“ชทพ.- รปช."ในเซฟโซน  ทุจริตยังไม่มี ความดีไม่ปรากฎ

 “ชทพ.- รปช."ในเซฟโซน  ทุจริตยังไม่มี ความดีไม่ปรากฎ

"3รมต." ของ 2 พรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่ถูกซักฟอก แม้เหตุผลที่ไม่ถูกเลือก เพราะ กระแสไม่ได้-ผลงานไม่มี-ทุจริตเชิงประจักษ์ยังไม่เห็น แต่อย่าประมาท ว่า จะอยู่รอดปลอดภัยในเซฟโซนตลอด

       นาทีนี้ คงไม่มีอะไรจะขวางการศึกซักฟอกนายกฯ และ 9 รัฐมนตรี ของฝ่ายค้านรอบสองได้อีกแล้ว 

  แม้ก่อนหน้านี้จะมีสัญญาณจาก ฝ่ายรัฐบาล เปิดเกมขวาง ด้วยการชง “ญัตติขอส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเนื้อหาของญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เพราะมีเนื้อหาก้าวล่วงถึงสถาบันเบื้องสูง” เข้าสู่การพิจารณา

       แต่เรื่องนี้ ถูกเบรกไว้ทั้งจากคนของพรรคพลังประชารัฐ คนของพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึง “ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ” ผู้มีอำนาจส่งเรื่องเข้าสู่วาระประชุม 


       ดังนั้น ในวันที่ 16 - 19 กุมภาพันธ์นี้ ศึกซักฟอก 10 รัฐมนตรีที่ถูกจองกฐินเอาไว้ จะได้เริ่มกันเสียที

       ใน 10 รัฐมนตรีที่อยู่ในบัญชีซักฟอก หากแบ่งเป็นรายพรรค จะพบเพียง 3 ใน 5 พรรค ที่มีโควตาเป็น รัฐมนตรี คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งหัวหน้าทั้ง 3 พรรค ถูกลากขึ้นสังเวียนอย่างพร้อมเพรียง


       ขาดเพียง 2 พรรคร่วม คือ “พรรคชาติไทยพัฒนา” ที่มี “วราวุธ ศิลปอาชา" ดำรงตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) "ประภัตร โพธสุธน” มีตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ที่มี “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” นั่งเก้าอี้ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)

161309595536

       เหตุผลที่ 2 พรรคร่วมรัฐบาลนี้ ยังไม่ถูกเลือกจากฝ่ายค้าน เพราะกระทรวงในโควตาพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือ รปช. เพิ่งเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี จาก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล มาเป็น “เอนก” เมื่อ 5 สิงหาคม 2563 ระยะแค่ 6 เดือนเท่านั้น   


       ส่วนกรณีพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) “วราวุธ - ประภัตร” ที่แม้จะทำงานมา 1 ปี 7 เดือน แต่ภารกิจที่ได้รับนั้น เป็นเรื่องเชิงสังคม และไม่จัดอยู่ใน "แท่งกระทรวงเสาหลัก” แม้จะมีหน้าที่และอำนาจในเชิงนโยบาย ที่มีส่วนเอื้อประโยชน์ให้กับ "พ่อค้า-นายทุน” ได้ แต่ยังไม่เป็นเรื่องในกระแสที่ฝ่ายค้านจะขย่มเพื่อเก็บคะแนนการเมืองได้

161309607948

         ระยะ 1 ปี 7 เดือนของพรรคชาติไทยพัฒนาที่ร่วมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ หากโฟกัสที่ผลงาน “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ก็พบว่า มีเรื่องสำคัญ เรื่องใหญ่ที่ไม่อาจมองข้าม ถูกตั้งคำถามถึงการกำกับดูและ และการบริหารที่ควรทำได้ดีกว่านี้


       อาทิ “ขบวนการลักลอบค้าสัตว์ในสวนสัตว์” และ "ขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า" ซึ่งเรื่องนี้มีข้อมูลเชิงประจักษ์ กรณีที่ “ 2 เก้งเผือกพระราชทาน” ในสวนสัตว์สงขลา หายไปอย่างลึกลับไร้ร่องรอย ถูกตั้งข้อสงสัยหลายประเด็น และยังหาข้อพิสูจน์อย่างกระจ่างไม่ได้


