คนไทยแห่ตีตรา 'เครื่องมือ-อุปกรณ์' สกัดโควิด

คนไทยแห่ตีตรา 'เครื่องมือ-อุปกรณ์' สกัดโควิด

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยตั้งแต่โควิดระบาดในไทยต้นปี 63 คนไทยแห่ยื่นจดสิทธิบัตร-อนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 รวมถึงยา และวัคซีน แล้วกว่า 60 คำขอ ล่าสุดอยู่ระหว่างตรวจสอบ คาดมียื่นเพิ่มขึ้นแน่นอน

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยตั้งแต่โควิดระบาดในไทยต้นปี 63 คนไทยแห่ยื่นจดสิทธิบัตร-อนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 รวมถึงยา และวัคซีน แล้วกว่า 60 คำขอ ล่าสุดอยู่ระหว่างตรวจสอบ คาดมียื่นเพิ่มขึ้นแน่นอน หลังคนไทยปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น และใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยช่วงต้นปี 63 จนถึงขณะนี้ มีนักประดิษฐ์ และหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ ได้คิดค้นและพัฒนาชิ้นงาน เพื่อมายื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 กับกรมแล้ว กว่า 60 คำขอ แบ่งเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันละอองฝอย (เฟซชิลด์) 26 คำขอ 2.เครื่องมือและอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ เช่น ตู้อบฆ่าเชื้อ อุโมงค์หรืออุปกรณ์พ่นยาฆ่าเชื้อ 18 คำขอ 3.สาร น้ำยา หรือเจลฆ่าเชื้อ 4 คำขอ 4.สิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโรค เช่น หุ่นยนต์ขนส่งอาหารในโรงพยาบาล 3 คำขอ 5.วัคซีน 5 คำขอ 6.ชุดตรวจ 8 คำขอ และ7.ยาต้านไวรัส 3 คำขอ
“ที่มีมายื่นจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองทั้งสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตรแล้วกว่า 60 คำขอ แต่คาดว่า จะมีมายื่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับยาต้านไวรัส และวัคซีนนั้น มีทั้งที่จดเป็นส่วนประกอบของยา เช่น สารเคมีต่างๆ และที่จดเป็นสูตรยาเลย โดยคำขอทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งตามกฎหมายสิทธิบัตรแล้ว จะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 2 ปี”
นายวุฒิไกร กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้คาดว่า จะมีผู้มายื่นจดทะเบียนเพิ่มขึ้น เป็นเพาะปัจจุบัน นักประดิษฐ์ และหน่วยงานต่างๆ ของไทย มีการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และนำมาจดทะเบียนคุ้มครองสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรมากขึ้น เพราะคนไทยให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองมากขึ้น โดยหากมีการละเมิดเกิดขึ้น ก็สามารถดำเนินการกับผู้ละเมิดได้ตามกฎหมาย ทำให้ล่าสุดปี 62 คนไทยยื่นคำขอจดสิทธิบัตร 13,465 ราย ได้รับอนุมัติจด 6,251 ราย และยื่นคำขอจดอนุสิทธิบัตร 3,170 ราย ได้รับอนุมัติจด 1,010 ราย
ขณะเดียวกัน หลังจากที่ไทยเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (พีซีที) ยิ่งทำให้การจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองในประเทศต่างๆ ง่ายขึ้น เพียงแค่ยื่นจดที่กรมเพียงแห่งเดียว แต่สามารถระบุชื่อประเทศที่ต้องการขอรับความคุ้มครองได้หลายประเทศ ทำให้ไม่ต้องเดินทางไปยื่นจดถึงประเทศที่ต้องการขอรับความคุ้มครอง นอกจากนี้ ยังสามารถนำนวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งส่งผลให้ทรัพย์สินทางปัญญามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากการที่คนไทยมีการประดิษฐ์คิดค้นนวัตใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้ในรายงานดัชนีนวัตกรรมโลก ปี 63 จัดทำโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ไวโป) พบว่า ไทยถูกจัดให้มีความสามารถด้านนวัตกรรมเป็นอันดับที่ 44 จาก 131 ประเทศทั่วโลก เพราะไทยมีปัจจัยทางตลาดที่ดี และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นลำดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ลำดับที่ 10 ของกลุ่มประเทศอาเซียน เอเชียตะวันออก และโอเชียเนีย อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่มีพัฒนาการด้านนวัตกรรมเมื่อเทียบกับระดับการพัฒนาของประเทศ
นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าว ไทยยังครองอันดับ 1 ของประเทศผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เช่นเดียวกับปี 62 และได้ขยับขึ้นครองอันดับ 1 ของประเทศที่มีค่าใช้จ่ายภายในประเทศเพื่อการวิจัยและพัฒนาโดยกลุ่มธุรกิจ อีกทั้งมีจำนวนคนไทยเป็นเจ้าของอนุสิทธิบัตรอยู่ในอันดับ 10 ของโลก