‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘ทรงตัว’ที่29.90บาทต่อดอลลาร์

 ‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘ทรงตัว’ที่29.90บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเคลื่อนไหวกรอบแคบ จับตาตัวเลขจีดีพีหนุนเงินบาททรงตัวตามเงินสกุลอื่นในเอเชีย หากเงินบาทแข็งค่าหรือมีเงินทุนต่างชาติกลับเข้า อาจต้องรอหลังเริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีนและเห็นการฟื้นตัวของภาคการผลิตพร้อมกันทั้งเอเชียก่อน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.90 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 29.88 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.80-30.00 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 29.65-30.15 บาทต่อดอลลาร์

ด้านเงินบาทช่วงนี้เคลื่อนไหวในกรอบแคบ แม้จะมีผู้ส่งออกกลับเข้ามาในตลาดมากขึ้น แต่นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นและบอนด์ไทยอยู่ ในสัปดาห์นี้ต้องจับตารายงานตัวเลขจีดีพีก่อน เชื่อว่าถ้าไม่แย่กว่าคาดจะหนุนให้เงินบาทสามารถทรงตัวตามสกุลเงินเอเชียอื่น ได้

อย่างไรก็ดี การจะเห็นเงินบาทแข็งค่าหรือมีเงินทุนต่างชาติกลับเข้า อาจต้องรอหลังจากที่เริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีนและเห็นการฟื้นตัวของภาคการผลิตพร้อมกันทั้งเอเชียก่อน

สัปดาห์นี้แนะนำติดตามการประกาศตัวเลขจีดีพีของไทยและญี่ปุ่น ส่วนฝั่งสหรัฐมีการประกาศตัวเลขการค้าปลีก

เริ่มต้นเช้าวันจันทร์จะมีการรายงานตัวเลขจีดีพี ไตรมาสที่สี่ของญี่ปุ่นคาดว่าจะขยายตัว 2.4% จากไตรมาสก่อน โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นช้าลงในช่วงปลายปีจากการกลับมาระบาดใหม่ของไวรัสโควิด-19 ส่วนฝั่งประเทศไทยตลาดคาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 0.8% จากไตรมาสก่อน ถือเป็นการหดตัว 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ต่อมาในวันพุธ จะมีการรายงานตัวเลขค้าปลีกในสหรัฐ (Retail Sales) ที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น 0.7% เทียบกับช่วงปลายปีที่แล้วจากเงินช่วยเหลือของภาครัฐ พร้อมกับยอดขายรถยนต์ที่ฟื้นตัวขึ้นช่วงต้นปีใหม่

ส่วนฝั่งตลาดเงิน ระยะสั้นกลับมาเห็นภาพดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอีกครั้ง โดยในสัปดาห์นี้ เชื่อว่าตลาดจะกลับมาจับตาที่การผ่านนโยบายการคลัง รายงานการประชุม FOMC ครั้งล่าสุดที่จะประกาศในวันพุธ รวมไปถึงความเคลื่อนไหวในตลาดทุน มองว่าสัปดาห์นี้อาจยังไม่สามารถสรุปเรื่องแผนกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ขณะที่ถ้า FOMC มีการหารือเรื่องเงื่อนไขเวลาในการลดนโยบาย QE ในอนาคตก็อาจกดดันให้ตลาดพักฐานและดอลลาร์แข็งค่ากลับได้ กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 90.00-91.00 จุด ระดับปัจจุบัน 90.45 จุด

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ประเมินกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.85-29.95 บาทต่อดอลลาร์และมองกรอบเงินบาท สัปดาห์นี้ที่ระดับ29.80-30.10 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า ตลาดยังคงรอปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาทำให้ตลาดการเงินเคลื่อนไหวอย่างมีแนวโน้มที่ชัดเจน ทำให้เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบตามเงินดอลลาร์ ซึ่งในช่วงนี้ เรามองว่า เงินดอลลาร์มีแนวโน้มผันผวนในกรอบต่อ (Sideways) โดยเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ หรือการแจกจ่ายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง หากเศรษฐกิจทั่วโลกก็ฟื้นตัวได้ดีและตลาดก็ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงอยู่(Risk-On)

ทั้งนี้ เราคงมองว่า เงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก หรือ อ่อนค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้นำเข้า ก็รอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงใกล้ 29.85 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ ฝั่งผู้ส่งออก ก็รอจังหวะทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าเหนือระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ อาทิ ช่วง 30.10 บาทต่อดอลาร์  ทำให้ จะเหลือเพียงปัจจัย ฟันด์โฟลว์ในฝั่งตลาดทุน ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของเงินบาทได้บ้าง ซึ่งในสัปดาห์นี้ก็จะมีการประมูลบอนด์ 10ปี (2 หมื่นล้านบาท) ที่อาจมีความต้องการจากนักลงทุนต่างชาติพอสมควรและหนุนให้เงินบาทอาจมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ +/- 15 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์หรือฟันด์โฟลว์ เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน อาทิเช่น ตลาดปิดรับความเสี่ยง จนเกิดฟันด์โฟลว์ไหลออกสุทธิต่อเนื่อง พร้อมกับ เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นตามความต้องการหลุมหลบภัย (Safe Haven) เป็นต้น

สำหรับในสัปดาห์นี้ ตลาดจะติดตามความคืบหน้าของการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่สหรัฐฯ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลก ดังนี้

ในฝั่งสหรัฐฯ ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ทยอยฟื้นตัว และมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล อาทิ เงินช่วยเหลือ 600 ดอลลาร์จะช่วยให้ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นราว 1% จากเดือนก่อนหน้า ดีขึ้นจากที่หดตัวเกือบ 1% ในเดือนธันวาคม ส่วนในฝั่งภาคการผลิต ตลาดมองว่า ยอดผลผลิตภาคอุตสาหกรมม (Industrial Production) จะขยายตัวต่อเนื่องราว 0.4% จากเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกัน อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization Rate)ก็จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 74.8% หนุนโดยความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น ตามภาวะการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI)ที่ยังคงอยู่ในระดับเกินกว่า 50จุด สะท้อนถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการผลิต แม้ว่าอาจจะเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานไปบ้างจากการระบาดของ COVID-19

ส่วนในฝั่งยุโรป  ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และการแจกจ่ายวัคซีนที่ยังล่าช้า อาจกดดันให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในเยอรมนี สำรวจโดย ZEW ในเดือนกุมภาพันธ์ จะปรับตัวลดลงเหลือ 59จุด จาก 61.8จุด ในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะลดลงเหลือ 54.4จุด และ 45จุด ตามลำดับ (ดัชนีมากกว่า 50 หมายถึงการขยายตัว)

ขณะที่ในฝั่งเอเชีย เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4 จะขยายตัวราว 9.5% จากไตรมาสก่อนหน้า (Q/Q, annualized) หนุนโดยภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง การลงทุนของภาคเอกชน และมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ นอกจากนี้ เรามองว่า การฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจเอเชียจะช่วยลดความจำเป็นที่ธนาคารกลางจะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยเรามองว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7D Reverse Repo) ไว้ที่ระดับ 3.75% ทั้งนี้ BI อาจส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยเพิ่ม หากเศรษฐกิจซบเซาลงกว่าคาด

และสำหรับประเทศไทย เรามองว่า ในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจมีแนวโน้ม หดตัวราว 5.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนจากภาคเอกชนที่ยังคงซบเซาและฟื้นตัวช้าจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ขณะที่การส่งออกและการลงทุนจากภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