         คำถามสำคัญคือขบวนการลักลอบค้าสัตว์ในสวนสัตว์ ที่ถูกเปิดโปงจากเรื่อง  ผอ.องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ “สุริยา แสงพงค์” ถูกยิงเสียชีวิตโดยลูกน้องตัวเอง "ภูวดล สุวรรณะ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์วิจัยและสุขภาพสัตว์ สวนสัตว์สงขลา”

 

        สำหรับขบวนการลักลอบค้าสัตว์ ภายในการดูแลของหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรฯ นั้น รัฐมนตรีวราวุธ คนปัจจุบัน รับทราบถึงปัญหา แม้จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ แต่ดูเหมือนเป็นเพียงการทำเพื่อ “กลบกระแสสังคม” เท่านั้น 

         ยังไม่ไปถึงการวางนโยบายเพื่อป้องกัน หรือแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง กรณีที่ประเทศไทยถูกตีตราว่า “ไทยคือเส้นทางการค้าสัตว์ป่าสำคัญของเอเชีย” ที่ประจักษ์ชัดในงานวิจัยของมูลนิธิเพื่อการศึกษาคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช


        ประเด็นต่อมา คือ “การบุกรุกพื้นที่ป่าฯ” จาก “กลุ่มนักธุรกิจนายทุน-ผู้มีอิทธิพล” ที่แม้จะมีข่าวไล่รื้อ รีสอร์ท ร้านอาหาร บ้านพัก หลายแห่งที่ก่อสร้างในพื้นที่ห้ามสร้าง พื้นที่ป่า แม้หน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรฯ จะระดมเจ้าหน้าที่ปราบปรามเป็นระยะ แต่สุดท้ายไล่-รื้อ กันแทบตายแต่รายใหญ่ในพื้นที่กลับยังได้สิทธิกลับมา  

161309637285

        ทำให้สงสัยไม่ได้ว่า เป็นเพราะ “อิทธิพล”ในพื้นที่ที่ยิ่งใหญ่ จนอาจทำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เลือกทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นปัญหา ซึ่งอาจส่งผลให้ปัญหารุกพื้นที่ป่ายังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

         หากจับจุดให้ดีรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลนโยบายก็ต้องตอบคำถามสังคมให้ชัดว่า เป็นเพราะ “นโยบายระดับกระทรวง” เข้มแข็งไม่พอ หรือไม่ 

      ขณะที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ในระยะ 6 เดือนที่ “ดร.เอนก” นั่งเป็นเจ้ากระทรวง ภารกิจหลักที่เร่งเดินหน้า คือ การสานต่อนโยบาย “อว.สร้างงาน” เพื่อจ้างคนตกงานจาก โควิด-19 ทำงานในพื้นที่ 

161309699935


        อีกทั้งยังเร่งแผนผลักดันให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด-19 และที่กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงเสียดสี รมว.อว. คนใหม่ คือ แผนพัฒนายานอวกาศไปดวงจันทร์ ซึ่งยังเป็นเพียงการกำหนดโครงร่างไอเดีย ยังไม่ปรากฎเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง

          ดังนั้นนโยบายที่ขายฝันเรื่องนี้จึงยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะถูกซักฟอกได้ ส่วนงบประมาณของกระทรวง อว. ที่ได้รับในปี 2563 ส่วนใหญ่ คืองบพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

          รัฐมนตรีทั้งสองพรรค ถึงแม้จะยังไม่อยู่ในโผฝ่ายค้าน เพราะ “ทุจริตยังไม่มี” แต่ “ความดียังไม่ปรากฎ” เด่นชัด ที่สำคัญไม่ควรประมาทว่า จะอยู่รอดปลอดภัยในเซฟโซนตลอด ตัวอย่างจากพรรค “ชาติพัฒนา” ก็มีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์.