รณรงค์ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมค้าปลีก

รณรงค์ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมค้าปลีก

การรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานและผู้บริโภคเป็นอีกแนวทางสำคัญของการค้าปลีกสีเขียว

การรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานและผู้บริโภคเป็นอีกแนวทางสำคัญของการค้าปลีกสีเขียว ซึ่งไฮเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ดำเนินการผ่านการตกแต่งและจัดร้านค้าโดยเน้นภาพลักษณ์ในการใส่ใจและรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การทาสีผนังด้วยโทนสีเขียวและเอิร์ธโทน การวาดภาพต้นไม้หรือดอกไม้บนผนังของร้านค้า การติดประกาศเพื่อเผยแพร่แนวคิดและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น 'reduce-reuse-recycle' การประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้านำถุงผ้าของตนเองมาใส่สินค้าที่ซื้อจากร้านค้า หรือการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ เป็นต้น

เทสโก้ โลตัส เปลี่ยนสีอาคารและป้ายชื่อห้างจากเดิมที่ใช้สีน้ำเงิน-แดงมาเป็นสีเขียว-ขาว รวมถึงเครื่องแบบพนักงาน บรรยากาศภายในห้าง และที่จับรถเข็น รวมไปถึงการจัดทำช่องทางการชำระเงินพิเศษ 'กรีนเลน' สำหรับลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติก การจัดเตรียมพื้นที่สำหรับจอดรถจักรยาน เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าสามารถเดินทางโดยไม่ใช้ยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิง ซึ่งล้วนเป็นการแสดงถึงภาพลักษณ์ของบริษัทต่อสาธารณะในด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการบริโภคสีเขียว รวมทั้งยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะถุงพลาสติกตามนโยบาย Zero Waste และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามนโยบาย Zero Carbon อีกด้วย

การเปิดตัวแอพพลิเคชั่นบนมือถือ Mobile Scan & Shop สำหรับการช้อปปิ้งแบบไร้การสัมผัส หรือ contactless shopping ที่เทสโก้ โลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยลูกค้าสามารถสแกนสินค้าที่หยิบลงตะกร้าหรือรถเข็นได้เองบนโทรศัพท์มือถือในขณะที่ช้อปปิ้ง โดยแอพพลิเคชั่นจะคำนวณราคาสินค้าโดยอัตโนมัติและเชื่อมต่อการชำระเงินผ่าน QR Code ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความสะดวกสบายและลดระยะเวลาในการช้อปปิ้ง ยังลดการสัมผัสจากการใช้บัตรเครดิตหรือเงินสด ทำให้สามารถลดปริมาณการใช้กระดาษ ตลอดจนลดโอกาสการแพร่เชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นสาเหตุของการสร้างขยะอีกมหาศาลที่เกิดจากกระบวนการทางสาธารณสุข 

สำหรับการแสดงบทบาทของไฮเปอร์มาร์เก็ตต่อการบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมในมิติอื่น ๆ ได้แก่ การที่ Sainsbury จัดแคมเปญร่วมกับ Woodland Trust ปลูกต้นไม้เกือบสี่ล้านต้น ตั้งแต่ปี 2547 และคาดว่าจะปลูกเพิ่มอีก 1.5 ล้านต้นภายในปี 2568 หรือ การร่วมโครงการ '9 ล้านกล้า 80 พรรษามหามงคล' ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2550 ของเทสโก้ โลตัส เพื่อถวายเป็นราชสดุดีในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา โดยการปลูกป่าให้ครบ 9 ล้านต้น โดยผืนป่าเหล่านี้จะเป็นแหล่งต้นน้ำให้ชาวบ้านได้ทำกิน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่า และยังช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงประมาณ 225,000 ตันต่อปี หรือประมาณ 9 ล้านต้น ภายในช่วงระยะเวลา 40 ปี ตลอดจนการร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหอการค้าไทย จัดงานประชุม 2019 Thailand’s Annual Conference on Food Waste เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 

ในเดือนมิถุนายน 2563 Amazon ได้เปิดตัว Climate Pledge Fund ซึ่งเป็นโครงการลงทุนมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการที่ยั่งยืนและลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะช่วยให้ Amazon สามารถบรรลุเป้าหมายของ The Climate Pledge ได้ โดยกองทุนดังกล่าวจะลงทุนในบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ การขนส่งและโลจิสติกส์ การผลิตพลังงาน การจัดเก็บและการใช้ประโยชน์ การผลิตและวัสดุ เศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนอาหารและการเกษตร โดยที่ผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นของบริษัทเหล่านี้จะต้องส่งเสริมในการเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ 

The Climate Pledge Fund จะลงทุนในบริษัทที่มุ่งมั่นในการผลิตสินค้าและบริการที่สามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และเป็นบริษัทที่ผลักดันพลังของผู้ประกอบการเพื่อช่วยให้ Amazon และบริษัทอื่น ๆ สามารถบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิภายในปี พ.ศ. 2583 โดยการลงทุนเหล่านี้จะขยายการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้องค์กรเหล่านี้เร่งความเร็วในการลดการปล่อยมลพิษจากการดำเนินงาน