อย.แนะเลือกเครื่องดื่มเติมวิตามิน ต้องรู้วัตถุประสงค์ก่อนซื้อ

อย.แนะเลือกเครื่องดื่มเติมวิตามิน ต้องรู้วัตถุประสงค์ก่อนซื้อ

อย.เผยช่วง3 ปี “เครื่องดื่มเติมวิตามิน”ขออนุญาตเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว จาก 12 รายในปี 61 เป็น 54 รายในปี 63 ชี้ผลจากเทรนด์สุขภาพมาแรง ผู้ประกอบการแตกไลน์สินค้าสร้างจุดขาย กำชับเติมในเกณฑ์กำหนด-แสดงฉลากให้ตรงปริมาณ ย้ำผู้บริโภครู้วัตถุประสงค์ก่อนซื้อ

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า เครื่องดื่มเติมวิตามิน จัดเป็นเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ซึ่งตามพรบ.อาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้จะต้องมีการขออนุญาตในการผลิต นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) โดยในการขออนุญาตผู้ประกอบการจะต้องแสดงชื่ออาหาร สูตรส่วนประกอบของอาหารเป็นหลัก หากเป็นเครื่องดื่มที่นำเข้าจะต้องแนบหลักฐานที่เป็นผลตรวจวิเคราะห์อาหารจากต่างประเทศด้วย แต่หากเป็นเครื่องดื่มที่ผลิตภายในประเทศ เมื่อได้เลขทะเบียนจากอย.นำไปผลิตแล้ว จะต้องนำผลตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ล็อตแรกมายื่นต่ออย.

ทั้งนี้ พื้นที่กรุงเทพฯสามารถยื่นขออนุญาตผ่านระบบ e-Submission และส่วนภูมิภาคดำเนินการได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ซึ่งแนวโน้มการขออนุญาตเครื่องดื่มเติมวิตามินเพิ่มขึ้น เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2561 จำนวน 12 ราย ปี 2562 จำนวน 22 ราย ปี 2563 จำนวน 54 ราย และปี 2564 เพียง 2 เดือน จำนวน 9 ราย


“แนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงมีการแตกไลน์สินค้าใหม่ จากเดิมที่อาจจะเป็นสินค้า น้ำดื่ม น้ำส้ม น้ำเก๊กฮวย น้ำลิ้นจี่หรืออื่นๆ แต่เมื่อมีการเพิ่มสิตามินเข้าไป ซึ่งวิตามินที่เติมเข้าไปก็ เช่น วิตามินบี วิตามินซี ซึ่งเป็นการทำให้สินค้ามีความหลากหลายสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค เป็นการเติมสารอาหารเข้าไปแล้วเป็นการแข่งขันทางการตลาด เหมือนเป็นเทรนด์เรื่องสุขภาพที่ตอนนี้มาแรง โดยอย.มีการกำหนดปริมาณวิตามินและเกลือแร่แต่ละชนิดที่อนุญาตให้เติมได้”ภญ.สุภัทรากล่าว


ภญ.สุภัทรา กล่าวอีกว่า เมื่ออย.อนุญาตให้มีการผลิต นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆแล้ว จะมีการตรวจสอบเป็นระยะๆ โดยมีการกำหนดความถี่และจำนวนที่สุ่มตรวจตามความเสี่ยงที่จะส่งผลอันตรายต่อผู้บริโภค หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงสูงก็จะมีการสุ่มตรวจบ่อยและปริมาณที่มากกว่าผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงต่ำ ในส่วนของเครื่องดื่มเติมวิตามินนั้น ดำเนินการตรวจสอบสถานที่ผลิต และเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาวิตามินและแร่ธาตุ หากผลการตรวจพบปริมาณวิตามินไม่ตรงตามที่แสดงไว้บนฉลาก จัดเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท


หากผลการตรวจไม่พบปริมาณวิตามินชนิดนั้นแต่ฉลากระบุว่ามี จะเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 -100,000 บาท แต่หากตรวจพบปริมาณวิตามินชนิดนั้นมากเกินกว่าปริมาณสูงสุดของวิตามินและเกลือแร่แต่ละชนิดที่อนุญาตให้เติมในอาหาร อย.จะแจ้งผู้ประกอบการยื่นหลักฐานการศึกษาการคงสภาพวิตามินตลอดอายุการเก็บรักษามาประกอบการพิจารรา หากพบว่าปริมาณวิตามินอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


ต่อข้อถามบทลงโทษตามความผิดพรบ.อาหาร พ.ศ.2522น้อยไปหรือไม่หากเทียบกับมูลค่าทางการตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารแต่ละประเภท ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า พรบ.อาหารฉบับล่าสุด มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2522 หรือเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ซึ่งโทษในขณะนั้นถือว่าไม่น้อย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัยและทันกับสถานการณ์ อย.ได้ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงพรบ.อาหารฉบับใหม่ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์ ฉลาก และการโฆษณา เป็นต้น รวมถึง บทกำหนดโทษที่มากขึ้น ขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร


“การเลือกซื้อเครื่องดื่มประเภทนี้ ผู้บริโภคต้องรู้ก่อนว่าต้องการซื้อเครื่องดื่มผสมวิตามินด้วยวัตถุประสงค์อะไร ถ้าดื่มแล้วคาดหวังว่าจะได้วิตามินเหมือนกับกินวิตามินล้วนๆมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นเพียงการเติมเข้าไป ซึ่งข้อมูลของการใส่วิตามินจะปรากฏที่ฉลากผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ส่วนถ้าต้องการวิตามินแบบการบำรุงวิตามิน ควรไปซื้อวิตามินแบบที่เป็นยา หรือมีปริมาณวิตามินที่สูงหรือเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งจะมีขนาดของวิตามินที่สูงกว่าเครื่องดื่มชนิดนี้ ”ภญ.สุภัทรากล่าว

