‘เคทีซี’เสริมแกร่ง'เช่าซื้อ'เพิ่มอัพไซด์ธุรกิจ

‘เคทีซี’เสริมแกร่ง'เช่าซื้อ'เพิ่มอัพไซด์ธุรกิจ

ธุรกิจเช่าซื้อ หรือ ลีสซิ่ง เรียกว่ากำลังบูมสุดๆ ไปเลย ด้วยเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อที่ผ่อนคลายกว่า ไม่ได้เข้มงวดเท่ากับไปกู้แบงก์ ทำให้เป็นที่นิยมของบรรดารายย่อย หนุนให้ตลาดเติบโตมาอย่างต่อเนื่องในทุกภาวะเศรษฐกิจ

จึงได้เห็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ โดดลงมาเล่นกันเพียบ มีตั้งแต่รายเล็กๆ จนไปถึงระดับเจ้าสัว เจ้าพ่อธุรกิจ ก็ขอแตกไลน์มาแข่งขันด้วยเช่นกัน เพื่อหวังช่วงชิงมาร์เก็ตแชร์ก้อนโตจนเป็นข่าวใหญ่ครึกโครมในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งกลุ่มอาร์เอสของ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ที่ทุ่มงบลงทุน 920 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 35% ในบริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด ซึ่งทำธุรกิจบริหารหนี้ครบวงจร ติดตามทวงหนี้ บริหารสินทรัพย์ และสินเชื่อส่วนบุคคล แถมยังมีแผนจะดันเข้าตลาดหุ้นไทยในปีหน้าอีกด้วย

ขณะที่ก่อนหน้านี้ “เครือไทยโฮลดิ้งส์” เรือธงด้านธุรกิจการเงินของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประกาศชัดพร้อมรุกธุรกิจลีสซิ่งเต็มสูบเช่นกัน จากปัจจุบันมีแค่ธุรกิจรถยนต์ให้เช่าในองค์กรเท่านั้น ภายใต้การบริหารงานของอาคเนย์แคปปิตอล โดยสนใจทั้งสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและนาโนไฟแนนซ์

ส่วน “ธนาคารออมสิน” ขอลงสนามท้าดวล โดยอาศัยความได้เปรียบในฐานะแบงก์รัฐ ประกาศหั่นดอกเบี้ยต่ำตัดหน้าคู่แข่งกันไปเลย แถมยังได้พันธมิตรมากด้วยประสบการณ์อย่างบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD มาช่วยอีกแรง เดินหน้ารุกธุรกิจจำนำทะเบียนรถเต็มสูญ เล่นเอาคู่แข่งร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กัน

นอกจากนี้ ยังมีรายเล็กๆ ที่พึ่งจะเข้าตลาดหุ้นอีกเพียบ แต่ละบริษัทก็มีจุดดีจุดเด่นแตกต่างกันออกไป ทำให้ตลาดตอนนี้แข่งกันเดือดสุดๆ แม้จะมีช่องว่างให้เติบโตอีกเยอะ แต่การจะแย้งพื้นที่มาครองก็ไม่ใช่งานง่าย ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ ฝีมือ คอนเนคชั่น มาสู้กันเต็มที่

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดที่น่าสนใจคือการที่บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ประกาศเข้าซื้อหุ้นบริษัท กรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง จำกัด หรือ “เคทีบี ลีสซิ่ง” ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในเครือธนาคารกรุงไทย (KTB) จำนวน 75.05 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 75.05% โดยกำหนดช่วงราคาไว้ที่ 7.92-13.15 บาทต่อหุ้น หรือ คิดเป็นมูลค่ากว่า 594-987 ล้านบาท ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทในวันที่ 8 เม.ย. นี้

โดยบริษัทหวังว่าดีลนี้จะช่วยเติมเต็มและสร้างโอกาสให้ KTC สามารถแตกไลน์ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันได้กว้างขวาง ครอบคลุม และครบวงจรยิ่งขึ้น หลังบริษัทได้มีการเบนเข็มเข้ามาทำธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ประเดิมด้วยสินเชื่อทะเบียนรถ “เคทีซี พี่เบิ้ม” นอกจากนี้ ยังสนใจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและเพดานดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลง

ทั้งนี้ บริการหลักๆ ของ “เคทีบี ลีสซิ่ง” จะเป็นสินเชื่อเช่าเครื่องจักร, เครื่องมือการก่อสร้าง, เครื่องใช้สำนักงาน, อุปกรณ์ทางการแพทย์, อุปกรณ์การขนส่งและการคมนาคม, เครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร โดยปัจจุบันมีสาขากระจายอยู่ทั้งหมด 11 สาขา ทั่วประเทศ ทั้งกทม., สุราษฎร์ธานี, พิษณุโลก, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, นครราชสีมา, ภูเก็ต, หาดใหญ่, เชียงใหม่, พัทยา และราชบุรี

ด้านบล.เคทีบีเอสที ระบุว่า ดีลที่เกิดขึ้นถือเป็นปัจจัยบวกต่อ KTC ที่จะสามารถขยายประเภทสินเชื่อใหม่ๆ ทั้งการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ ซึ่งจะสามารถนำมาต่อยอดกับสินเชื่อพี่เบิ้มได้ ผ่านการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถแบบโอนเล่มทะเบียน ทั้งนี้ บริษัทไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาใช้ซื้อหุ้น เนื่องจากมีกระแสเงินสดเพียงพอโดย ณ สิ้นปี 2563 มีเงินสดอยู่ 1.9 พันล้านบาท

โดยคาดว่ากระบวนการเข้าซื้อหุ้นจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน พ.ค. นี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัพไซด์ต่อประมาณปี 2564 และ 2565 อีก 1-2% ต่อปี ภายใต้สมมติฐานการเติบโตของสินเชื่อปีละ 10%

แต่มองเป็นกลางต่อ KTB เพราะธุรกิจลีสซิ่งไม่ใช่ธุรกิจหลักของธนาคารอยู่แล้ว ส่วนราคาขายที่ 7.92-13.15 บาทต่อหุ้น คิดเป็น PBV เพียง 0.63-1.04 เท่า ถือว่าถูกเมื่อเทียบกับตัวอื่นๆ ทั้งธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP และ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ที่ราคาปัจจุบันซื้อขาย PBV 1.14 เท่า และ 1.99 เท่า ตามลำดับ

ทั้งนี้สินเชื่อของ “เคทีบี ลีสซิ่ง” ปี 2563 อยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.1% ของสินเชื่อรวมของธนาคารเท่านั้น และมีกำไรสุทธิปี 2563 เพียง 176 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 1% ของกำไรสุทธิธนาคาร  ดีลนี้จึงไม่มีนัยสำคัญต่อประมาณการกำไรสุทธิของฝ่ายวิจัย