ทำไมนักลงทุนต่างชาติขาย 'หุ้นไทย' (อีกแล้ว) 

ทำไมนักลงทุนต่างชาติขาย 'หุ้นไทย' (อีกแล้ว) 

ทำไมนักลงทุนต่างชาติถึงกลับมาขาย "หุ้นไทย" เกือบทุกวันทำการ และขายสุทธิออกไปแล้วถึง 15,129 ล้านบาท? เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นเดือนแรกในรอบ 16 เดือน ที่เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทย

เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นเดือนแรกในรอบ 16 เดือน ที่เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยมียอดซื้อสุทธิ 32,644 ล้านบาท และซื้อต่อเนื่องในเดือนธันวาคมอีก 2,521 ล้านบาท ถึงแม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับที่ไหลออกไป 405,498 ล้านบาทในช่วง 15 เดือนก่อนหน้านี้ แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในข่าวดีส่งท้ายปีสำหรับตลาดหุ้นไทย

เหตุผลสำคัญที่ทำให้เงินไหลเข้าในช่วงนั้นมาจาก สามปัจจัย คือ ปัจจัยที่หนึ่ง ความสำเร็จที่เกินคาดในการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทยาหลายแห่ง ซึ่งทำให้นักลงทุนมีมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น และเชื่อว่าประเทศท่องเที่ยวอย่างไทย จะได้รับอานิสงส์จากการกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติมากขึ้นของประชากรโลก

ปัจจัยที่สอง คือ ชัยชนะของ โจ ไบเดน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ทุกคนเชื่อว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการค้าและการต่างประเทศของสหรัฐให้มีความเป็นมิตรมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อประเทศคู่ค้าทั้งหลาย รวมทั้งไทย

ปัจจัยสุดท้าย คือ ตลาดหุ้นไทยมีหุ้นที่เกี่ยวพันกับวัฏจักรเศรษฐกิจ หรือ หุ้น Cyclical จำนวนมาก เช่น หุ้นธนาคาร หุ้นพลังงาน หุ้นค้าปลีก บางคนนิยมเรียกหุ้นกลุ่มนี้ว่า หุ้น Old Economy ซึ่งนักลงทุนเชื่อว่าในช่วงหลังวิกฤติโควิด หุ้นเหล่านี้มีโอกาสฟื้นตัวแรงกว่า หุ้น New Economy ที่ราคาปรับสูงขึ้นมากแล้ว นับตั้งแต่เข้าสู่วิกฤติ

แต่เกิดอะไรขึ้นในช่วงเดือนกว่าที่ผ่านมา ทำไมต่างชาติถึงกลับมาขายหุ้นไทยเกือบทุกวันทำการ และขายสุทธิออกไปแล้วถึง 15,129 ล้านบาท?

ผมมองว่าเกิดจากสาเหตุหลักๆ สามข้อ ดังนี้

หนึ่ง การระบาดของโควิดระลอกใหม่ในไทย ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยที่แย่ลง ซึ่งสะท้อนได้จากการปรับลดประมาณการ GDP ของเกือบทุกสำนักวิจัย รวมทั้ง IMF ที่ล่าสุดคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 2.7% ในปีนี้ ซึ่งต่ำที่สุดในอาเซียน และเกือบจะต่ำที่สุดในโลก  

สอง ความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนโควิดเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ ยิ่งซ้ำเติมให้นักลงทุนมีความมั่นใจลดลง เพราะในฐานะประเทศท่องเที่ยว ไทยอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุดเพื่อรองรับการเปิดประเทศ แต่ไทยกลับกลายเป็นประเทศในกลุ่มท้ายๆ ที่จะสามารถจัดหาวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอได้ 

สาม การกลับมาแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในปีนี้ บวกกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีไบเดน ทำให้เม็ดเงินจำนวนมากไหลกลับเข้าตลาดหุ้นสหรัฐ แทนที่จะไหลเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่เหมือนที่เคยคาดกัน ส่งผลให้เกิดแรงเทขายในตลาดหุ้นเอเชียหลายตลาด เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ รวมทั้งไทย

มองไปข้างหน้า ผมเชื่อว่าโอกาสที่จะเห็นเม็ดเงินต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยอีกครั้งยังมีสูง เพราะหลายปัจจัยที่ชะลอการไหลเข้าของเงินในช่วงนี้ เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการระบาดระลอกใหม่ในไทย หรือเรื่องการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า

โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินดอลลาร์ ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่ามีทิศทางอ่อนค่า ทั้งจากการอัดฉีดเม็ดเงิน QE ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายแท้จริงของสหรัฐที่ยังคงติดลบ รวมทั้งการขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงมาก ทั้งหมดนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้นักลงทุนโยกเงินกลับเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่ในระยะถัดไป

ตลาดหุ้นไทยมีข้อได้เปรียบอีกหลายตลาดเกิดใหม่ ตรงที่ดัชนีหุ้นยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด ในขณะที่หลายตลาดพ้นจุดนั้นไปแล้ว อีกทั้ง Valuations ของตลาดหุ้นไทยถือว่าไม่แพง เมื่อเทียบกับกลุ่มตลาดหุ้นในอาเซียน และความที่หุ้นไทยเกือบทั้งหมดเป็นประเภท Old Economy ผลประกอบการในปีนี้และปีหน้าจะได้อานิสงส์เต็มๆ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

อีกปัจจัยสำคัญที่จะเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติให้กลับคืนมา คือ แผนการฉีดวัคซีนและการเปิดประเทศที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามนี้ เราน่าจะได้เห็นเม็ดเงินต่างชาติทยอยไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในไม่ช้านี้