‘แอ็กนอส’ คู่คิดเรื่องสุขภาพ วิเคราะห์โรคด้วย ‘เอไอ’

‘แอ็กนอส’ คู่คิดเรื่องสุขภาพ วิเคราะห์โรคด้วย ‘เอไอ’

เคยไหม? อยากรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร ไปโรงพยาบาลก็รอคิวเป็นเวลานาน เพราะความแออัดที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลของไทย กว่า 60% เป็นการพบแพทย์โดยไม่จำเป็น ดังนั้นจะดีกว่าไหมหากมีอุปกรณ์เครื่องมือที่สามารถตรวจอาการเบื้องต้นได้ที่บ้าน โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล..

จึงเป็นที่มาของ "แอ็กนอส (Agnos)" แอพพลิเคชั่นที่วิเคราะห์โรคด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การันตีฝีไม้ลายมือจากรางวัลชนะเลิศโครงการ Open Innovation Challenges for ‘Greater Accessibility’ จาก Roche อีกทั้งโครงการ Startup Thailand League ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวง อว. และอื่นๆ อีกมากมาย

161288210974

ปาลิตา วิษณุโยธิน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท แอ็กนอสเฮลท์ จำกัด กล่าวว่า แอ็กนอส เป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและความเจ็บป่วยมากขึ้น โดยใช้ระบบเอไอวิเคราะห์อาการและความเสี่ยงส่วนบุคคล ทำให้ผู้ใช้งานทราบว่าอาการดังกล่าวอาจเป็นผลจากโรคใด และแจ้งเตือนในกรณีที่ควรพบแพทย์ แต่หากอาการไม่รุนแรงระบบจะให้ข้อมูลการดูแลตนเอง รวมทั้งแนะนำแหล่งจำหน่ายยาที่มีมาตรฐานโดยเภสัชกร จึงช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา ขณะเดียวก็เป็นการลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของบุคลากรการแพทย์และความแออัดในสถานพยาบาล​​

แอพฯ นี้พัฒนาโดยทีมแพทย์และวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกับทำการทดสอบร่วมกับสถานพยาบาล จึงมีผลการวิเคราะห์ที่แม่นยำ มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากแพทย์ที่เข้าใจง่ายปฏิบัติตามได้ทันที และให้คำแนะนำผู้ใช้งานว่าควรเข้าพบแพทย์เพิ่มเติมหรือไม่ หรือแม้กระทั่งการแจ้งเตือนฉุกเฉินที่ช่วยให้ทราบถึงความอันตรายของอาการ เพื่อเข้ารับการตรวจจากแพทย์ได้ทันเวลา 

161288218746

“จุดเริ่มต้นจากปมในใจว่าทำไมแอพฯ ที่คนไทยใช้กันทุกวัน เช่น Facebook, Netflix ไม่มีอะไรที่คนไทยทำ จนต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติทั้งๆ ที่คนไทยก็มีศักยภาพ จึงเริ่มมองถึงสิ่งที่สนใจและปัญหารอบตัว นั่นคือปัญหาในระบบสาธารณสุข อีกทั้งสมาชิกในครอบครัวเป็นหมอด้วย ซึ่งขาดความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เพราะคนไข้บางเคสพบแพทย์โดยไม่จำเป็น เป็นโรคที่สามารถซื้อยาที่ร้านขายยาได้เอง ตรงจุดนี้หากคนไข้มีความรู้พื้นฐานสุขภาพเพียงพอสามารถดูแลรักษาตนเอง โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลก็จะช่วยลดการทำงานที่ไม่จำเป็นลง ประจวบเหมาะกับมีพื้นฐานความรู้ด้านการพัฒนาเอไอ และมองเห็นว่าต่างประเทศมีการใช้เอไอช่วยวินิจฉัยโรค จึงเกิดเป็นไอเดียพัฒนาเทคโนโลยีจากนั้นก็ชักชวนแพทย์และเพื่อนที่สนใจแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขมาร่วมทีม”

แอ็กนอสเป็นโซลูชั่นที่ช่วยวิเคราะห์โรค คัดกรองและให้คำแนะนำผู้ป่วยผ่าน 3 ขั้นตอน คือ 1.ผู้ป่วยกรอกอาการเบื้องต้น เช่น ปวดท้อง มีไข้ 2. แอพพลิเคชั่นจะซักประวัติอาการเพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์อาการป่วย ซึ่งจะรวมอาการที่ไม่ได้กรอกมาในขั้นต้น เพื่อวิเคราะห์อาการของโรคที่มีความน่าจะเป็นสูงสุด ทั้งนี้ เพื่อความแม่นยำการซักประวัติจะใช้เวลาประมาณ 3-5 นาทีต่อเคส 3. เมื่อสิ้นสุดการซักประวัติจะให้ผลการวิเคราะห์ความน่าจะเป็นในแต่ละโรค เช่น อาหารเป็นพิษ 75%, นิ่วในถุงน้ำดี 15%, ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน 8% พร้อมอาการเฉพาะ สาเหตุการเกิดโรค รวมไปถึงวิธีดูแลตนเองเบื้องต้น ปัจจุบันโปรแกรมแอ็กนอสสามารถวิเคราะห์โรคได้มากกว่า 150 โรค ส่วนใหญ่เป็นโรคพื้นฐานที่พบในคนไทย

