'Apple' มีโอกาสสูงเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ ตลาดคริปโตเคอเรนซี

'Apple' มีโอกาสสูงเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ ตลาดคริปโตเคอเรนซี

“Apple” มีโอกาสสูงเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ตลาดคริปโตเคอเรนซี หลัง “Tesla” ประกาศซื้อเงิน Bitcoin 1,500 ล้านดอลลาร์ คาดหากเปิดบริการคริปโต ดันราคาหุ้น Apple ทะยาน 25%

อาร์บีซี แคปิตอล มาร์เก็ตส์ บริษัทโบรกเกอร์รายใหญ่ในแคนาดา รายงานเมื่อวันจันทร์ (8 ก.พ.) ว่า บริษัทแอ๊ปเปิ้ล อิงค์ มีแนวโน้มที่จะนำเสนอกลไกการซื้อและขายสกุลเงินคริปโต ซึ่งจะเปิดทางให้แอ๊ปเปิ้ลเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดเงินคริปโตเคอเรนซี

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งซึ่งรวมถึง “เทสลา อิงค์” ผู้ผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าของสหรัฐ หันมาใช้สกุลเงินบิทคอยน์ สกุลเงินดิจิทัลยอดนิยมในการทำธุรกรรมทางการเงิน

บรรดานักวิเคราะห์ของอาร์บีซี แคปิตอล มาร์เก็ตส์ ระบุว่า จากการประเมินอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ระดับโลกและระบบนิเวศด้านความปลอดภัยพบว่า แอ๊ปเปิ้ลมีแนวโน้มที่จะจัดการกับปัญหาที่บริษัทหลายแห่งกำลังเผชิญเกี่ยวกับการซื้อสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินคริปโตให้สอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบที่ว่าด้วยการนำเสนอระบบปิดเพื่อป้องกันการทุจริต รวมทั้งการปรับปรุงความปลอดภัยด้านสินทรัพย์

นายมิตช์ สตีฟส์ นักวิเคราะห์ของอาร์บีซี ระบุในรายงานว่า ราคาหุ้นของแอ๊ปเปิ้ลจะดีดตัวขึ้นอีก 25% หากผู้ผลิตไอโฟนเข้าร่วมในตลาดเงินดิจิทัล

“คาดว่า เป้าหมายราคาหุ้นของแอ๊ปเปิ้ลจะพุ่งเป็น 171 ดอลลาร์ จาก 154 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 25% จากราคาปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (5 ก.พ.)”

ขณะเดียวกัน การเข้าสู่ตลาดคริปโตยังถือเป็น “โอกาสในระยะสั้น” สำหรับแอพพลิเคชั่น “วอลเล็ต” (Wallet) ของแอ๊ปเปิ้ล หลังจากหลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายขอบเขตการให้บริการในแอพนี้อย่างต่อเนื่อง และเปิดตัวบริการทางการเงินใหม่ ๆ เช่น “แอ๊ปเปิ้ล การ์ด” ในปี 2562

บรรดานักวิเคราะห์ของอาร์บีซี มองว่า แอพวอลเล็ตมีส่วนสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อธุรกิจบริการของแอ๊ปเปิ้ล แต่การรุกสู่เซ็กเตอร์เงินดิจิทัลอาจให้ผลประโยชน์มากกว่าอย่างมหาศาล

“การเปิดบริการซื้อ-ขายคริปโตในแอพวอลเล็ต อาจจะทำให้แอ๊ปเปิ้ลกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้และกระตุ้นรายได้จากธุรกิจบริการด้วย” อาร์บีซีระบุ

อาร์บีซี ระบุด้วยว่า หากแอ๊ปเปิ้ลมีความตั้งใจที่จะรุกตลาดคริปโตเคอเรนซี อาจทำให้สหรัฐกลายเป็นผู้นำของโลกในด้านสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัล และอาจเป็นการลดโอกาสที่รัฐบาลสหรัฐจะสั่งปิดอุตสาหกรรมประเภทนี้

“หากสหรัฐครอบครองสินทรัพย์สกุลเงินคริปโตส่วนใหญ่ของโลก เช่น บิทคอยน์ หรือสกุลเงินคริปโตอื่น ๆ ก็ไม่มีเหตุผลที่สหรัฐจะแบนสกุลเงินคริปโต”

บทวิเคราะห์ของอาร์บีซี มีขึ้นในช่วงเวลาที่เงินดิจิทัลกำลังได้รับความสนใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง รวมถึงบริษัทเทสลาของนายอีลอน มัสก์ ที่ประกาศซื้อบิทคอยน์จำนวน 1,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.5 หมื่นล้านบาท) และจะเริ่มรับบิทคอยน์จากลูกค้าสำหรับการซื้อรถยนต์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของบริษัท

“ทางบริษัทได้ซื้อบิทคอยน์เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการกระจายการลงทุน และเพื่อให้เงินสดของบริษัทสร้างผลตอบแทนสูงสุด” เทสลาแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐเมื่อวันจันทร์

เหล่านักวิเคราะห์กล่าวว่า การดีดตัวของบิทคอยน์รอบนี้ต่างจากในปี 2560 ที่ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย แต่ปัจจัยหนุนรอบนี้ได้แก่ 1) ได้รับแรงสนับสนุนจากนักลงทุนรายใหญ่ในตลาด เช่น พอล ทิวดอร์ โจนส์ และสแตนลีย์ ดรักเคนมิลเลอร์

2) กลุ่มบริษัทฟินเทคตอบรับคึกคัก เพย์พาล ยักษ์ใหญ่ฟินเทค ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถทำการซื้อขายบิทคอยน์ และสกุลเงินคริปโตอื่นๆ

3) เป็นสินทรัพย์ทางเลือกในช่วงที่สกุลเงินหลายประเทศอ่อนค่าลงเพราะธนาคารกลางออกมาตรการอัดฉีดกระตุ้นโควิด 4) นักลงทุนมองว่าบิทคอยน์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเหมือนทองคำ

5) ปรากฏการณ์ Bitcoin halving บิทคอยน์ในระบบจะต้องมีจำนวนจำกัดและหาได้ยากเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ ระบบนี้จึงกำหนดให้มีเพียง 21 ล้านเหรียญเท่านั้น โดยจะผลิต (เปรียบได้กับการพิมพ์เงิน) ออกมาทุกๆ 10 นาที และอัตราการผลิตจะลดลงครึ่งหนึ่ง (Halving) ทุกๆ 4 ปี