไม่ได้มาจากการขาย ฉะนั้นใครที่จะโอนได้ต้องมีสต็อกในมือ ฉะนั้นดีเวลลอปเปอร์ที่หั่นราคาหนีตายในปีที่แล้วปีนี้อาจตายจริง แต่อนันดามีสต็อกที่จะใช้ขับเคลื่อนรายได้ในปีนี้และเป็นผู้ชนะจากสต็อกที่ถืออยู่

หากดูจากตัวเลขยอดขายของคอนโดโครงการใหม่ติดลบไปถึง 70% เป็นเหตุผลให้ปี 2563 คนที่ประสบความสำเร็จต้องปรับรูปแบบสินค้าและราคาขายลงมาให้แข่งขันได้กับซัพพลายเก่าแต่ยอดขาย “ติดลบ”

ทั้งนี้ คอนโดต้องใช้เวลาอีก 3 ปีในการดูดซับซัพพลาย แต่ ประเสริฐ มั่นใจว่า ดีมานด์ของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศจะกลับเข้ามาซื้อคอนโด โดยเฉพาะทำเลใกล้รถไฟฟ้า ตรงสเปกของ “คอนโดอนันดา” คาดไม่เกิน 2 ปี ตลาดคอนโดจะฟื้นตัวเพราะซัพพลายที่มีอยู่ถูกดูดซับไป จากที่คาดว่าใช้เวลา 3 ปี 6 เดือน เพราะมีกลุ่มนักลงทุนสนใจเข้าซื้อบิ๊กล็อตคอนโดอนันดาใกล้รถไฟฟ้าจำนวนมาก เรามองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวแล้ว!

หากต่างชาติกลับเข้ามาหลังจากเปิดให้มีการเดินทางโดยเฉพาะ “จีน” คอนโดเมืองไทยระเบิดแน่!!

สังเกตได้จากตัวเลขย้อนหลังปี 2561 มียอดขายถึง 9.2 หมื่นล้านบาท โดยหลักเป็นชาวจีนและฮ่องกง เป็นกำลังซื้อสำคัญที่มาดูดซับซัพพลายคอนโดอย่างมีประสิทธิภาพซึ่ง 21% ของพอร์ตอนันดา การโอนมาจากชาวต่างชาติ

“แค่ดีมานด์ของชาวต่างชาติกลับมาครึ่งเดียวในปลายปีนี้ จะทำให้คอนโดฟื้นกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะคอนโดของอนันดาที่ติดรถไฟฟ้า ล่าสุดเราเพิ่งขายบิ๊กล็อตคอนโดกลางใจเมืองมูลค่าเป็น 100 ล้านบาท”

ปีนี้อนันดามีแผนเปิดตัวคอนโดใหม่ 5 โครงการใหม่ มูลค่า 24,422 ล้านบาท จากปี 2563“ ไม่มี”การเปิดตัวโครงการใหม่ โดยเป็นโครงการบนทำเลทองหล่อ, สามย่าน, สะพานควาย, สุขุมวิท 38 และลำสาลี พัฒนาภายใต้แนวคิด-ดีไซน์ใหม่ ตอบโจทย์วิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่เกินความคาดหวังของลูกค้า และสร้างสีสันให้ตลาด

ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าพร้อมขายมูลค่า 32,957 ล้านบาท จาก 35 โครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา เป็นแนวราบ 8,591 ล้านบาท จาก 13 โครงการ วางเป้าหมายขายสต็อกแนวราบปี 2564 ที่ 1,800-2,000 ล้านบาท ส่วนสต็อกเหลือขายกว่า 45,000 ล้านบาท เป็นคอนโด 24,000 ล้านบาท แนวราบ 8,600 ล้านบาท ที่ต้องโอนให้ได้ 16,000 ล้านบาท นอกจากสต็อกพร้อมเสิร์ฟแล้วยังมีแคมเปญ อนันดาทุบไม่ยั้ง ผ่อนให้ฟรี นาน 36 เดือน กับ 26 โครงการ ทั้งคอนโดติดรถไฟฟ้า บ้าน ทาวน์โฮม พร้อมเข้าอยู่

ปีนี้มียอดขายรอโอน (Backlog) มูลค่า 18,316 ล้านบาท จะทยอยโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2564 จำนวน 7,690 ล้านบาท สัดส่วน 48% ของเป้าหมายยอดโอนกรรมสิทธิ์ทั้งปี จากลูกค้าชาวไทย 61% ซึ่งได้วางเงินดาวน์แล้ว 11% มูลค่า 4,674 ล้านบาท ลูกค้าต่างชาติ 39% วางเงินดาวน์เฉลี่ย 25% มูลค่า 3,016 ล้านบาท ที่เหลือทยอยโอนกรรมสิทธิ์ช่วง 2 ปี (2565-2566) โดยปี 2565 จะทยอยรับรู้ 9,221 ล้านบาท และปี 2566 ทยอยรับรู้ 1,405 ล้านบาท

ส่วนเป้าหมายยอดขายปี 2564 ตั้งไว้ที่ 18,570 ล้านบาท เติบโต 6% จากปีก่อนทำได้ 17,495 ล้านบาท เป็นยอดขายจากคอนโด 16,762 ล้านบาท แนวราบ 1,808 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดโอนกรรมสิทธิ์รวม 16,008 ล้านบาท จากคอนโด 14,311 ล้านบาท สัดส่วน 89% แนวราบ 1,697 ล้านบาท สัดส่วน 11%

ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ปี 2564 เป็นปีแห่งความท้าทายและมีความไม่แน่นอนสูง ต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆ

“เชื่อว่าโมเดลธุรกิจำคอนโดติดรถไฟฟ้ายังคงไปต่อได้ เพราะตอบรับเมกะเทรนด์ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เอ็มอาร์ที ที่เน้นทำเลศักยภาพใหม่จะมีถึง 320 สถานีภายในปี 2572 จากปัจจุบันเปิดใช้บริการแล้ว 9 สาย 128 สถานี”

การลงทุนจากภาครัฐกว่า 3 แสนล้านบาท จะเชื่อมต่อทุกมุมของกรุงเทพฯ ให้เข้าถึงกัน ต่อยอดและพัฒนาชีวิตคนและเมืองให้คล่องตัวรองรับทุกด้านของความเจริญอย่างไร้ขีดจำกัด สอดคล้องกับการย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองของประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการที่ “ประเทศไทย” เป็นจุดหมายหลักการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติโดยเฉพาะคนจีน