‘เด็กชายขอบ’ กับคุณภาพ ‘การศึกษา’ ในวันที่ห้องเรียนยังหลังคารั่ว

‘เด็กชายขอบ’ กับคุณภาพ ‘การศึกษา’ ในวันที่ห้องเรียนยังหลังคารั่ว

ตั้งคำถาม หาคำตอบ กับเรื่องคุณภาพ “การศึกษา” ของ “เด็กชายขอบ” ที่ทุกคนต้องช่วยกันเติมโอกาสให้พวกเขา

แม้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 54 จะระบุไว้ชัดว่า รัฐต้องมีหน้าที่ดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ณ วันนี้ ยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึง “การศึกษา” ที่มีคุณภาพ ทั้งที่เป็น “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร หรือ “เด็กชายขอบ”

เวทีเสวนาออนไลน์ Equity talk # โดย สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เรื่อง การศึกษาไทยต้องก้าวอีกไกลแค่ไหน ให้ไปถึงเด็กชายขอบ พยายามจะหาคำตอบว่า การพัฒนา “การศึกษา” ในพื้นที่ห่างไกลทำได้อย่างไร ความต้องการที่แท้จริงของ “คนชายขอบ” คืออะไร แล้วภาครัฐ เอกชน และพวกเราทุกคนร่วมมือกันเพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกจาก “ระบบการศึกษา” ได้อย่างไร

ฟังเสียงสะท้อนจากผู้ที่มีบทบาทคลุกคลีกับการทำงานภาคสนามและงานพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ได้แก่ ศิริวัฒน์ คันทารส วิทยากรกระบวนการโครงการครูอาสาเกื้อฝันเด็ก และกรรมการมูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่ปรึกษาชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร และ ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี นักสื่อสารมวลชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เจ้าของเพจ ‘โพควา โปรดักชั่น

ผอ.ศุภโชค บรรยายถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารว่า ทุกวันนี้หลายโรงเรียนบนพื้นที่สูงยังประสบปัญหาเรื่องการเดินทางที่ยากลำบาก ปัญหาขาดแคลนน้ำ ต้องอาศัยน้ำประปาภูเขา หากเป็นหน้าแล้งก็แร้นแค้นอย่างแสนสาหัส หากเป็นหน้าฝนแหล่งน้ำก็เต็มไปด้วยโคลนตม ส่งผลต่อสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ยังไม่นับปัญหาจิปาถะ อาทิ บ้านพักครูทรุดโทรม ห้องเรียนหลังคารั่ว ห้องส้วมไม่ถูกหลักสุขาภิบาล ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ล้วนพบได้ทั่วไปในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลและโรงเรียนตามแนวชายแดน ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนที่จัดอยู่ในประเภทนี้กว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ

บางคนถามผมว่า โรงเรียนแบบนี้ยังมีอยู่ในประเทศไทยอีกเหรอ ผมก็อยากบอกว่ามีอยู่จริงๆ เอาเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน โรงเรียนในชนบทห่างไกลก็ไม่อาจทัดเทียมกับโรงเรียนในเมืองใหญ่ๆ ได้เลย

หากถามว่าทุกวันนี้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลยังขาดแคลนอะไรบ้างและอะไรคือความต้องการที่แท้จริง ผอ.ศุภโชค บอกว่า ประการแรกคือโครงสร้างพื้นฐานต้องมาก่อน ทั้งถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา จนถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต เมื่อระบบสาธารณูปโภคทุกอย่างพร้อมแล้ว ขั้นต่อมาคือการบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีองค์ประกอบและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้และการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

ทุกวันนี้โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคเหล่านี้ยังไม่ทั่วถึง บางโรงเรียนครูยังต้องพานักเรียนไปช่วยกันขุดหาแหล่งน้ำ ไปทำประปาภูเขา เพราะน้ำคือต้นทางของทุกอย่าง จึงต้องให้ความสำคัญกับน้ำเป็นอันดับแรก ขณะเดียวกันก็ต้องมีความพร้อมของสถานศึกษา ครูเองก็ต้องการห้องเรียนที่สะอาด ปลอดภัย หลังคาไม่รั่ว มีมุ้งลวดป้องกันไม่ให้เด็กโดนยุงกัด ให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขอนามัยที่ดี

ทั้งหลายเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตที่หลายชุมชนในพื้นที่ห่างไกลยังเอื้อมไม่ถึง มิพักต้องพูดถึงคุณภาพในการเรียนการสอน วัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา ความพร้อมของบุคลากรและอาคารสถานที่ ที่แทบจะเป็นเรื่องไกลเกินฝัน

  • การบริจาค คือหนทางแห่งการดับทุกข์?

