SCG เปิด 2 กลยุทธ์ธุรกิจปี 2564 มั่นใจโลกพ้นจุดต่ำสุดวิกฤติ'โควิด'

SCG เปิด 2 กลยุทธ์ธุรกิจปี 2564 มั่นใจโลกพ้นจุดต่ำสุดวิกฤติ'โควิด'

“เอสซีจี” เปิด 2 กลยุทธ์ธุรกิจปี 2564 ปักธงเศรษฐกิจหมุนเวียน เร่งแผน DSG “ดิจิทัล”ดันธุรกิจนิวนอร์มอล

การดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG และแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนกำลังอยู่ในเทรนด์การลงทุน ซึ่งทำให้เอกชนไทยหลายรายให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น รวมถึง “เอสซีจี” ที่นำมาเป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจปี 2564

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจเอสซีจีในปี 2564 จะเน้นดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องการพัฒนายั่งยืนควบคู่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ตลอดกระบวนการทำงาน โดยพร้อมปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ด้วยการให้ความสำคัญกับการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ 

รวมทั้งการลงมือปฏิบัติให้รวดเร็วทันสถานการณ์ ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในภาวะวกฤติโควิด-19 ธุรกิจที่อยู่รอดได้ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเอสซีจีเดินทางแนวนี้และเห็นว่าทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสหากปรับตัวได้เร็วจะยืนอยู่ได้ระยะยาว

นอกจากนี้ จะมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและสร้างการเติบโตระยะยาว ด้วยกลยุทธ์ 2 ด้าน คือ 

1.ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environment , Social , Governance) โดยด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และนำของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด 

รวมทั้งตั้งเป้าเดินหน้าองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี 2050 และมุ่งต่อยอดนวัตกรรมสู่ธุรกิจ Solar Energy เพื่อตอบโจทย์การใช้พลังงานทางเลือกในด้านสังคมจะเน้นการผลิตสินค้าที่มีความปลอดภัยกับผู้บริโภคให้ลูกค้ามีความมั่นใจในสินค้าและบริการ ส่วนด้านธรรมาภิบาลจะให้ความสำคัญด้านความโปร่งใสขององค์กร

“ช่วงโควิด-19 และหลังจากนี้ โลกจะให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งเอสซีจีมุ่งแนวทางนี้มาตลอด และเป็นยุทธศาสตร์ที่แชร์ได้ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน”

2.ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจสู่ New Normal Digitalization โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาช่องทางออนไลน์ เพื่อเสนอสินค้าและบริการพร้อมโซลูชันครบวงจร ตอบสนองความต้องการและวิถีชีวิตของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมมูลค่าสูง (High Value Added Products & Services) ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงมองหาโอกาสในตลาดใหม่ที่เริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 และขยายธุรกิจเพิ่มเติมในกลุ่มสินค้าและบริการ เช่น การต่อยอดธุรกิจสู่ Health & Well-Being Business

“ขณะนี้โลกได้ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด-19 แล้ว แต่ในจุดต่ำสุดจะอยู่นานในระยะหนึ่ง ซึ่งโอกาสที่เกิดขึ้น คือ การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ด้านโลจิสติกส์ในกลุ่มบริการเดลิเวอรี่ และในด้านสุขภาพ ที่ผู้บริโภคจะเน้นในเรื่องความสะอาด การบริการโดยไม่ต้องสัมผัส และเอสซีจีต้องปรับตัวในแนวทางนี้”

161296029715

แผนการลงทุนปี 2564 จะใช้งบลงทุน 60,000-75,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนใช้ 58,000 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ 60,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างจะเน้นปรับปรุงสินค้าตอบโจทย์ลูกค้าด้านการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและอาคาร เพราะโควิดทำให้โครงการก่อสร้างภาคเอกชนลดลง ผู้บริโภคหันมาปรับปรุงสิ่งก่อสร้างและปรับปรุงที่พักอาศัยให้สอดรับแนวโน้มการทำงานที่บ้าน รวมทั้งปรับปรุงร้านเอสซีจีให้ตอบโจทย์ลูกค้าดีขึ้น และทำให้ต้นทุนลูกค้าถูกลง

