‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘แข็งค่า’ที่29.99บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘แข็งค่า’ที่29.99บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงด้าน เงินบาทและสกุลเงินเอเชียระยะสั้นไม่คึกคักเท่าฝั่งสหรัฐ แม้ช่วงนี้จะเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยขายตราสารหนี้ และกลับเข้าซื้อหุ้นไทยบ้าง หากสามารถยกเลิกล็อคดาวน์ได้ก่อนจะหนุนให้เงินบาทแข็งค่าต่อไปได้ แต่ต้องระวังแรงเทขายทำกำไรปิดรับความเสี่ยง หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐถูกคัดค้าน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.99 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.03 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง (Risk On) ในคืนที่ผ่านมา นำโดยดัชนี S&P 500 ของสหรัฐที่บวกขึ้นได้0.74% จากแรงหนุนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นขนาดเล็ก ตามมาด้วยดัชนี STOXX 600 ของยุโรปที่ปรับตัวขึ้น0.32% โดยนักลงทุนเชื่อมั่นกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและกลับเข้าสู่กลุ่ม Cyclical

ส่วนในตลาดเงิน ดอลลาร์อ่อนค่าลง พร้อมกับบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมาที่ระดับ 1.16% สะท้อนความเชื่อมั่นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันระดับสภาพคล่องที่สูงก็หนุนให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาทองคำยังคงยืนเหนือระดับ 1830 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนในระยะสั้น นักลงทุนก็เน้นเก็งกำไรโดยราคาบิทคอยน์ขยับตัวขึ้นสู่ระดับ 44,000 ดอลลาร์ หลังเข้าบริษัท Tesla ซื้อเพื่อไปเป็นส่วนหนึ่งของงบบริษัท

ด้านเงินบาทและสกุลเงินเอเชียระยะสั้นดูจะไม่คึกคักเท่าในฝั่งสหรัฐ และโดยรวมยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แม้ช่วงสั้นจะเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยขายตราสารหนี้ และกลับเข้าซื้อหุ้นไทยบ้าง แต่เชื่อว่าระยะถัดไป ต้องสามารถยกเลิกล็อคดาวน์ได้ก่อน ถึงจะเป็นประเด็นที่หนุนให้เงินบาทสามารถแข็งค่าต่อไปได้

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.95-30.05 บาทต่อดอลลาร์โดยแนวโน้มเงินบาทก็มีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ +/- 15 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์หรือฟันด์โฟลว์ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะฝั่งผู้ส่งออกเองก็ไม่รีบขายเงินดอลลาร์และสามารถรอได้ จนกว่าเงินบาทจะอ่อนค่าใกล้ระดับ 30.10-30.15บาทต่อดอลลาร์  ขณะที่ฝั่งผู้นำเข้า ก็ไม่รีบเข้าซื้อเงินดอลลาร์เช่นกัน เนื่องจากยังเชื่อว่า เทรนด์เงินบาทยังคงแข็งค่าอยู่ จึงเลือกที่จะรอจนกว่า เงินบาทจะแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฝั่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ตลาดคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ในระยะสั้นนี้ ขณะเดียวกันแนวโน้มสถานการณ์ การระบาดของ COVID-19 ในสหรัฐฯ ก็ดีขึ้น โดย ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง สวนทางกับอัตราการแจกจ่ายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้น

ภาพดังกล่าวส่งผลให้ ตลาดกลับมาเชื่อมั่นต่อ Reflation trades อีกครั้ง หนุนให้ ตลาดหุ้นทั่วโลกล้วนปรับตัวขึ้น  โดยหุ้นขนาดเล็กในสหรัฐฯ ได้รับอานิสงส์มากสุดจากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ สะท้อนผ่าน การพุ่งขึ้นราว 2.5% ของดัชนี Russell 2000 ในขณะที่ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเพียง 0.74% ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ปิดบวก 0.27% ส่วนดัชนี FTSE MIB ของอิตาลี พุ่งขึ้นราว 1.5% จากความหวังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของอิตาลี โดยอดีตประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB)

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นบางส่วนก็ยังไม่วางใจต่อภาพการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของสินทรัพย์เสี่ยง ส่งผลให้ยังคงมีแรงซื้อเข้ามาในฝั่งสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง พันธบัตรรัฐบาล กดดันให้ บอนด์ยีลด์10ปี สหรัฐฯ ทรงตัวที่ระดับ 1.17%-1.18% ส่วนเงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงราว 0.3% สู่ระดับ90.95จุด

นอกจากนี้ ความหวังต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ได้ช่วยหนุนให้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น โดย ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวขึ้นแตะระดับกว่า 60ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในรอบกว่า 1ปี ส่วนในฝั่งทองคำราคาก็ปรับตัวขึ้นราว 1% สู่ระดับ 1,832 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ที่น่าสนใจก็คือ สินทรัพย์ทางเลือก สกุลเงินดิจิตอล อย่าง บิทคอยน์ ก็พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงถึง 17% แตะระดับ 45,571 ดอลลาร์ สะท้อนถึงภาวะการเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดอย่างชัดเจนในช่วงนี้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะยังคงติดตามความคืบหน้าการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯควบคู่ไปกับ การติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และการแจกจ่ายวัคซีน

โดยในระยะสั้น ต้องระวัง แรงเทขายทำกำไรและการปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเผชิญแรงคัดค้านที่มากขึ้นในวุฒิสภา จนอาจจะทำให้เกิดความล่าช้า รวมถึง ขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่ได้มากอย่างที่คาดหวังไว้ หรือ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 มีทิศทางที่แย่ลง (ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่วัคซีนยังแจกจ่ายได้ช้าอยู่)