หลักเกณฑ์ฯเติมสารอาหาร
ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า การเติมวิตามินหรือเกลือแร่ในเครื่องดื่มนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเติมสารอาหารในผลิตภัณฑ์อาหาร(Nutrification) สำหรับอาหารที่ใช้บริโภคโดยบุคคลทั่วไป ดังนี้ 1.เน้นที่การควบคุมและป้องกันการขาดสารอาหาร 2.อาหารนั้นจะต้องมีคุณค่าเพิ่มขึ้น โดยราคาจะต้องไม่แพงเกินไปจนเป็นภาระ 3.อาหารที่มีการเติมจะต้องป็นพาหะที่ดี ที่จะกระจายสารอาหารที่เติมลงไป โดยการเติมสารอาหารในอาหารชนิดนั้นๆจะต้องไม่ขัดต่อสามัญสำนึก 4.สารอาหารที่เติมลงไปจะต้องอยู่ในรูปหรือฟอร์มที่ร่างกายทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ และจะต้องไม่เกดปฏิกิริยาระหว่างสารอาหาร ซึ่งมีผลทำให้หยับยั้งการดูดซึมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในร่างกาย 5.สารอาหารที่เติมจะต้องคงสภาพในอาหารนั้น 6.ไม่มีพิษในภาวะปกติ


7.ปริมาณสูงสุดที่อนุญาต โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและต้องไม่เกินค่าสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป +20%ความแตกต่าง(difference)ของค่าสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป กับค่าปลอดภัยที่ต่ำสุด ที่มีข้อมูลจากเอกสารอ้างอิงที่มีอยู่ ซึ่งกำหนดคือ วิตามินที่ละลายได้ในไขมัน 150%RDI(ค่าสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป) วิตามินที่ละลายได้ในน้ำ 200%RDI เกลือแร่ทั่วไป 150%RDI โซเดียม 100%RDI เหล็ก,สังกะสี 120%RDI และฟลูออไรด์ ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของอย. 8.ปริมาณในข้อ 7 หมายถึงปริมาณวิตามิน เกลือแร่สุทธิในผลิตภัณฑ์พร้อมบริโภคโดยคิดต่อการบริโภคต่อวัน จำนวน 3 มื้อใน 1 วันมื้อละ 1 หน่วยบริโภค ยกเว้นที่ระบุชัดเจนว่าเฉพาะมื้อ เช่น Breakfast cereal คิดวันละ 1 มื้อ และ 9.อาหารใดที่มีปริมาณวิตามิน เกลือแร่ เกินที่กำหนดตามข้อ 7 ให้จัดเป็นอาหารมีวัตถุประสงค์พิเศษ


ปริมาณสูงสุดที่อนุญาต
ปริมาณสูงสุดของวิตามินและเกลือแร่ที่อนุญาตในการเติมในอาหาร คือ 1.วิตามิน เอ 1,200 ไมโครกรัม อาร์ อีต่อวัน

2.วิตามิน บี 1 ปริมาณ 3 มิลลิกรัมต่อวัน

3.วิตามิน บี 2 ปริมาณ 3.4 มิลลิกรัมต่อวัน

4.ไนอะซิน 40 มิลลิกรัม เอ็น อีต่อวัน

5.วิตามิน บี 6 ปริมาณ 4 มิลลิกรัมต่อวัน

6.โฟลิค แอซิค 400 ไมโครกรัมต่อวัน

7.ไบโอติน 300 ไมโครกรัมต่อวัน

8.แพนโทธินิค แอซิค 12 มิลลิกรัมต่อวัน

9.วิตามินบี 12 ปริมาณ 4 ไมโครกรัมต่อวัน

10.วิตามินซี 120 มิลลิกรัมต่อวัน

11.วิตามินดี 7.5 ไมโครกรัมต่อวัน

12.วิตามินอี 15 มิลลิกรัม แอลฟา-ที อี

13.วิตามินเค 120 ไมโครกรัมต่อวัน

14.แคลเซียม 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน

15.ฟอสฟอรัส 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน

16.เหล็ก 18 มิลลิกรัมต่อวัน

17.ไอโอดีน 225 ไมโครกรัมต่อวัน

18.แมกนีเซียม 525 มิลลิกรัมต่อวัน

19.สังกะสี 18 มิลลิกรัมต่อวัน

20.ทองแดง 3 มิลลิกรัมต่อวัน

21.โปตัสเซียม 5,250 มิลลิกรัมต่อวัน

22.โซเดียม 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน

23.แมงกานีส 5.25 มิลลิกรัมต่อวัน

24.ซีลีเนียม 105 ไมโครกรัมต่อวัน

25.ฟลูออไรด์ 2 มิลลิกรัมต่อวัน

26.โมลิบดินัม 240 ไมโครกรัมต่อวัน

27.โครเมียม 195 ไมโครกรัมต่อวัน

และ28.คลอไรด์ 5,100 มิลลิกรัมต่อวัน


“หลักเกณฑ์ฯที่อย.กำหนดเป็นไปตามนี้ ส่วนผู้ผลิตจะเติมวิตามินชนิดไหนปริมาณเท่าไหร่ แต่ละบริษัทจะต้องดูตามความเหมาะสมทั้งเรื่องความคุ้มค่า รสชาติด้านราคา ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างในพิจารณา”ภญ.สุภัทรากล่าว