ปตท.รุก 4 กลุ่มธุรกิจสุขภาพ สร้างโปรดักต์แชมป์เปี้ยนตัวใหม่

ปตท.รุก 4 กลุ่มธุรกิจสุขภาพ สร้างโปรดักต์แชมป์เปี้ยนตัวใหม่

ปตท.รุก 4 กลุ่มธุรกิจสุขภาพ เล็งซื้อกิจการผนึกพันธมิตรผลิตยา-หวังสร้างโปรดักต์แชมป์เปี้ยนตัวใหม่

กว่า 30 ปีกับการปลุกปั้นธุรกิจ Oil and Gas ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จนปัจจุบันเป็นบริษัทที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ รวมทั้งบริษัทมหาชนที่ร่วมขับเคลื่อนตลาดทุนไทย ด้วยมาร์เก็ตแคปอันดับ 1 อยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาท (ณ วันที่ 11 ก.พ.2564) แต่การดิสรัปทางเทคโนโยลีต่อธุรกิจ Oil and Gas ทำให้ ปตท.เร่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจส่วนหนึ่งสู่ “Life Science” หรือ “วิทยาศาสตร์ชีวภาพ” ที่จะเป็น New S-curve ของ ปตท.

คณะกรรมการ ปตท.เดือน พ.ย.2563 อนุมัติตั้ง บริษัท อินโนบิก เอเชีย จำกัด ทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท เพื่อหาโอกาสการลงทุนในประเทศและความร่วมมือกับต่างประเทศ

นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัทอินโนบิก (เอเชีย) จำกัด กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจ “Life Science” ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และขณะนี้กำลัง “เซ็ตอัพ” ทีมงาน 

คณะกรรมการ ปตท.อนุมัติโครงสร้างกรรมการ 7 คน ซึ่งดึงผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญการแพทย์ เภสัชกร ผู้บริหารเคยทำงานกับบริษัทยาข้ามชาติ หรือเคยร่วมงานกับสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) มาร่วมทีม รวมถึงดึงบุคลากรจาก ปตท.ที่ทำเรื่องไบโอ เมดิคอล เอ็นจิเนียริ่ง ,มาร์เก็ตติ้ง, ไอที บิ๊กดาต้า และการเงินมาร่วม และที่สำคัญ ปตท.จะไม่ทำฝ่ายเดียวแต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่จะทำให้หลายบริษัทเกาะเกี่ยวไปด้วยกัน คาดว่าจะเริ่มประชุมคณะกรรมการอินโนบิก นัดแรกเดือน มี.ค.นี้

แผนการขับเคลื่อน “อินโนบิก” ช่วง 1-2 ปีแรก (2564-2565) จะเน้นสร้างการรับรู้สร้างความร่วมมือระหว่างบริษัททางด้าน Life Science ของไทยและต่างประเทศ เพื่อหาโอกาสต่อยอดธุรกิจ ซึ่งมีโอกาสเติบโตเพราะไทยมีความพร้อม และแข็งแรงเรื่องของการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ที่จะต่อไปถึงยา อาหาร การตรวจวินิจฉัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งจะสร้างความแข็งแกร่งให้ไทยมีระบบสาธารณะสุขครบวงจร

ระยะถัดไป 3-5 ปี (2566-2570) จะเน้นพัฒนาตัวยา การจัดตั้งโรงงานผลิตสารตั้งต้นที่ใช้ผลิตยาและเริ่มทำเรื่องของการวิจัยและพัฒนาที่เข้มข้นขึ้น

161339504175

สำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ “อินโนบิก” จะรุกใน 4 กลุ่มธุรกิจ คือ 

1.ธุรกิจยา เน้นยาสามัญ (Generic) หรือยาที่พ้นระยะสิทธิบัตร เพื่อพัฒนายาที่เป็น First generic ซึ่งธุรกิจยาปัจจุบันมียา 2 ประเภท คือ ยาเคมี กับ ยาชีววัตถุ ซึ่งอยู่ในกลุ่มไบโอไบโอซิมิล่า และเป็นยาที่อนาคตจะเข้ามาแทนที่มากขึ้น เพราะยาเคมีแม้รักษาเห็นผลเร็วแต่มีผลข้างเคียง แต่ยาชีววัตถุจะเป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์และรักษาได้ตรงจุดกว่า

ทั้งนี้ จะโฟกัสกลุ่มยารักษาโรคไม่ติดต่อ (NCD) เช่น โรคมะเร็ง ที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับทุกส่วนในร่างกาย และสอดคล้องกับสังคมสูงอายุของไทย ซึ่งต้องร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศ และจะพิจารณาการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) ด้วย

เบื้องต้น ปตท.ร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์ ตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็งแห่งแรกของไทยที่นิคมอุตสาหกรรมวนารมย์ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง

“ยาเป็นธุรกิจที่สหรัฐ ยุโรป ทำมา 100 ปี ในเอเชีย จีนกับอินเดียก็ใหญ่มาก ถ้าเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เกาหลีทุ่มเรื่องนี้มาก ประเทศไทยก็ใหม่ ต้องว่างจุดยุทธศาสตร์ตรงนี้ดีๆ"

