มาตรการแก้ PM 2.5 จากยานยนต์

ส่องมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากยานยนต์ ในประเทศไทยมีการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง? และเพียงพอต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปีหรือไม่?

จากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่าแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากภาคยานยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ผู้ผลิตยานยนต์และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเน้นการผสมผสานระหว่างมาตรการภาคบังคับกับมาตรการภาคสมัครใจ

ภาครัฐควรยกระดับมาตรฐานการระบายไอเสียและมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงจาก Euro 4 ไปสู่มาตรฐาน Euro ที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 และสารมลพิษอื่นๆ ที่ปล่อยจากรถยนต์ อย่างไรก็ดี การยกระดับมาตรฐาน Euro สำหรับรถยนต์ใหม่และการยกระดับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เพียงพอที่จะทำให้ปริมาณฝุ่น PM2.5 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จำเป็นต้องใช้มาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการจัดการปัญหาการใช้รถยนต์เก่าซึ่งปล่อยฝุ่น PM2.5 ในปริมาณที่สูง 

ตัวอย่างมาตรการจัดการรถยนต์เก่า ได้แก่ การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ประจำปี การจำกัดอายุการใช้งานของรถยนต์ เป็นต้น โดยทั้งสองมาตรการมีการใช้ในต่างประเทศ 

สำหรับภาษีรถยนต์ประจำปี ประเทศในทวีปยุโรป เช่น มอลตา มีการเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีสำหรับรถยนต์เก่าในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้รถไม่ใช้รถคันเดิมเป็นเวลานานเกินไป นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการซื้อรถยนต์ใหม่ที่ไม่สร้างมลพิษทางอากาศ เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ผ่านการอุดหนุนจากภาครัฐในรูปแบบต่างๆ

อย่างไรก็ดี ภาครัฐต้องพิจารณาผลกระทบของมาตรการข้างต้นที่อาจจะเกิดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อให้ต้นทุนที่เกิดจากการใช้นโยบายมีความสมเหตุสมผลกับการได้มาซึ่งคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เช่น กำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านระหว่างมาตรฐาน Euro ต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์ โรงกลั่นน้ำมันและผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ มีเวลาเตรียมตัวที่เพียงพอ

นอกจากนี้ ภาครัฐอาจต้องพิจารณามาตรการสนับสนุนหรือชดเชยให้กับเจ้าของรถยนต์เก่า ในกรณีที่มีการใช้มาตรการกำหนดอายุการใช้งานของรถยนต์เก่าอาจทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก อีกทั้งส่วนใหญ่อาจเป็นผู้มีรายได้น้อยที่ต้องนำรถยนต์เก่าออกจากระบบและซื้อรถยนต์ใหม่

สำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในส่วนของผู้บริโภคนั้น ที่อาจช่วยลดปริมาณของฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากยานยนต์ โดยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะแทน แต่ภาครัฐต้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้เป็นตัวเลือกที่ดึงดูดและน่าสนใจ ทั้งในด้านความครอบคลุมของเส้นทางเดินรถ ราคาที่เหมาะสม รวมถึงบริการเสริมอื่นๆ เช่น ที่จอดรถสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น

จากมาตรการทั้งหมด ภาครัฐควรลำดับแผนการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างชัดเจนตามความเหมาะสม โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะสั้น : เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์และตรวจจับไอเสีย โดยเฉพาะรถยนต์เก่าที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล จัดทำฐานข้อมูลด้านมลพิษอากาศ รวมถึงสื่อสารกับประชาชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและแนวทางการป้องกัน PM2.5 ที่ถูกต้อง

ระยะกลาง : บังคับใช้มาตรฐาน Euro ในระดับที่สูงขึ้นทั้งส่วนรถยนต์และส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับโครงสร้างการเก็บภาษีรถยนต์ประจำปี รวมถึงพิจารณามาตรการที่ส่งเสริมให้มีการนำรถยนต์ที่เก่าออกจากระบบ

ระยะยาว : ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ประเภทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ควบคู่กับการพัฒนาระบบโครงข่ายขนส่งสาธารณะต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมให้บริการอย่างทั่วถึง

นอกจากการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคยานยนต์แล้ว จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาที่มาจากแหล่งกำเนิดอื่น เช่น การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งควรดำเนินการควบคู่กันไปกับมาตรการในภาคยานยนต์ เพื่อให้ผลการแก้ไขปัญหา PM2.5 ในภาพรวมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

การได้มาซึ่งคุณภาพอากาศที่ดีจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน