ตะวันขึ้น 'รพ.เอกชนไฮเอนด์'! ปี 2565

ตะวันขึ้น 'รพ.เอกชนไฮเอนด์'! ปี 2565

เมื่อข้อจำกัด 'โควิด-19' กำลังจะถูกกำจัดด้วยวัคซีน ! หนึ่งในธุรกิจที่กลับมาสดใสต้องยกให้ 'โรงพยาบาลเอกชนระดับไฮเอนด์' หลังเริ่มเห็นสัญญาณสัดส่วนคนไข้ต่างชาติเริ่มฟื้นตัว ฟาก 'กูรู' มองปีหน้าผลการดำเนินงานกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง...

แม้ที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ! แต่ 'ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย' โดยเฉพาะระดับ 'ไฮเอนด์' ทิศทางเติบโตต่อเนื่อง !! บ่งชี้ตลาดมีทั้งผู้เล่นรายเก่า-ใหม่ กระโดดเข้ามาแบ่งเค้กก้อนใหญ่ระดับแสนล้านบาท...โดยเฉพาะกลุ่มทุนหนาในหลายตระกูลดัง หวังกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจหลักมาสู่หนึ่งในธุรกิจที่เป็นปัจจัย 4 ของคน

ทว่าครบรอบ 1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่พบการแพร่ระบากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้แต่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เฉกเช่นกัน...โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลที่พึ่งพิงสัดส่วนรายได้จาก 'คนไข้ต่างชาติ' เป็นหลัก

สะท้อนผ่าน 2 โรงพยาบาลใหญ่ที่มีสัดส่วนรายได้คนไข้ต่างชาติระดับสูงคือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS และ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ BH โดยปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 BDMS มีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติประมาณ 30% ส่วน BH สัดส่วนคนไข้ต่างชาติประมาณ 66%

สำทับด้วยตัวเลขผลประกอบการของบริษัทที่ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 2 ราย ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ซึ่งมีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติพอร์ตใหญ่ 3 ปีย้อนหลัง (2560-2562) โดย BDMS มีกำไรสุทธิ 10,215.74 ล้านบาท 9,191.46 ล้านบาท และ 15,517.17 ล้านบาท ส่วน BH มีกำไรสุทธิ 3,943.89 ล้านบาท 4,151.89 ล้านบาท และ 3,747.73 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่งวด 9 เดือน ปี 2563 กำไรสุทธิได้รับผลกระทบจากระบาดของโควิด-19 ส่งผลกำไรสุทธิลดลง โดย BDMS กำไรสุทธิอยู่ที่ 4,826.56 ล้านบาท ลดลง 63% จากงวด 9 เดือน ปี 2562 อยู่ที่13,194.6 ล้านบาท ส่วน BH กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,031.15 ล้านบาท ลดลง 64% จากงวด 9 เดือนปี 2562 อยู่ที่ 1,031.15 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2564 น่าจะกลับมาขยายตัวราว 1-4% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่หดตัว 14.1% ขณะที่กำไรสุทธิน่าจะกลับมาขยายตัว 15-20% จากปีก่อน แต่การฟื้นตัวดังกล่าวคาดว่าจะยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2562

โดยมีปัจจัยด้านโควิด-19 ที่ยังคง 'กดดัน' การทำรายได้และกำไรของโรงพยาบาลเอกชนต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนที่สูง ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ชาวไทยกลุ่มประกันสังคมและข้าราชการ น่าจะยังพอไปได้หรือได้รับผลกระทบน้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชนใน Segment อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม คาดในปี 2564 คนไข้ชาวต่างชาติที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในไทยอาจมีประมาณ 1.57-1.77 ล้านคน (ครั้ง) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวนราว 1.45 ล้านคน (ครั้ง) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติที่มีจำนวนคนไข้ต่างชาติเข้ามารับการรักษาพยาบาลอยู่ที่ราว 3.75 ล้าน (ครั้ง) ในปี 2562

ทั้งนี้ กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะกลุ่ม Medical Tourism น่าจะได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มโรงพยาบาลเอกชนใน Segment อื่นๆ เนื่องจากตลาดคนไข้ต่างประเทศน่าจะยังไม่สามารถกลับเข้ามาใช้บริการได้เป็นปกติ โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้สหรัฐฯ ยุโรป และเมียนมา ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศยังไม่คลี่คลาย

สอดคล้องกับ 'ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โรงพยาบาลลาดพร้าว หรือ LPH วิเคราะห์ภาพอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนไทยให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนไทยที่มีฐานคนไข้ต่างชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะตลาดไฮเอนด์ อาจจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี หรือราวปี 2565 ที่ธุรกิจกลับมาขยายตัวเหมือนเดิม เนื่องจากปัจจุบันติดปัญหาคนไข้ต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาในประเทศไทยลำบาก

สะท้อนผ่านภาพโรงพยาบาลใหม่ที่ลงทุนสร้างมาเสิร์ฟตลาดลูกค้าไฮเอนด์ยังเปิดให้บริการไม่เต็มที่ เช่น โรงพยาบาลเมดพาร์ค (Med Park) ย่านพระราม 4 ที่เปิดให้บริการรักษาพยาบาลในเฟสแรกแล้วบางส่วน ขณะที่โรงพยาบาลวิมุต โรงพยาบาลแห่งแรกของ 'พฤกษา' และเริ่มก่อสร้างในช่วงปลายปี 2560 ด้วยงบประมาณเกือบ 5,000 ล้านบาท ล่าสุดเตรียมเปิดให้บริการเฟสแรกเดือนพ.ค. 2564 จากเดิมคาดว่าจะเปิดในปี 2563 

สำหรับโรงพยาบาลที่มีฐานคนไข้คนไทยยังสามารถเติบโตได้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนสนใจเรื่องของสุขภาพมากขึ้น ฉะนั้น จะเห็นภาพการขยายตัวของธุรกิจโรงพยาบาลโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) อีกประเด็นจากการที่ประชาชนทำประกันสุขภาพมากขึ้น ทำให้กลุ่มคนไข้ประกันสุขภาพขยับขึ้นมาจับต้องการรักษาที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

๐ '2สตอรี่ใหม่' รพ.ลาดพร้าว ! 

'นายใหญ่LPH' เล่าให้ฟังว่า ยอมรับว่าในครึ่งแรกปี 2563 โรงพยาบาลลาดพร้าวได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สะท้อนผ่านผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 พลิกขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 5.11 ล้านบาท ลดลง 128.87 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการเริ่มฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง สอดรับคนไข้ทั่วไปกลับมาใช้บริการตามปกติ อัตราการรักษาดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจที่เข้าฤดูฝน ทำให้มีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์ประกันต่างๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้น เป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโต 15%

ขณะที่ ปี 2564 เขาบอกว่า บริษัทมีแผนสร้างการเติบโตอีกครั้ง ด้วยการลงทุนใน 2 ประเภท โดยสตอรี่แรก การเข้าซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์) โรงพยาบาลเอกชนแห่งใหม่ ย่านปริมณฑล จำนวน 200 เตียง มูลค่าไม่เกิน 800 ล้านบาท ซึ่งโรงพยาบาลดังกล่าวมีรายได้ปีละ 800 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัด (EBITDA) ปีละ 90 ล้านบาท โดยเจ้าของโรงพยาบาลมีการเสนอขายกิจการผ่านบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง

ทว่า ปัจจุบัน LPH ได้รับการติดต่อจากนักลงทุน 'กองทุนส่วนบุคคล' หรือ Private Fund สนใจจะเข้ามาลงทุนร่วมกับ LPH ดังนั้น จึงมี 2 แนวทางที่จะซื้อกิจการโรงพยาบาลดังกล่าว ทางเลือกแรก โรงพยาบาลลาดพร้าวร่วมทุนกับนักลงทุนกองทุนส่วนบุคคลซื้อหุ้นคนละ 50% ภายใต้เงื่อนไขจากกลุ่มนักลงทุนว่า LPH จะต้องนำโรงพยาบาลดังกล่าวเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในระยะเวลา 3 ปี

ทางเลือกที่สอง คือ โรงพยาบาลลาดพร้าวซื้อกิจการทั้งหมด 100% โดยโรงพยาบาลดังกล่าวที่ LPH สนใจเนื่องจากทำธุรกิจคล้ายๆ ที่โรงพยาบาลลาดพร้าว โดยมีโควต้าประกันสังคมจำนวน 1.5 แสนราย และมีกำไรต่อเนื่องมาตลอด ซึ่งปัจจุบันกำลังให้ผู้สอบบัญชีเข้าไปดูในรายละเอียด

'คาดไตรมาส 1 ปี 2564 น่าจะมีความชัดเจน ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ซึ่งหากซื้อจะเสนอวาระดังกล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ทันภายในเดือนเม.ย.นี้ ปัจจุบันอยู่ต้องเจรจาในเรื่องของการประเมินทรัพย์สินและเจรจาในเรื่องของราคาซื้อกิจการ'

สตอรี่สอง การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ช่วงปลายปีที่ผ่านมามีคนมาเสนอขายรีสอร์ท มูลค่า 300 ล้านบาท ซึ่งบริษัทนำมาเข้ากับโครงการ “ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” หรือ Wellness Center อยู่เขาใหญ่ ปากช่อง นครราชสีมา เนื้อที่ 22 ไร่ มีตัวอาคารที่ก่อสร้างยังไม่เสร็จมีแต่โครงสร้าง ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการต่อรองในเรื่องของราคา

ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ เราจะนำโมเดลธุรกิจแบบนี้ไปเปิดในทำเล 4 มุมเมืองของประเทศไทย เหนือ , ตะวันนออก , ใต้ ก็จะมีเพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นปีทองของผู้ซื้อซึ่งสถานการณ์ใกล้เคียงปี 2540 ที่เราได้ซื้อที่ดินโรงเรียนนานาชาติ และที่เอมาร์คเป็นจังหวะที่จะทำให้บริษัทมีพื้นที่ขยายโครงการที่อยู่ในแผนดำเนินงานของบริษัท