2.ธุรกิจอาหารและโภชนาการ หรือ อาหารที่เป็นยาได้ และอาหารที่สร้างความแข็งแกร่งของร่างการ อาหารลดการเกิดโรค ซึ่งไม่เค็มหรือหวานไปแต่มีโปรตีนที่ผู้ป่วยทานได้ ซึ่งจะโฟกัสที่สารตั้งต้นหรือสารสำคัญที่มีคุณสมบัติในการรักษา หรือเพิ่มส่วนที่เป็นโภชนาการที่สำคัญต่อยอดสินค้าเกษตร โดยเป็นอาหารที่ทำให้ดูแลสุขภาพทั้งกลุ่ม Functional food หรือ Future food ที่กำลังเจรจากับพันธมิตร

“เราไม่เน้นอาหารเสริม คอนเซ็ปต์เราเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราอยากเป็นไบโอไซเอนซ์ของ ปตท.จะแอดวานซ์กว่าอาหารเสริม และต้องมีผลวิจัยรองรับ ซึ่งจะร่วมมือคณะแพทย์ หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีงานวิจัยมาต่อยอดด้วยวิธีคิดอินเตอร์เนชั่นแนล และคอมเมอร์เชียล สเกล”

3.ธุรกิจอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ (Medical device) ต่อยอดวัสดุปิโตรเคมีในกลุ่ม ปตท.จะโฟกัสที่วัสดุสิ้นเปลือง หรือ สิ่งที่ไทยต้องนำเข้า เพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยเริ่มพัฒนาจากสิ่งเล็กที่ใช้บ่อยและทดแทนการนำเข้า แต่ต้องแข่งขันได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ 

ทั้งนี้ จะร่วมมือกับ IRPC หรือ GC นำวัตถุดิบไปต่อยอด เช่น ผ้า Melt Blown ซึ่งใช้เม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีน และโอกาสการผลิตยางสังเคราะห์ Nitrile Butadiene Latex (NBL) เพื่อเป็นวัตถุดิบทำถุงมือไนไตร ซึ่งการจะขึ้นเป็นโรงงานก็ต้องไปหาเทคโนโลยี ทั้งจาก ญี่ปุ่น เกาหลี ไตหวัน ก็อยู่ระหว่างเจรจากันอยู่ แรกๆ ก็อาจจะผลิตจากวัตถุดิบต่อยอด และอาจขายทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมกับพันธมิตร

“ความยากของธุรกิจจะทำอย่างไรให้ไปเร็ว ถูกจุด พาร์ทเนอร์รู้สึกว่า ปตท.ทำจริงไม่ใช่ทำเพราะแฟชั่น" 

นอกจากนี้ ซีอีโอ ปตท.ชัดเจนว่าระยะยาวต้องปรับพอร์ตของ ปตท.ให้หลากหลายและอย่างน้อยต้องมี “โปรดักส์แชมป์เปี้ยน” ซึ่งให้โจทย์ค้นหากลุ่มยาที่หมดลิขสิทธิ์ และต้องเริ่มทำงานกับหน่วยงานทั้งมหาวิทยาลัยหรือคณะแพทย์ ค้นหาโปรดักส์และขอไลเซ่น ซึ่ง ปตท.ไม่ได้เข้ามาเพราะมองโอกาส แต่ต้องการจุดประกายให้เกิดขึ้นในไทย

4.ธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical technology) หรือ การวินิจฉัยโรค ต้องร่วมมือกับสตาร์ทอัพคิดค้นเทคโนโลยีใหม่และพัฒนาขึ้นมา เช่น การเข้าไปร่วมมือกับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) พัฒนาชุดตรวจโควิด-19 โดย VISTEC เป็นผู้พัฒนาและอินโนบิกจะเข้าไปเสริมการตลาด ล่าสุดได้ขออนุญาตทำโรงงานผลิตชุดตรวจโควิดได้แล้ว และรอขึ้นทะเบียน คาดว่าจะมีรายละเอียดที่ชัดเจนออกมาในเร็วๆนี้

“การทำวัคซีนป้องกันโควิด มองว่า มีผู้ทำเรื่องนี้ได้ดีแล้ว ส่วนนี้เราก็ไปสนับสนุนบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสนับสนุนจุฬาฯ การพัฒนาวัคซีนที่ผลิตจาก mRNA หรือเครือข่ายรณรงค์ใบยา หรือ โรงงานผลิตพวกเรานี้ เรียกว่า อาจไม่ใช่ตัวหลัก แต่จะเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้เร็วและเป็นรูปธรรม”

ทั้งนี้ จะเห็นว่าทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจดังกล่าว มีความหลากหลายและมีโอกาสทางธุรกิจเติบโตได้อีกมาก แต่จะทำอย่างไรให้เรื่องเหล่านี้เป็นรูปธรรมครบวงจรต้องร่วมมือกับบริษัทไทยและต่างประเทศ ซึ่งอินโนบิกจะเป็นแพลตฟอร์มที่ดึง Life Science ในไทยให้แข็งแรงและมีสเกลที่แข่งขันได้ในเวทีสากล