เงินสกุล 'คริปโต' แนวโน้ม 'แรง' นักลงทุนทั่วโลกแห่ปลุกตลาด

เงินสกุล 'คริปโต' แนวโน้ม 'แรง' นักลงทุนทั่วโลกแห่ปลุกตลาด

นักลงทุนรุมตลาด “คริปโตเคอร์เรนซี” สถาบันการเงินวางแผนทำเงินคริปโตฯ รับโลกเข้าสู่ระบบดิจิทัล ลดใช้เงินสด ธุรกรรมข้ามประเทศผ่อนคลาย หนุนราคา ปี 2564 หนุนมูลค่าบล็อกเชนโลก คาดปี 68 พุ่งแตะ 3.97 หมื่นล้านดอลล์

12 เดือนที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาหวือหวาของโลก “คริปโตเคอเรนซี” จนหลายคนสงสัยว่า จะเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน สำหรับคนที่ยังไม่ได้ลงทุน ยังมีโอกาสอีกหรือไม่ เว็บไซต์ financemagnates.com คุยกับ “คอนสแตนตินอส พาฟลิเดส” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด (ซีเอ็มโอ) gt.io บริษัทข้อมูลการเงิน ถึงปัญหาคาใจหลายข้อ 

เริ่มต้นจากเงินคริปโตที่พุ่งขึ้นมากในปี 2563 จะต่อเนื่องมาถึงปีนี้หรือไม่ ซีเอ็มโอรายนี้ กล่าวว่า การที่เงินคริปโตวิ่งฉิวในปี 2563 แตกต่างจากเมื่อปี 2560 รอบก่อนราคาขึ้นเพราะนักลงทุนรายย่อยและผู้เล่นที่มีเงินมหาศาล (ที่เรียกกันว่าวาฬ) ส่วนปี 2563 ขึ้นเพราะนักลงทุนสถาบันสนใจในสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น สร้างความหวังว่า เงินคริปโตสุดท้ายแล้วอาจได้รับการยอมรับจากสถาบันกระแสหลักอย่างที่ฝันมานาน ส่งผลให้มหาชนตอบรับเป็นวงกว้าง

พาฟลิเดส กล่าวด้วยว่า ไม่ใช่แค่เงินเสมือนเท่านั้น เทคโนโลยีบล็อกเชนก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเช่นกันในปี 2563 หลายอุตสาหกรรมแสดงความสนใจหาแอพพลิเคชั่นสำหรับบล็อกเชนมาเสริมปฏิบัติการและกระบวนการทางธุรกิจของตัวเอง

‘โควิด’ หนุนโลกมุ่งดิจิทัล-บล็อกเชนโต

ทั้งนี้ ต้องยกเครดิตส่วนใหญ่ให้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เร่งให้ทั่วโลกปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล ส่งผลให้ขนาดตลาดบล็อกเชนโลก คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจาก 4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 3.97 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 อัตราเติบโตเฉลี่ยแบบทบต้น (ซีเอจีอาร์) 5 ปีอยู่ที่ 67.3% เมื่อตลาดเงินเสมือนไปได้สวยเช่นนี้ เป็นไปได้ว่า ปี 2564 จะเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่ง

ปัจจัยสำคัญอีกตัวหนึ่งที่ดันความสนใจต่อเงินคริปโต คือ การเร่งทำโครงการธนาคารกลางสกุลเงินดิจิทัล (ซีบีดีซี) ในปี 2564 อีกทั้งธนาคารกลางทั่วโลกสนใจทำเงินดิจิทัลของตัวเองเพิ่มมากขึ้น รายงานล่าสุดของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ชี้ว่า 80% ของธนาคารกลางทั่วโลกกำลังศึกษาข้อดีข้อเสียของซีบีดีซี

