ก.แรงงาน เร่งทำกรอบแนวทางแก้ปัญหาแรงงานเด็ก

ก.แรงงาน เร่งทำกรอบแนวทางแก้ปัญหาแรงงานเด็ก

กสร.ชวนผู้ผลิตสินค้าประเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ร่วมระดมสมองจัดทำกรอบแนวทางของสถานประกอบกิจการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยต่อสหรัฐอเมริกา หวังขอถอดถอนรายการสินค้า ออกจากบัญชี Blacklist

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลการสำรวจเด็กทำงาน ในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2561 พบว่า มีเด็กอายุ 5-17 ปี ทั้งหมด 10.47 ล้านคน เป็นแรงงานเด็ก จำนวน 1.77 แสนคน โดยมีการทำงานที่เข้าข่ายงานอันตราย จำนวน 1.3 แสนคน รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นในการต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก หรือแรงงานบังคับ

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่สินค้าไทยถูกขึ้นบัญชีจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 5 รายการ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและกุ้ง (แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ) อ้อยและสื่อลามก (แรงงานเด็ก) และปลา (แรงงานบังคับ) จึงมีนโยบายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งดำเนินการ หามาตรการถอดถอนรายการสินค้าดังกล่าวออกจากการถูกขึ้นบัญชี

มีเป้าหมายที่จะถอดรายการสินค้า ออกจากบัญชีอย่างน้อย 1 รายการ ให้ได้ภายในปี 2565 เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันสินค้าที่ส่ง ผลกระทบต่อธุรกิจการส่งออกอันเป็นแหล่งรายได้ของประเทศ โดยให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาแรงงานอย่างเป็นระบบ และยั่งยืน รวมทั้งให้ได้รับ การยอมรับในประชาคมโลก

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการดำเนินงานของกรมที่จะแสดงให้สหรัฐอเมริกาประจักษ์ถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ต้องเกิดจากความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมที่พร้อมจะดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

กรมจึงได้เชิญผู้แทนภาคอุตสาหกรรม ในสินค้ากุ้ง ปลา อ้อย เครื่องนุ่งห่ม และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้มาร่วมกันระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของสถานประกอบกิจการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับในสินค้าดังกล่าว และสรุปให้เป็นกรอบแนวทางดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพิจารณาในการถอดรายการสินค้าออกจากการถูกขึ้นบัญชี ที่ประเทศไทยได้พยายามดำเนินการอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ให้ปรากฏผลเห็นอย่างก้าวหน้า ชัดเจน และตรวจสอบได้ อันจะนำไปสู่การ รักษาตลาด และรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทยได้ในที่สุด