เมื่อถามถึงกระแสดราม่าที่สืบเนื่องมาจากคนดังในโลกโซเชียลระดมสิ่งของบริจาคให้แก่เด็กชาวเขา ในมุมมองของคนที่อยู่ในพื้นที่ พวกเขาคิดเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร

ในฐานะเจ้าของเพจ ‘โพควา โปรดักชั่นผู้ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวของพี่น้องชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐเพื่อสะท้อนปัญหาสู่สังคม ทินภัทรมองว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นปัญหาการเข้าไม่ถึงของโอกาสและทรัพยากรของคนชายขอบ ในบางมิติอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องดีที่คนในสังคมหันมาช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ได้เห็นถึงความมีน้ำใจและการร่วมไม้ร่วมมือกัน

ทว่าในอีกมุมหนึ่ง ทินภัทรกระตุกให้คิดต่อว่า พ้นไปจากความอิ่มอกอิ่มใจจากการเรี่ยไรบุญด้วยการบริจาคแล้ว สังคมควรมองไปถึงต้นเหตุด้วยว่า อะไรคือรากของปัญหาที่ทำให้เด็กชายขอบเหล่านี้เข้าไม่ถึง “สิทธิขั้นพื้นฐาน” โดยเฉพาะ “การศึกษา” ที่ยังขาดคุณภาพ ซึ่งสุดท้ายแล้วยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ผู้กำหนดนโยบายต้องแก้ไข

ขณะที่ศิริวัฒน์ ผู้ซึ่งทำงานคลุกคลีในพื้นที่มานาน ในฐานะของนักกระบวนกรด้านการพัฒนาการศึกษา เห็นต่างออกไปว่า จริงอยู่ที่คนเมืองอาจยังมีภาพจำบางอย่างที่เป็นมายาคติ เช่น การบริจาคคือพลังทางสังคมที่จะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสได้ แต่สิ่งที่ทุกคนต้องยอมรับร่วมกันให้ได้ก็คือ ประเทศนี้ยังมีความยากจนอยู่จริง มีความเหลื่อมล้ำจริง มีความไม่เท่าเทียมจริง และต้องการการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน

ก่อนอื่นต้องแยกแยะประเด็นดราม่าให้ได้ก่อนว่า การบริจาคอาจไม่ใช่การช่วยเหลือที่ยั่งยืนก็จริง แต่ในภาวะที่ยากลำบาก สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ถ้าเขาไม่มีข้าวกิน ทำยังไงให้เขามีข้าวกิน เหมือนเวลาไฟไหม้ก็ต้องรีบดับไฟให้ได้ก่อน ก่อนที่จะถามว่าไฟไหม้เพราะอะไร หรือใครเผาป่า

  • การศึกษาสร้างคน ‘คืนถิ่น’ หรือ ‘ทิ้งถิ่น’

ถามต่อไปว่า เมื่อการช่วยเหลือเฉพาะหน้าได้บรรเทาปัญหาไปบ้างแล้ว อะไรคือภารกิจลำดับถัดไปที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาการศึกษาของคนชายขอบได้อย่างยั่งยืนและเท่าเทียม

ประเด็นนี้ ศิริวัฒน์อธิบายว่า “ความเท่าเทียม” ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องได้เท่ากัน อย่างเช่นระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อาจไม่จำเป็นต้องได้เท่ากันกับคนเมือง แต่ต้องตอบสนองต่อการใช้งานได้อย่างเท่าเทียม ทุกโรงเรียนไม่จำเป็นต้องมีตึกเหมือนกัน เช่นเดียวกัน เด็กชนบทก็ไม่จำเป็นต้องใช้บทเรียนเดียวกันกับเด็กในเมืองเสมอไป ซึ่งเด็กในแต่ละพื้นที่ควรได้ความรู้ที่ตอบสนองกับความต้องการในการใช้ชีวิตของเขาเอง