มูลค่าลงทุนสองโครงการมูลค่า 1,100 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ตรงการประเมินราคาที่ดินและแบบก่อสร้างเดิมหากสร้างต่อจะต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ หากได้ข้อสรุปคาดว่าจะเปิดต้นปี 2565 ส่วนซื้อกิจการโรงพยาบาลหากซื้อได้ก็รับรู้รายได้เข้ามาทันที

นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการลงทุนอีก คือ อาคารจอดรถ สร้างปีนี้จำนวน 250 คัน มูลค่า 50-60 ล้านบาท และ โครงการสร้างศูนย์แพทย์เฉพาะทาง 2 ตึก ตึกแรกเป็นโรงพยาบาลศูนย์ตา สร้างเสร็จปี 2566 มูลค่าลงทุน 200 ล้านบาท ตึกที่สองเป็นศูนย์เฉพาะทาง ตับ ไต หัวใจ และมีห้องผ่าตัดที่ทันสมัย

เป้าหมายต้องการยกระดับโรงพยาบาลลาดพร้าวให้มีศูนย์เฉพาะทางมากขึ้น และทำให้ความสามารถในการรักษาโรคซับซ้อนได้สูงมากขึ้น โดยจะมีแพทย์ที่มีความสามารถมาประจำอยู่ที่โรงพยาบาลลาดพร้าว

ตลาดรพ.เอกชนแข่งขันยาก-รุนแรง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะยากและรุนแรงขึ้น จากผู้ประกอบการที่มีอยู่จำนวนมากในตลาด ขณะที่คนไข้ที่มีศักยภาพกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะคนไข้กลุ่ม Medical Tourism ที่น่าจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์โดยการแย่งชิงตลาดคนไข้ในประเทศ ที่ได้รับแรงกดดันจากกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเช่นกัน ส่งผลให้การรักษาฐานลูกค้าเดิม หรือการมองหาตลาดลูกค้าใหม่ๆ มาทดแทน เช่น กลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพเอกชน อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ดังนั้น ระยะสั้น ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในแต่ละ Segment อาจจะต้องมีการปรับตัวเพื่อประคองการเติบโตของธุรกิจ โดยการควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้คนไข้สามารถเข้าถึงได้ การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับคนไข้ต่างชาติที่เริ่มทยอยเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในไทย (กลุ่ม Special Tourism Visa: STV และกลุ่มอื่นๆ ที่รัฐอาจจะพิจารณาเพิ่ม)

ขณะที่ระยะกลางถึงยาว ควรนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนและอำนวยความสะดวก รวมถึงการมองหารายได้ใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ซึ่งธุรกิจในกลุ่ม Non-hospital เป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 สะท้อนได้จาก รายได้และกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของโรงพยาบาลเอกชน (ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ) หดตัวอยู่ที่ -14.2% และ -54.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

โดยโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้กลุ่ม Medical Tourism ในสัดส่วนที่สูง น่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก จากจำนวน Medical Tourism ที่คาดว่าจะหายไปไม่ต่ำกว่า 85% ของจำนวน Medical Tourism ทั้งหมด 

ขณะเดียวกัน ด้วยกำลังซื้อของคนในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวและการแข่งขันของตลาดในประเทศที่รุนแรงขึ้น ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มคนไข้เงินสดเป็นหลักได้รับผลกระทบเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพของภาครัฐ เช่น กลุ่มประกันสังคม ข้าราชการ น่าจะประคับประคองรายได้ หรือได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จับกลุ่มลูกค้าใน Segment อื่นๆ

'วัคซีน' กับความหวังอีกครั้ง !

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง บอกว่า กลุ่มโรงพยาบาล เลือกหุ้น BDMS และ BH เป็น Top Pick จากการยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 จำนำเข้ามาฉีดประชาชนกลุ่มแรกในเดือนก.พ. นี้ โดยมองว่ากลุ่มโรงพยาบาลจะได้ประโยชน์ทางตรงเป็นกลุ่มแรก จากการให้บริการฉีดวัคซีน ซึ่งเราคาดว่าจะเห็นการกระจายวัคซีนไปสู่ รพ.รัฐ ไปจนถึง รพ.ที่รับประกันสังคม ดังนั้น มองว่า BCH จะได้ประโยชน์ที่สุด และในช่วงถัดมา รพ. อย่าง BDMS และ BH จะได้ประโยชน์จากผู้ป่วยต่างชาติที่จะบินเข้ามารับการรักษาเหมือนเช่นเคย

ดังนั้น คาดว่าหุ้น BDMS และ BH จะนำการฟื้นตัวของกำไรกลุ่ม 40% และ 70% ตามลำดับ ขณะที่ CHG คาโต 8% และ BCH คาดโต 4%