ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ชี้โควิดฉุดราคาอสังหาฯ

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ชี้โควิดฉุดราคาอสังหาฯ

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เผยดัชนีราคาที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ ลด 2% อยู่ที่ 197 จุด ต่ำสุดรอบ 14 ไตรมาส คาดแนวโน้มราคา-อุปทาน ลดลงต่อเนื่องช่วงครึ่งปีแรก หวังวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 มาตรการเยียวยา เพิ่มเติมจากภาครัฐเร่งการฟื้นตัว

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง สาเหตุหลักมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่น่าจะน้อยกว่าที่คาด และความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อการฟื้นตัวสภาพเศรษฐกิจ ที่คาดว่าปี 2564 จะโต 3.2%

เมื่อผนวกกับกำลังซื้อต่างชาติที่หายไปนาน ความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจทำให้ตลาดอสังหาฯ ฟื้นตัวช้าลงจากที่คาดไว้ช่วงครึ่งหลังปีนี้ โดย DDproperty Thailand Property Market Index ล่าสุด พบว่าโควิด-19 ระลอกใหม่ผลให้แนวโน้มราคาอสังหาฯ ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และจะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกนี้

ส่วนดัชนีอุปทานก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการหันมาเร่งระบายสต็อกคงค้างและชะลอการเปิดโครงการใหม่ ขณะที่ความต้องการซื้อก็ถูกดูดซับไปจำนวนมากจากสงครามราคาที่รุนแรงช่วงที่ผ่านมา

“ปีนี้สงครามราคาอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญช่วยกระตุ้นการฟื้นตัว มองว่าความชัดเจนของการฉีดวัคซีนและมาตรการเยียวยาจากภาครัฐอย่างตรงจุดจะเป็นตัวแปรสำคัญที่เร่งการฟื้นตัว ส่วนมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดค่าธรรมเนียมการโอนจะกระตุ้นไม่มากนัก เนื่องจากจำกัดแค่การซื้อบ้านและคอนโดฯ ใหม่ ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเท่านั้น"

โดยข้อมูลผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ทั่วประเทศรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า74% สนใจเข้าชมประกาศซื้อ-ขาย-เช่าที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ในขณะที่ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มี 55%

ส่วนทิศทางราคาแนวราบยังทรงตัว จากสงครามราคา โดยดัชนีราคาอสังหาฯ ไตรมาสที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงทุกรูปแบบที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะประเภทคอนโดฯ ที่ดัชนีราคาลดลง 2% จากไตรมาสก่อน และลดลงถึง 5% ในรอบปี (YoY) ในขณะที่แนวราบ การที่ผู้บริโภคหันมาสนใจมากขึ้นหลังจากต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) ทำให้ดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ยังคงทรงตัว ขณะที่บ้านเดี่ยวแม้ดัชนีราคาจะลดลง 2% จากไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 10% ในรอบ 2 ปี สะท้อนให้เห็นโอกาสจากกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงที่ยังคงมีอยู่ในตลาด

ขณะเดียวกันประกอบการอสังหาฯ นักลงทุน และผู้บริโภคที่ต้องการขายอสังหาฯ ชะลอการขายออกไปก่อน โดยรายงานล่าสุดพบว่า ดัชนีอุปทานลดลงมาอยู่ที่ 363 จุด จาก 385 จุด หรือลดลง 6% จากไตรมาสก่อน และคาดการณ์ว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1 ไตรมาส

ในช่วงที่ผ่านมาตลาดคอนโดฯ ถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุดจนมีสินค้าคงค้างในตลาดเป็นจำนวนมาก แม้ไตรมาสนี้จำนวนอุปทานคอนโดฯ จะลดลงจากไตรมาสก่อน 7% แต่เมื่อมองภาพรวมแล้วยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 88% ของจำนวนอุปทานทั้งหมดในกรุงเทพฯ ในขณะที่ดัชนีอุปทานบ้านเดี่ยวมีสัดส่วน 7% และทาวน์เฮ้าส์ 5%