ศิริวัฒน์บอกอีกว่า ตราบใดที่ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ การดำเนินชีวิตยังลำยากแร้นแค้นอยู่ จึงไม่แปลกที่คนชายขอบอยากถีบตัวเองออกจากชุมชนเพื่อเข้าไปอยู่ในเมือง ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้พวกเขามองเห็นคุณค่าในวิถีของชุมชนตนเอง และพร้อมจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง แต่หากพวกเขาตัดสินใจที่เดินหนีไปจากชุมชนก็ไม่ใช่เรื่องผิดและไม่อาจโทษตัวเด็กได้ ในเมื่อระบบ “การศึกษา” หล่อหลอมให้เป็นเช่นนั้น

ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือ การศึกษาเพื่อการทิ้งถิ่น ยิ่งถ้าเด็กเข้าเรียนมหาลัยแล้วยิ่งหาทางกลับบ้านไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่าจะกลับไปทำมาหากินอะไรต่อ ถ้าเรียนเรื่องการตลาดก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ในชุมชนตัวเองอย่างไร บางคนเรียนจบวิศวะก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรที่สาละวิน เพราะวิชาเหล่านี้ไม่เคยเชื่อมโยงกับท้องถิ่น เป็นการศึกษาที่ผลิตคนเพื่อเป็นลูกจ้าง

ในความเห็นของศิริวัฒน์เชื่อว่า ลึกๆ แล้วเด็กทุกคนอยากกลับบ้าน แต่กลไกของระบบ “การศึกษา” กลับทำให้เด็กมองไม่เห็นโอกาสว่าจะนำความรู้ไปพัฒนาชุมชนหรือยกระดับชุมชนของตนเองได้อย่างไร สิ่งเดียวที่พวกเขาพอจะทำได้คือ การออกไปเผชิญกับโลกภายนอกเพื่อเรียนรู้ด้วยประสบการณ์และเชื่อมโยงกับท้องถิ่นของตนเอง

ทางด้านทินภัทร มองไปถึงปัญหาเรื่องการจัดหลักสูตรการศึกษาจากส่วนกลางว่า ชุดความรู้ต่างๆ ที่เด็กได้รับควรเป็นความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ อีกส่วนคือกระทรวงศึกษาธิการต้องมีการจัดการความรู้ในโลกสมัยใหม่ เพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมสมัยใหม่ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ตนเองด้วย

เรียนแล้วต้องนำไปใช้ได้จริง อย่างฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เด็กเรียนแล้วไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้อย่างไร ขณะที่ความรู้อีกชุดหนึ่งหนึ่งคือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตมากกว่า เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน พิธีกรรมดูแลป่า ฉะนั้นทำอย่างไรให้ชุดความรู้ทั้งสองอย่างนี้สมดุลกัน ถ้าจะแก้ปัญหาการศึกษาที่มีคุณภาพและยั่งยืน ต้องมีการจัดการความรู้เหล่านี้อย่างเป็นระบบและสมดุลกับชีวิตจริง

  • คุณภาพโรงเรียนชายขอบ คำตอบอาจอยู่ที่ห้องเรียน

จากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนชายขอบ ไม่ยากที่จะจินตนาการได้ว่าคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเหล่านี้จะเป็นเช่นไร ผอ.ศุภโชค สะท้อนให้ฟังว่า หากเทียบกับโรงเรียนขนาดใหญ่หรือใช้มาตรฐานแบบคนเมือง แน่นอนว่าโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลย่อมไม่อาจเทียบได้ แต่หากวัดกันที่ทักษะการใช้ชีวิต แน่นอนว่าเรื่องบางเรื่องเด็กภูเขาย่อมมีศักยภาพในการเอาชีวิตรอดสูงกว่า ฉะนั้นคำถามจึงอยู่ที่ว่าจะใช้เกณฑ์มาตรฐานใดมาเป็นตัวชี้วัด

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามที่จะออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับคนในพื้นที่ มีทั้งหลักสูตรส่งเสริมอาชีพเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นเจ้าของกิจการ แต่บางโรงเรียนที่ผู้บริหารยังใหม่ ประสบการณ์ต่ำ ทำให้ติดล็อคกับหลักสูตรและเกณฑ์การวัดคุณภาพแบบเดิมๆ