ธุรกิจปิโตรเคมี จะเน้นการพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่เพื่อตอบโจทย์ยานยนต์สมัยใหม่และรถยนต์ไฟฟ้า การลงทุนตามแนวทางเศรษฐกิจหมุ่นเวียนในเทคโนโลยีการนำพลาสติกเก่ามารีไซเคิลใช้ไหม่ ส่วนการลงทุนโครงการปิโตรเคมีครบวงจรในเวียดนามยังคงเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ขณะนี้มีความคืบหน้า 70% และจะเปิดดำเนินการภายใน 2 ปี นับจากนี้ ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ จะลงทุนนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดรับความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น

สำหรับในปัจจุบันสินค้านวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงของเอสซีจี มีมูลค่าเป็นสัดส่วน 30% ของยอดขายทั้งหมด แต่สินค้ากลุ่มนี้บางชนิดผ่านไป 1-2 ปี กลายเป็นสินค้าพื้นฐาน ดังนั้นต้องลงทุนพัฒนานวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าให้ได้มากที่สุด ส่วนการลงทุนในธุรกิจด้านการแพทย์จะไปอยู่ในซัพพลายเชน เช่น แพ็คเกจจิงอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ แต่ไม่ลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์โดยตรง เพราะไม่ใช่ความถนัดของเอสซีจี

“งบลงทุนทั้งหมด 60% อยู่ในโครงการปิโตรเคมีครบวงจรเวียดนาม รองลงมา 20-30% ลงทุนสร้างนวัตกรรมใหม่ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ และอีก 10-15% จะลงทุนเทคโนโลยีเศรษฐกิจหมุนเวียน”

การลงทุนในต่างประเทศยังคงอยู่ในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะในเวียดนามที่รับมือกับโควิด-19 ได้ดี ทำให้จีดีพีเติบโตระดับสูง ทำให้ยังมีโอกาสทางธุรกิจทั้ง 3 กลุ่ม รองลงมาเป็นการลงทุนในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่มีตลาดใหญ่ แต่ทั้ง 2 ประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรง ต้องใช้เวลาฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ส่วนผลกระทบจากการเมืองในเมียนมาต่อเอสซีจี ขณะนี้ดูเรื่องความปลอดภัยการทำงานของพนักงานในเมียนมา 2,000  คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา ส่วนเรื่องอื่นต้องรอดูความชัดเจนของนโยบายทางการเมียนมา

นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญในเรื่องการลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัล 3 ด้าน ได้แก่

1.การนำดิจิทัลมาปรับปรุงการให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม

2.การนำดิจิทัลมาปรับปรุงด้านซัพพลายเชน เพื่อให้มีต้นทุนต่ำที่สุด มีการส่งมอบสินค้าตรงเวลา

3.การนำดิจิทัล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในสายการผลิต คลังสินค้าและการขนส่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำ

สำหรับมุมมองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ภาคธุรกิจไทยที่ยังพอไปได้ในช่วงนี้ก็ คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ส่วนการบริโภคภายในประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การบริโภคลดลง

ส่วนระยะยาวขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการกระขายวัคซีนโควิด-19 ว่าทำได้ดีแค่ไหน หากทำได้ดีการบริโภคภายในประเทศก็จะฟื้นตัวเร็ว ส่วนการท่องเที่ยวและบริการยังได้รับผลกระทบอยู่มาก ต้อวอาศัยการท่องเที่ยวภายในประเทศเข้ามาประคองตัว จนกว่าวัคซีนจะแพร่กระจายไปทั่วโลกจนการท่องเที่ยวกลับมาได้ตามปกติ