มรดกที่ ‘ทรัมป์’ ทิ้งไว้ให้สหรัฐ

มรดกที่ ‘ทรัมป์’ ทิ้งไว้ให้สหรัฐ

"โจ ไบเดน" เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการ ซึ่งไม่ได้ราบรื่นเท่าใดนัก เนื่องจากผู้แพ้ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ต่อผลการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับมรดกที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" ทิ้งไว้ให้อีกมาก

แม้ว่าการเปลี่ยนถ่ายอำนาจของสหรัฐปีนี้เป็นการเปลี่ยนมือที่วุ่นวายที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ เพราะผู้แพ้ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ง่ายๆ ก็ตาม สุดท้ายแล้ว Joe Biden ก็ได้บริหารประเทศตั้งแต่ 20 ม.ค.2564 สมความชอบธรรม กระนั้นก็ตามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคราวนี้ก็จะมีผลกลายเป็นความแตกแยกที่สุดของประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา และในเมื่อ America ไม่สามารถ Great Again แล้ว ความพลิกผันก็อาจทำให้เกิดการดิ่งจมลงไปถึงขั้นเกรงกันว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการล่มสลายในศตวรรษนี้ของมหาอำนาจแห่งศตวรรษที่แล้ว

เรื่องมันไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยถ้าผลการเลือกตั้งเป็นไปตามโพลล์ที่ Donald Trump แพ้ไบเดนขาดลอยไม่ต่ำกว่า 9% ซึ่งการตามห่างขนาดนี้ในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีการพลิกล็อกมาก่อน แต่ผลกลับผิดคาด พลังเงียบของทรัมป์ออกมาช่วยให้คะแนนในหลายมลรัฐใหญ่มีความสูสี ในหลายห้วงเวลาดูเหมือนทรัมป์จะเอาชนะได้ด้วย และแล้วในเมื่อไม่ชนะ ทรัมป์ก็ออกอาการทั้งโวยวาย ทั้งบีบทางกฎหมาย ทั้งปลุกระดมคนไม่ให้รับรองผล ในระยะสั้นมันคือความวุ่นวายถึงขั้นบุกรัฐสภาอย่างที่เห็น ในระยะยาวคือความแตกแยกร้าวลึกในหมู่อเมริกันชนที่แผ่ออกมาสู่สาธารณะ และอาจจะไม่หยุดกันง่ายๆ

ว่าด้วยบริบทของความแตกในสหรัฐนั้นมีมานานแล้วดังที่ทุกท่านทราบกันดี คนต่างผิวต่างศาสนาต่างเชื้อชาติร้อยพ่อพันกลุ่มมารวมตัวกันในชาติที่เป็นเอกราชมาได้แค่สองร้อยกว่าปี ก็ย่อมมีความเห็นแก่กลุ่มชนเอง (Ethnocentrism) ไม่ใช่น้อย 

แต่ท่ามกลางความเห็นแก่ตนนั้น จริยธรรมแบบอเมริกันก็ได้ถูกปูขึ้นมา ยกประโยชน์ให้กับชาวผิวขาวที่พยายามนำกรอบคุณค่ายึดถือ (Value) จากยุโรปโดยเฉพาะที่กำลังเบ่งบานในยุคโรแมนติกศตวรรษที่ 19 จนถึง 20 เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติศาสนาสีผิว คนร่ำรวยต้องช่วยคนจน คนแข็งแรงต้องปกป้องคนอ่อนแอ และอื่นๆ มาใช้ทั้งในนิตินัยและพฤตินัย ยังอาจยกประโยชน์ให้อีกหลายกลุ่ม เช่นสื่อที่ยิวและแองโกลแซกซอนมีบทบาทสูงในการผลักดันภาพลักษณ์มาตรฐานอเมริกัน ตอกย้ำให้คนอเมริกันนั่นแหล่ะเห็น ทำให้มีความรักชาติ ควบคู่ไปกับการมานะพยายามส่งออกแนวทางนี้ไปยังชาติอื่นๆ ทั่วโลกด้วย