ทุกวันนี้สังคม เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก แต่โรงเรียนยังไม่เปลี่ยน ตำราเรียนก็ไม่เปลี่ยน วิธีการสอนของครูก็ยังเป็นการบอกให้ท่องจำ ฉะนั้นถ้าจะปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จได้ หัวใจสำคัญอยู่ที่ห้องเรียน ถ้าห้องเรียนมีประสิทธิภาพ สร้างเด็กให้มีกระบวนการคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น เด็กก็จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคต เหมือนคำกล่าวที่ว่า ถ้าอยากรู้ว่าบ้านเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร ให้กลับไปดูห้องเรียนในวันนี้ว่ามีคุณภาพอย่างไร

ปัญหาเรื่องการขาดแคลนครู นับเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอ ผอ.ศุภโชค เล่าว่า มีน้อยนักที่ครูจบใหม่จะเต็มใจเข้าบรรจุในโรงเรียนทุรกันดาร และเมื่อครบวาะ 2 ปี 4 ปี ส่วนใหญ่ก็มักย้ายออกไปยังพื้นที่ที่เจริญก้าวหน้ากว่า จนเกิดเป็นปัญหาขาดความต่อเนื่องในการจัดการเรียนการสอนแก่เด็ก

ผอ.ศุภโชค กล่าวว่า การจะพัฒนาคุณภาพ “การศึกษา” ใน “โรงเรียนชายขอบ” จำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะต้องอัพสกิล เพื่อนำไปใช้กับเด็กในพื้นที่ต่างๆ ได้ โดยเฉพาะทักษะในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชุมชน ซึ่งหลักสูตรครุศาสตร์ไม่เคยสอนเรื่องเหล่านี้

ทุกๆ ปีเราจะมีครูจบใหม่ บรรจุใหม่ จำนวนไม่น้อย ถ้ามีระบบอบรมก่อนเริ่มปฏิบัติงานจริงก็น่าจะช่วยได้มาก อย่างครูบางคนพอเจอถนนทุรกันดารแบบนี้ก็แทบจะลาออกเลย ถ้าไม่เข้มแข็งจริงก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้นถ้าส่วนกลางมีกลไกรองรับโดยเฉพาะเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ก็จะช่วยให้ครูมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น

เช่นเดียวกัน ทินภัทร กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า จากสภาพที่เป็นอยู่ทำให้ครูแสดงศักยภาพของตนเองได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะภารกิจทางราชการที่ครูต้องเดินทางไปเข้าร่วมประชุม จนทำให้แย่งเวลาครูไปจากเด็ก ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งว่า จะปลดล็อคโครงสร้างเหล่านี้ได้อย่างไร

อย่างที่ผมเคยเจอคือ ครูที่ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งโรงเรียนมีครู 2 คน แล้วต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปประชุมนอกพื้นที่ ต้องลางาน 3 วัน เพื่อใช้เวลาในการประชุม 1 วัน ทำให้โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลแบบนี้ต่อให้ครูมีศักยภาพมากแค่ไหน ครูก็ไม่มีเวลาที่จะถ่ายทอดความรู้หรือแสดงศักยภาพในการสอนได้

  • กระจายอำนาจ สู่อิสรภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ให้บทเรียนที่สำคัญอย่างหนึ่งว่า การประกาศใช้คำสั่งปิดโรงเรียนพร้อมกันทั่วทั้งประเทศ ไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา ผอ.ศุภโชค เล่าว่า เหตุการณ์นี้ทำให้แวดวงการศึกษาตระหนักได้ว่า การกระจายอำนาจคือทางออก เพื่อให้โรงเรียนมีอำนาจตัดสินใจในการจัด “การศึกษา” ตามบริบทพื้นที่ของตนเอง และยืนยันว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสูงมาก เพราะมีการคัดกรองกันเองอย่างเข้มข้น

พอส่วนกลางมีคำสั่งให้ปิดโรงเรียน บางหมู่บ้านที่ไม่ปรากฏกลุ่มเสี่ยงเลยก็ต้องปิดเหมือนกันหมด ทำให้เด็กต้องสูญเสียโอกาสในการเรียน และด้วยความปรารถนาดีจากส่วนกลางที่ประกาศให้มีการเรียนออนไลน์ หรือเรียนผ่านทีวีดาวเทียม แต่สุดท้ายก็พบว่าไม่เวิร์ค