161288220193

ขยายโอกาสเข้าถึงสาธารณสุข

ปาลิตา กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มผู้ใช้งานเป้าหมาย คือ กลุ่มวัยทำงาน อายุระหว่าง 30-50 ปี ที่ใช้ชีวิตเร่งรีบไม่มีเวลาไปพบแพทย์ และต้องดูแลสุขภาพครอบครัว รวมไปถึงผู้สูงอายุ โดยจะเน้นที่กลุ่มคนที่มักจะค้นหาข้อมูลสุขภาพทางอินเทอร์เน็ต แต่ก็ไม่สามารถตอบปัญหาอาการที่มีได้ เนื่องจากข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตนั้นกว้าง ซึ่งในหลายๆ โรคนั้น มีอาการที่คล้ายคลึงกัน และในแต่ละโรคนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นแตกต่างกันไป ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงส่วนบุคคล

“ดังนั้น แอ็กนอสจึงเข้ามาเป็นเพื่อนคู่คิดด้านสุขภาพ คอยให้คำแนะนำเบื้องต้นตลอด 24 ชั่วโมง โดยในช่วงนี้ให้บริการปรึกษากับแพทย์ฟรีหลังใช้บริการแอพฯอีกด้วย ขณะเดียวกันล่าสุดได้มีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ตรวจเช็คความเสี่ยงโควิดที่จะบอกถึงระดับความใกล้เคียงของอาการ กับโรคโควิด-19 และระดับความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ ทำให้ผู้ใช้งานได้ผลวิเคราะห์ที่แม่นยำกว่าที่เคย”

ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 2 พันดาวน์โหลด หลังจากเปิดตัวเพียง 1 เดือน สามารถใช้งานได้บนแอนดรอยด์และไอโอเอส ทุกพื้นที่ประเทศไทย ส่วนการเชื่อมต่อร้านขายยานั้นยังครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ในอนาคตจะมีการขยายโลเคชั่นเพิ่มขึ้น

ในส่วนของการสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคเป้าหมายนั้น พบว่าหลังจากวิกฤติโควิด-19 คนไทยดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมไปถึงใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเช่นกัน การใช้งานแอพพลิเคชั่นจึงทำได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดีได้ปรับวิธีนำเสนอชุดคำถามให้เข้าใจง่ายสำหรับประชาชนทั่วไป

ชงปลดล็อกข้อจำกัด

ปาลิตา บอกว่า ในแง่ของการทำเฮลท์เทคนั้น ข้อดี คือไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เก่งจำนวนมาก ทำให้พื้นฐานความรู้ของแอ็กนอสค่อนข้างแน่น แต่ข้อจำกัดสำหรับสตาร์ทอัพมีอีกมาก ทั้งเรื่องกฎหมายที่ไม่มีข้อกำหนดชัดเจน ทำให้การพัฒนานวัตกรรมเป็นไปได้ช้า หรือการให้โอกาสนวัตกรทดลองใช้ในพื้นที่จริง ยังต้องผ่านกระบวนการระเบียบข้อบังคับมากมาย ส่งผลให้การพัฒนาเกิดอุปสรรค หากมีการผลักดันอีโคซิสเต็มที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม จะเป็นการยกระดับด้านสาธารณสุขของประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง

161288221453

 ข้อแตกต่างระหว่างแอ็กนอส กับแอพฯ อื่น ที่ถือเป็นจุดเด่นของแพลตฟอร์มคือใช้งานฟรี อีกทั้งเมื่อมีการใช้งานเพิ่มขึ้นจะสามารถเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์ของเอไอให้เก่งขึ้น และช่วยได้หลายเคสมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นส่งผลดีแก่ภาครัฐในการเพิ่ม Health Literacy ด้านความสามารถในการดูแลและพึ่งพาตนเองแก่ประชาชน ลดค่าใช้จ่ายระบบสาธารณสุข และเพิ่มคุณภาพการบริการแก่ผู้ป่วย

“ขณะที่แผนธุรกิจจะเป็นแบบ B2B2C โดยผู้ใช้ไม่ต้องชำระเงินในการรับบริการ ดังนั้น รายได้จะมาจากบริการเสริมจากพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ร้านขายยา บริษัทประกันภัย โรงพยาบาลส่วน โรดแมพที่วางไว้ ภายใน 3 ปี วางแผนจะเชื่อมต่อกับสถานพยาบาลและร้านยาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเป็น one-stop service และภายใน 5 ปี ตั้งเป้าที่ขยายการใช้งานไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านการให้บริการสาธารณสุขที่ใกล้เคียงกัน”