ปัญหาความแตกแยกที่ถูกซุกไว้ใต้พรม ที่ถูกปกคลุมด้วยมาตรฐานคุณค่ายึดถือทางจริยธรรมนั้น พร้อมจะระเบิดออกมาเมื่อเศรษฐกิจแย่ลง สหรัฐในช่วงไม่กี่ปีมานี้เป็นเช่นนั้น นับตั้งแต่เกิดวิกฤติ Hamburger Crisis ความมั่งคั่งในหมู่คนรวยถูกดึงออกไปเยอะมาก ความยากจนในหมู่คนชั้นล่างก็จนหนักขึ้น อคติปฐมภูมิที่ไม่สนเหตุสนผล อย่างเช่นการถือพวกถือศาสนาเชื้อชาติสีผิวไว้ก่อนก็มาแรงขึ้นอีก การจุติของทรัมป์ทางการเมืองที่แสวงประโยชน์จากปัญหาเชิงซ้อนเหล่านี้ ยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย

ด้วยมารยาทและประวัติชีวิตของทรัมป์ ถ้าเป็นเมื่อก่อน คนแบบนี้จะไม่มีวันเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ แต่เมื่อไม่นานมานี้เอง เขากลับกลายเป็นความหวังของคนครึ่งหนึ่งของชาติ ไม่ว่าจะเป็นคนผิวขาวหรือคนอนุรักษนิยมที่เคยทำตัวเรียบร้อย ทำตามมาตรฐานอเมริกันปกติแต่กลับรู้สึกว่าสิทธิของตนถูกลิดรอนไปทุกทีโดยคนต่างชาติหรือคนต่างกลุ่ม 

พวกนี้จึงสนับสนุนนโยบายของทรัมป์ โดยหวังว่าแนวความคิด America First จะทำให้ชาติกลับมาแข็งแกร่งและพวกตนลืมตาอ้าปากได้ โดยมิพักต้องคิดว่าสิ่งที่ทรัมป์ทำนั้นจะถูกหรือผิดกับประเทศอื่น ยิ่งเห็นทรัมป์ทำอะไรแหวกแนวแล้วฝ่ายอื่นต้องอ่อนข้อให้ พวกเขายิ่งคิดว่านี่ล่ะถูกต้อง

แนวทางแบบชวนหาเรื่องของทรัมป์ย่อมทำให้เขามีศัตรูมากไปด้วย กระแสความเกลียดชังถูกปลุกเร้าผ่านวาทะและลีลาของเขา นโยบายของทรัมป์ไม่ได้ใจของอเมริกันชน "ทุกคน“ มิเช่นนั้นกรณีประท้วงการตายของ George Floyd จะไม่บานปลายหลายเดือน ส่วนหนึ่งก็เพราะคนผิวสีอื่นๆ คิดว่าแนวทางของทรัมป์จะยิ่งเป็นโทษต่อตน ยิ่งคนผิวสีหรือคนลิเบอรัลประท้วงเรียกร้องมากขึ้นเท่าไร ฝ่ายที่เชียร์ทรัมป์ยิ่งมองคนกลุ่มนี้เป็นศัตรู พรรคเดโมแครตจึงได้คะแนนจากคนเหล่านี้ไปเป็นกอบเป็นกำ 

ถ้ามองแบบยุติธรรม ไบเดนก็มีส่วนในการทำให้ความแตกร้าวขยายกว้าง เขาเลือกมุ่งเป้าเรียกคะแนนเสียงยังคนผิวสีถึงขั้นยกตำแหน่งรองให้ ขณะที่สื่อลิเบอรัลทั้งหลายก็วาดภาพทรัมป์เหมือนตัวตลกอันเลวร้าย แล้วจะหวังว่าเมื่อการชิงชัยจบลง ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันชื่นชมผู้ชนะกระนั้นหรือ

ไบเดนจะพยายามปกครองประเทศโดยอุ้มคนทั้งประเทศที่ไม่ชอบหน้ากันให้ไปด้วยกันได้ โดยใช้กลไกและค่านิยมแบบเดิม อเมริกันที่เป็นอเมริกัน แข็งแกร่งกับศัตรูประชาธิปไตย ยึดมั่นในความเท่าเทียม แต่ก็คงต้องหยวนบ้างกับข้อเรียกร้องของคนผิวสีที่วันนี้ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยแล้ว ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามที่เชื่อมั่นแนวทางทรัมป์นั้น ก็อาจรอจังหวะระเบิดอารมณ์ออกมา 

ปัญหาภายในประเทศที่รุมเร้า ย่อมบั่นทอนท่วงท่าในการเมืองระหว่างประเทศ แล้วอย่างนี้สหรัฐที่แตกแยกจะสู้กับจีนไหวเหรอ อันนี้เป็นคำถามที่อยู่ในใจของพันธมิตรทุกประเทศ