ป.ป.ช.ชี้"ปารีณา"ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีหากศาลประทับรับฟ้อง

ป.ป.ช.ชี้"ปารีณา"ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีหากศาลประทับรับฟ้อง

ป.ป.ช.ชี้"ปารีณา"ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีหากศาลประทับรับฟ้อง ฟันฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง-ปมบุกรุกป่า 711 ไร่ เสียหาย 36 ล้าน เผยกำลังตรวจสอบ ส.ส.-ผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ครอบครอง ภ.บ.ท.5 อีกสิบกว่าราย

นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า ป.ป.ช.มีมติว่ากรณีที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็น ส.ส.กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม

ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และกรณีเป็น ส.ส.กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง

นายนิวัติไชย กล่าวอีกว่า โดยจากการไต่สวนปรากฏว่า น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ได้ร่วมกับนายทวี ไกรคุปต์ บิดา เข้ายึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ พื้นที่จำนวน 711 – 2 – 93 ไร่ โดยมีพฤติการณ์ ตั้งแค่ปี 2546 มีการขอใช้ไฟฟ้าต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจอมบึง และชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินต่อ อบต.รางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เพื่อประกอบกิจการปศุสัตว์ ในปี พ.ศ. 2549 – พ.ศ. 2556 มีการชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ทั้ง 29 แปลง ต่อ อบต.รางบัว

ซึ่งมีการกระจายการถือครองที่ดินดังกล่าวโดยอาศัยชื่อบุคคลอื่นซึ่งเป้นแรงงานที่อยู่ฟาร์มมาถือครองที่ดินในเอกสาร ภ.บ.ท. 5 จากนั้นในปี พ.ศ. 2555 ได้มีการโอนกลับมาเป็นชื่อของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ทั้งหมด และในปี พ.ศ. 2557 อบต.รางบัวได้ยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ดังกล่าว แต่ น.ส.ปารีณา ก็ยังคงยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. แต่อย่างใด

กระทั่งในปี พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2562 น.ส.ปารีณา ได้มีการขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อ อบต.รางบัว และใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม “เขาสนฟาร์ม” และ “เขาสนฟาร์ม 2” บนที่ดินดังกล่าวต่อกรมปศุสัตว์ และในปี พ.ศ. 2561 ได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการดังกล่าว

กระทั่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 น.ส.ปารีณา ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ส.ส. โดยยังคงยึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐดังกล่าวโดยอ้างเอกสารแบบแสดงรายการที่ดินฯ (ภ.บ.ท. 5) ทั้ง 29 แปลงที่ถูกยกเลิกไปแล้ว เป็นพื้นที่ 711 – 2 – 93 ไร่ โดยคำนวณค่าเสียหายเป็นตัวเงิน จำนวน 36,224,791 บาท

ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า การที่ น.ส.ปารีณา ในฐานะผู้แทนของประชาชน ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยปราศจากความขัดกันแห่งผลประโยชน์ และต้องประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องเป็นแบบอย่างที่ดี อยู่ในกรอบของจริยธรรมในการดำรงตน เคารพ ยึดถือ และปฏิบัติ ตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งบัญญัติออกมาเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือประโยชน์ของรัฐ มากกว่าการคำนึงถึงประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องนั้น

แต่กลับไม่ยึดถือระเบียบ หลักเกณฑ์ กฎหมาย และไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ หรือเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินที่มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความเดือดร้อน และลด ความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจและสังคม จึงมีมติว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาโดยตรงเพื่อวินิจฉัยต่อไป

คดีดังกล่าวจะเป็นมาตรฐานใหม่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งกรณีของ น.ส.ปารีณา ถือเป็นสำนวนแรก ของ ส.ส. ในการกระทำผิดฝ่าฝืนจริยธรรมร้านแรง ส่วน น.ส.ปารีณาจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. หรือไม่นั้น ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2561 ระบุว่า เมื่อ ป.ป.ช. ส่งศาลฎีกาไปแล้ว ศาลฎีกาประทับรับฟ้อง ก็จะเป็นเหตุให้ ส.ส. หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที เว้นแต่ศาลจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นอาจจะไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ก็ได้

ส่วนการดำเนินการของ ป.ป.ช.ในการส่งเรื่องไปยังศาลฎีกานั้นจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ให้เกินกรอบภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตามขณะนี้มีการยื่นคำร้องในแง่จริยธรรม กรณี ส.สหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น มีการยึดถือครอบครองที่ดินภ.บ.ท. 5 แต่กรณีนี้ก็ต้องไปตรวจสอบว่ายึดถือครอบครองตั้งแต่เมือ่ไหร่ ปัจจุบันยังมีการยึดถือครอบครองหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบ โดยมีจำนวนหลายสิบคน