ผอ.ศุภโชค ระบุว่า การใช้อำนาจจากส่วนกลางด้วยคำสั่งที่ตายตัว ไม่เพียงสะท้อนถึงความล้มเหลวในการรับมือสถานการณ์โควิดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกฎหมายและกฎระเบียบอีกหลายข้อที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโรงเรียน

สอดคล้องกับความเห็นของศิริวัฒน์ที่มองว่า การรวมศูนย์อำนาจในการสั่งการเป็นที่มาของปัญหาแทบทุกเรื่อง ซึ่งโดยข้อเท็จจริงคือ โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนนักเรียนที่ไม่แออัดเมื่อเทียบกับโรงเรียนในเมือง การสั่งปิดโรงเรียนจึงยิ่งซ้ำเติมให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลต้องเสียโอกาสในการเรียนรู้

ประเทศไทยบริหารด้วยความกลัว เช่น กลัวการคอร์รัปชัน จึงไม่เปิดโอกาสให้โรงเรียนได้คิดเอง เพราะเชื่อว่าการบริหารจากส่วนกลางจะควบคุมทุกอย่างได้

  • โรงเรียนในฝันของเด็กชายขอบ

ก่อนที่แนวคิดในการกระจายอำนาจจะเกิดขึ้นจริง อาจต้องสำรวจก่อนว่าแท้จริงแล้วโรงเรียนในฝันของเด็กชายขอบควรเป็นเช่นไร จากประสบการณ์ตรงในชีวิตเด็กดอยอย่างทินภัทร มองว่า ก่อนที่ความฝันและจินตนาการของเด็กจะเกิดขึ้นได้ เด็กต้องได้รับข้อมูลจากหลายชุด ทั้งชุดความรู้สมัยใหม่และชุดภูมิปัญญา ทั้งชุดความรู้จากโรงเรียนและจากโลกภายนอก เพื่อให้เด็กเกิดความคิดและจินตนาการที่หลากหลาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กชายขอบจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนได้ ในเมื่อบ้านเกิดยังมีปัญหาเรื่องสิทธิ เรื่องที่ดินทำกิน

โจทย์ใหญ่ที่สุดคือ นโยบายหรือกระบวนการออกแบบการศึกษาว่าต้องการผลิตคนเพื่อป้อนเข้าสู่อะไรกันแน่” ทินภัทรตั้งคำถาม

ส่วนศิริวัฒน์เห็นว่า “ผมฝันเรื่องความเท่าเทียม ไม่ใช่แค่เท่าเทียมด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่เด็กๆ ควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่เท่าเทียม และต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนท้องถิ่นด้วย

ผอ.ศุภโชค มองว่า ความฝันของคนท้องถิ่นคือต้องการมีชีวิตที่สุขสงบ ได้เรียนรู้ตามศักยภาพ มีโรงเรียนที่พร้อมจะส่งเสริมความรู้แก่เยาวชนในพื้นที่ได้ เพราะโรงเรียนคือที่พึ่งของชุมชน ช่วยส่งเสริมสุขอนามัย ส่งเสริมทักษะอาชีพ ทักษะการคิดวิเคราะห์

เราไม่ได้ฝันว่าห้องเรียนจะต้องติดแอร์ มีรถตู้รับส่ง หรือมีเทคโนโลยีสูง ขอแค่มีปัจจัยพื้นฐานขั้นต่ำที่เพียงพอ ที่สำคัญอย่าผูกขาดการพัฒนาไว้กับกระทรวงศึกษาธิการเพียงฝ่ายเดียว การคิดยุทธศาสตร์เดียวแล้วใช้ทั้งประเทศ ใช้ทุกโรงเรียน เป็นไปไม่ได้ ต้องให้แต่ละโรงเรียนเติบโตตามที่ควรจะเป็น และเป็นที่พึ่งแก่ประชาชนได้

...การศึกษาที่ดีคือ การศึกษาที่มีความหมาย เรียนแล้วเอาไปใช้ได้ ไม่ใช่เอาความรู้ไปใส่หัวเด็กเพื่อใช้สอบเอาคะแนน แต่ไม่มีความหมายอะไรกับชีวิตเลย”