นโยบาย 1.9 ล้านล้านของสหรัฐ ช่วยเศรษฐกิจหรือตลาด

นโยบาย 1.9 ล้านล้านของสหรัฐ ช่วยเศรษฐกิจหรือตลาด

จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอนุมัติงบประมาณ 1.99 ล้านล้านเหรียญฯ ของรัฐบาลโจ ไบเดน ที่จะฉีดเงินไปสู่ประชาชนที่ได้ผลกระทบจากโควิด-19 แล้วจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างไรบ้าง?

ทันทีหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน ก็เริ่มทำงานตามนโยบายที่วางไว้ หนึ่งในนั้นคือการให้คณะรัฐบาลเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ตามมาด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอนุมัติงบประมาณ 1.99 ล้านล้านเหรียญฯ อัดฉีดเงินไปสู่คนที่ได้ผลกระทบจากโควิดรวมไปถึงกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ  ถ้ามองแล้วก็เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เราเห็นหลายประเทศทั่วโลกทำกันในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

แต่ประเด็นสำคัญที่ผมอยากยกมานำเสนอ ซึ่งมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและการลงทุนที่น่าติดตามในอนาคต ก็คือ การใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้ามาจำนวนมากนี้ เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเพียงใดและมีอะไรที่นักลงทุนต้องจับตามอง..?

หากพิจารณาในช่วงตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์ในปี 2008  ธนาคารกลางทั้งสหรัฐฯ  , ยุโรป , ญี่ปุ่น , จีน รวมทั้งไทย และอีกหลายประเทศ ใช้มาตรการอัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นการลงทุน รวมถึงกระตุ้นการจ้างงาน ซึ่งก็ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ  จนมาถึงการระบาดโควิด 19 ทั้งโลกเจอวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้ต้องใช้เกิดการอัดฉีดเงินเพิ่มมากขึ้นไปอีก นอกจากเพื่อป้องกันเศรษฐกิจถดถอยแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันนั่นคือ เกิดกระแสเงินลงทุน (Fund Flow) ไหลเข้าตลาดสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก ทั้งตราสารหนี้ , หุ้น และ ทองคำ โดยเฉพาะเอเชียและตลาดเกิดใหม่ที่ได้อานิสงส์นี้อย่างเห็นได้ชัด    

แต่นอกเหนือจากเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่หนุนเศรษฐกิจเกิดสภาพคล่องแล้ว  เรื่องที่อยากให้นักลงทุนและผู้อ่านจับตามอง คือ สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี (Debt to GDP) ซึ่งปัจจุบันหนี้ต่อจีดีพีของหลายประเทศสูงขึ้นเกิด 100%  เช่น สหรัฐฯ มีหนี้ต่อ จีดีพี 105.2 % ขณะที่ อิตาลี มีสัดส่วนหนี้ต่อ จีดีพีระดับ 132.7% รวมไปถึงญี่ปุ่นมีสัดส่วนหนี้ต่อที่จีดีพีสูงถึง  248% และยังมีอีกหลายระเทศที่กำลังถึงระดับ 100%  เช่น ยูโรโซน , ฝรั่งเศส และบราซิล  อาจมองดูเป็นระดับตัวเลขที่น่ากังวล

แต่บรรดาธนาคารกลางมองว่า หากเศรษฐกิจกับมาฟื้นตัว สัดส่วนหนี้ดังกล่าวจะปรับตัวลดลงมาเอง ดังนั้นการกู้เงินเพื่ออัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของธนาคารกลางจนมีระดับหนี้ที่สูงกว่า จีดีพี  อาจถือเป็นนโยบายที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ มองว่าเหมาะสมและอาจจะเป็นมาตรฐานใหม่ที่เกิดขึ้นให้เราเห็นในหลายประเทศต่อจากนี้ 

อย่างไรก็ตามการบริหารนโยบายการเงินการคลังที่เปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของวิกฤตที่เกิดขึ้น หากกระตุ้นลงไปไม่ถึงระบบที่ทำให้เกิดการลงทุนและจ้างงานที่แท้จริงทั้งหมด (ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแบบนั้น) เศรษฐกิจก็คงไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร  ตรงกันข้ามเม็ดเงินที่อัดฉีดกลับไปทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น  จนเข้าใจเศรษฐกิจเริ่มดีต่อบรรยากาศการลงทุน ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องหากปัจจัยพื้นฐานไม่สอดคล้องกลับราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้น

ประเด็นที่ต้องระวังคือ การปรับตัวขึ้นของสินทรัพยเสี่ยงทั่วโลกที่ไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานหรือผลประกอบการที่แท้จริง  หากถึงเวลาที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและการอัดฉีดเงินหยุดลง อาจทำให้เกิดการเทขายสินทรัพย์อย่างหนักออกมาได้  ดังนั้นการปรับตัวขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยงในปัจจุบันที่มีสภาพคล่องและเม็ดเงินอยู่ในระบบจำนวนมาก จึงเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต้องใช้ความระมัดระวัง

สำหรับการลงทุน เมื่อมองภาพปัจจุบันแล้ว ผมมองว่ายังไม่น่าห่วงนัก เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น จากวัคซีนโควิดที่ทั่วโลกเริ่มใช้ ความคาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนเต็มรูปแบบมีโอกาสกลับมาได้เร็วขึ้น  โอกาสลงทุนในช่วงนี้ยังอยู่มี โดยเฉพาะการลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีทั่วโลก แม้ราคาจะปรับขึ้นมามาก แต่ยังคงสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่จริง  เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเอเชียและตลาดเกิดใหม่  ที่น่าลงทุน โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนในกลุ่มที่เติบโตจากเทคโนโลยีและการบริโภคในประเทศ รวมไปถึงสินทรัพย์กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ที่เริ่มปรับตัวขึ้นอย่างมีนัย 

สินทรัพย์แนะนำลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก

1.หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

 แนะนำ กองทุน WE-GIHEALTH

2.หุ้นเอเชียและตลาดเกิดใหม่

 แนะนำ กองทุน WE-CHIG

3.กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์

 น้ำมัน ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว 

นโยบายเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและมียังเป็นโดยตรงต่อทิศทางตลาดเงิน-ตลาดทุน ทั้งทางบวกและลบ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นอาจไม่ได้สะท้อนว่าเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางที่ดีเสมอไป บางครั้งบางจังหวะเราอาจมีโอกาสลงทุนจากตัวแปรที่เข้ามาสนับสนุน แต่ท้ายที่สุดการวิเคราะห์พิจารณาพื้นฐานและความเป็นจริง ที่สมเหตุสมผล คือ “การลงทุนที่ยั่งยืน” เพื่อให้เราไม่เผชิญภาพลวงตาของความความเสี่ยง เศรษฐกิจที่เดินหน้าด้วยนโยบายภาครัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ในปี 2564 นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวหรืออยู่ท่ามกลางความผันผวนที่ต้องระมัดระวัง