รัฐบาลจีนนำหน้าประเทศอื่นๆ ในเรื่องนี้ เร่งทำโครงการซีบีดีซี เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 โดยทดลองในหมู่บริษัทและเอกชนไปแล้วหลายครั้ง และอาจพร้อมเปิดตัวทั่วโลกในอนาคตอันใกล้นี้ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็เร่งตัดสินใจเรื่องโครงการยูโรดิจิทัล ภายในกลางปี 2564

ทั้งหมดนี้มีแนวโน้มเร่งตัวในปีนี้ ได้แรงหนุนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มการเข้าสู่ระบบดิจิทัล ลดการใช้เงินสด และผ่อนคลายการทำธุรกรรมข้ามประเทศซึ่งจะช่วยให้โลกเชื่อมกันในช่วงที่ประเทศส่วนใหญ่กำลังมองหาวิธีผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ถือเป็นข่าวดีที่ช่วยหนุนราคาคริปโตในปี 2564

บริษัทจัดการการลงทุน อาร์ค อินเวสท์เมนท์ ในนิวยอร์ก วิเคราะห์พื้นฐานของบิทคอยน์ไว้เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ว่า การที่ราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เป็นเพราะพื้นฐานเครือข่ายอันแข็งแกร่ง จากปริมาณการค้นหาเมื่อเทียบกับปี 2560 ราคาที่สูงขึ้นไม่ได้มาจากการปั่น แต่เป็นเพราะบิทคอยน์ได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น หลายบริษัทมองว่าเป็นเงินสดในงบดุล

ประเมินราคาบิทคอยน์ยังพุ่งทะยาน

อาร์คประเมินว่า ถ้าทุกบริษัทในดัชนีเอสแอนด์พี 500 โยกเงินสด 1% ไปซื้อบิทคอยน์ ราคาจะเพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 ดอลลาร์ และหากทุกบริษัทในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ใช้เงินสด 10% ลงทุนในบิทคอยน์ อาจดันราคาคริปโตยอดนิยมนี้ทะยานอีก 4 แสนดอลลาร์ หรือเกือบ 12 ล้านบาท

อาร์คเชื่อว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของบิทคอยน์ ได้วางสถานะตัวเอง ให้อยู่ในพอร์ตการลงทุน ขนาดการระดมทุนในเครือข่ายจากราว 5 แสนล้านดอลลาร์เป็น 1-5 ล้านล้านดอลลาร์ระหว่าง 5-10 ปีข้างหน้า

ไมเคิล เอเวอรี นักวิเคราะห์กลยุทธ์โลกจากราโบแบงก์ ธนาคารใหญ่อันดับ 2 ของเนเธอร์แลนด์ ขณะนี้ประจำการอยู่ที่สิงคโปร์ กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงกระแสบิทคอยน์ที่กำลังมาแรงอยู่ขณะนี้ว่า เทสลา เปิดประตูให้บริษัทอื่นๆ ก้าวเข้ามา ตอนนี้เฮดจ์ฟันด์ 2 แห่ง บริษัทบัตรเครดิตสหรัฐ 2 ราย รวมถึงแบงก์ออฟนิวยอร์กเมลลอน แบงก์ออฟอเมริกาและอื่นๆ ต่างแสดงเจตจำนงเข้าไปเกี่ยวข้องกับบิทคอยน์ด้วยวิธีแตกต่างกัน แต่เนื่องจากผลระยะสั้นที่บิทคอยน์มีต่อราคาหุ้น อาจจะต้องรอดูผลอื่นที่ตามมาอีก

เร่งหาทางกำกับดูแล คริปโตฯ 

สำหรับการกำกับดูแล เอเวอรี กล่าวว่า รัฐบาลและคณะกรรมการกำกับดูแลด้านการเงินพยายามไล่ตามเงินคริปโต และอาจลงมือช้าเกินไปในการหยุดยั้งการยอมรับเงินคริปโตที่กำลังสะสมแรงส่งไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยังคงไม่ยอมรับบิทคอยน์ เนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้มีความเห็นเข้ามามากย้ำว่าบิทคอยน์ถูกนำไปใช้ทำกิจกรรมผิดกฎหมายมากมาย จึงเป็นไปได้อย่างมากว่า คริปโตจะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดในอนาคต 

ตัวอย่างเช่น อินเดียขณะนี้อยู่ในกระบวนการห้ามเงินคริปโตทั้งหมด พร้อมแนะนำเหรียญดิจิทัลแห่งชาติของตัวเอง ที่ดำเนินการโดยการควบคุมจากส่วนกลาง แทนที่จะเป็นการทำธุรกรรมดิจิทัลแบบกระจาย ซึ่งจีนก็อาจทำแบบเดียวกัน

“แน่นอนว่าธนาคารกลางในประเทศใหญ่ทั้งหมดกำลังหาทางเริ่มต้นเศรษฐกิจพร้อมๆ กับควบคุมให้ดียิ่งขึ้น” 

นักวิเคราะห์รายนี้ยังเตือนให้ยึดหลัก “ผู้ซื้อต้องระวัง” ที่ภาษาละตินเรียกว่า Caveat Emptor

“เนื่องจากเคยมีประวัติให้เห็นแล้ว ถ้าราคาสินค้าสักอย่างขึ้นสวนทางกับนโยบายการเงิน ในทศวรรษ 30 หลังเลิกมาตรฐานทองคำ ตอนที่ราคาทองพุ่งสูง ธนาคารกลางสหรัฐยึดทองคำแท่งไป ไม่ให้ประชาชนนำไปเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนกันเองอย่างเสรี เพื่อจะได้ใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีในมือ มาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตามนโยบายที่วางไว้ ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยในที่สุด” นักวิเคราะห์จากราโบแบงก์กล่าวทิ้งท้าย 

‘ความแรง’บีบแบงค์ยอมเงินรับคริปโต

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ขณะนี้ธนาคารในวอลล์สตรีทกำลังเจอแรงกดดันเพิ่มขึ้นทุกขณะ ซึี่งก็ไม่ใช่ใครอื่น มาจากพนักงานของธนาคารเองให้ยอมรับบิทคอยน์ว่าเป็นสินทรัพย์ถูกต้องตามกฎหมาย คำถามที่พบบ่อยคือเมื่อใดธนาคารจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับบิทคอยน์เสียที

แดเนียล พินโต ประธานร่วมเจพีมอร์แกนเชส ธนาคารเพื่อการลงทุนรายใหญ่สุดของโลกวัดจากรายได้ เผยว่าการตัดสินใจของบริษัทขึ้นอยู่กับข้อมูลจำนวนลูกค้าที่อยากให้ธนาคารเทรดบิทคอยน์

ถ้าต่อไปนักลงทุนและผู้จัดการสินทรัพย์ใช้กันมากๆ เจพีมอร์แกนก็จะเข้าไปเกี่ยวข้อง

“ตอนนี้ดีมานด์ยังไม่ถึงระดับนั้น แต่ผมมั่นใจว่าต้องเกิดขึ้นแน่ๆ สักวัน” ประธานร่วมเจพีมอร์แกนกล่าว

การเปิดกว้างต่อคริปโตเคอเรนซีของวอลล์สตรีทชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมธนาคารกำลังถูกบีบให้สังฆกรรมกับบิทคอยน์ เพราะราคาที่เพิ่มสูงขึ้นมากในระยะนี้ อีกทั้งนักลงทุนสถาบัน บริษัท และคู่แข่งขันด้านฟินเทคก็ยอมรับมากขึ้น ทำให้กลัวว่าถ้าไม่ร่วมวงด้วยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

กล่าวโดยสรุป ปี 2564 เป็นปีที่น่าตื่นเต้นในทุกมิติ ตั้งแต่การยอมรับเงินคริปโตกว้างขวางขึ้นว่าเป็นสินทรัพย์ ไปจนถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีฐานรากอย่างบล็อกเชน อีกทั้งยังมีองค์ประกอบใหม่ๆ เข้ามาในอีโคซิสเต็ม เช่น อีเทอเรียม 2