เปิดสเต็ป ‘สอยดาว’ประดับบ่า ‘พลทหารอาสา’ ยุคปฎิรูปกองทัพ

เปิดสเต็ป ‘สอยดาว’ประดับบ่า ‘พลทหารอาสา’ ยุคปฎิรูปกองทัพ

สมัย 'พล.อ.สุรยุทธ์' เป็น ผบ.ทบ.เคยเปิดรับสมัครชายไทยอายุ 18 ปี เป็น ‘ทหารเกณฑ์’ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากแรงจูงใจไม่มากพอจึงล้มเลิกไป แต่แนวทางดังกล่าวถูกนำไปจัดทำเป็นแผนการพัฒนาระบบกำลังสำรองทั้งระบบเรื่อยมา

นับเป็นระยะเริ่มต้น “การปฏิรูปกองทัพ” เพื่อปรับปรุงโครงสร้างกำลังพลไปสู่การจัดหน่วยแบบ “เบา ประหยัด คล่องตัวสูง และมีประสิทธิภาพ” ในห้วง 3 ปีต่อจากนี้ ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก โดยการเปลี่ยนถ่าย “เกณฑ์ทหาร” ไปสู่ระบบ “ทหารอาสา” ให้เกิดรูปธรรม

เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปกับกระแสเรียกร้องให้ยกเลิก “เกณฑ์ทหาร” แล้วเปลี่ยนมา “สมัครใจ” ลดการใช้งบประมาณด้านกำลังพล สร้างทหารอาชีพในคุณลักษณะที่กระจายโอกาสให้กับกลุ่มคนในสังคม พร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาคนตกงาน

ปีนี้ “กองทัพบก” เปิดโครงการนำร่องรับสมัคร “พลทหาร” หรือ “ทหารเกณฑ์แบบสมัครใจ” ผ่านทางออนไลน์ โดยกำหนดคุณสมบัติ ชายไทยอายุ18-20 ปี (เกิดปี 2544-2546) และผู้มีอายุ 22-29 ปี (เกิดปี 2535-2542) เคยรับการตรวจเลือกทหารแล้ว แต่จับได้ ‘ใบดำ’ หรือคนที่ได้รับการปล่อยตัวเพราะมีคนร้องขอ แบบไม่จำกัดวุฒิการศึกษา


ล่าสุด มีผู้สนใจเข้าสมัครตั้งแต่วันที่ 1-5 ก.พ. จำนวน 1,224 คน แยกเป็นกองทัพภาคที่ 1 จำนวน 315 คน กองทัพภาคที่ 2 จำนวน 331คน กองทัพภาคที่ 3 จำนวน 257 นาย กองทัพภาคที่ 4 จำนวน 321 คน และกองบัญชาการกองทัพไทยอีก 4 คน โดยเปิดรับสมัครถึง 28 ก.พ. เพื่อให้ครบตามเป้า 10,000 คน

โดยกองทัพบกเชื่อมั่นว่าจากสถานการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจนทำให้คนว่างงาน การเปิดรับสมัครทหารจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดึงดูดใจ ‘ชายไทย’ เพราะนอกจากได้ค่าตอบแทนที่มาพร้อมสวัสดิการด้านต่าง ๆ แล้ว หนทางเติบโตในหน้าที่การงาน เพื่อนำ ‘ดาว’มาประดับบน ‘บ่า’ ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

เพราะชายไทยทั้งหมด เมื่อผ่านเข้าเป็นพลทหารก็จะได้สิทธ์ต่าง ๆ เช่น สามารถเลือกหน่วยที่จะเข้าประจำการ หรือการได้คะแนนเพิ่มพิเศษในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการในสังกัดกองทัพบก ที่สำคัญการได้โควตาสอบเข้าโรงเรียนนายสิบทหารบก

ทันที พล.อ.ณรงค์พันธ์ สั่งปรับโควตาสอบเข้าโรงเรียนนายสิบทหารบก หวังสร้างแรงจูงใจ โดย 80% มาจากพลทหาร ส่วนอีก 20% เป็นพลเรือน และเริ่มรับครั้งแรกเมื่อ 11 ธ.ค.2563 -1 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีพลทหารแห่สมัครเข้ามาถึง 10,863 นาย พลเรือน 6,530 คน ในขณะยอดต้องการแต่ละปีมีประมาณ 2,000 คน

พล.อ.ณรงค์พันธ์ พอใจตัวเลข ทั้งในส่วนชายไทยสมัครเป็นทหารเกณฑ์ใน 5 วันแรก กับยอดพลทหารที่ปลดประจำการสมัครสอบโรงเรียนนายสิบทหารบก เพราะมองว่าเป็นบุคลากรต้นน้ำที่ได้รับการขัดเกลามาแล้วในระดับหนึ่ง ขณะที่กองทัพบกเพียงปูทางด้วยการผ่านกระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียนทหาร ก่อนเข้าไปเป็น ‘ทหารอาชีพ’ ในกองทัพ

อย่างไรก็ตาม หนทางการเติบโตในเส้นทางรับราชการ ไม่ได้จบเพียงแค่นั้น ‘นายสิบ’ เหล่านี้จะได้รับการคัดเลือกผู้ที่มีผลการเรียนสูงสุดใน 20 อันดับแรกสามารถเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร สังกัดเหล่าทหารบกได้ทันที

ต่อจากนี้ เพื่อความเป็นธรรมและป้องกันข้อครหา ‘เด็กฝาก-เด็กเส้น’ กองทัพบกจึงปรับรูปแบบใหม่ให้ ‘นายสิบ’ ที่มีคะแนนเรียนดีใน 200 อันดับแรก มาสอบแข่งขัน และคัดเอา 20 คน ซึ่งในอนาคตอาจขยายถึง 40 คน เข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร (รร.ตท.) 2 ปี และต่อด้วยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.)5 ปี

จะเห็นได้ว่า 2-3 ปีที่ผ่านมามี ‘นายสิบหัวกะทิ’ เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เมื่อจบการศึกษาจะมีผู้ที่อยู่ในรุ่นอายุต่างกัน เช่นปี 2564 มีผู้เรียนจบอายุมากที่สุดคือ 32 ปี ถือเป็นนักเรียนอายุมากที่มาจากพลเรือนหลังจากกองทัพบกเปิดกว้างและขยายโอกาส

หากย้อนกลับไปเมื่อ10 กว่าปีที่แล้ว สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็น ผบ.ทบ.เคยเปิดรับสมัครชายไทยอายุ 18 ปี เป็น ‘ทหารเกณฑ์’ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากแรงจูงใจไม่มากพอจึงล้มเลิกไป แต่แนวทางดังกล่าวถูกนำไปจัดทำเป็นแผนการพัฒนาระบบกำลังสำรองทั้งระบบเรื่อยมา จนเห็นเค้าลางที่เป็นรูปธรรมในปัจจุบัน

ความมุ่งหวังของกองทัพบกที่ต้องลดการจับใบดำ-ใบแดงในการเกณฑ์ทหารให้น้อยลง หรือไม่มีเลยในอนาคต ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เปลี่ยนไป หวังพัฒนาสู่ระบบ ‘ทหารอาสา’ อาจต้องใช้เวลากว่าจะเห็นเป็นรูปธรรม

เช่นเดียวกับ ‘ชายไทย’ ที่จะมีโอกาสก้าวสู่การเป็น ‘ทหารอาชีพ’ มีเส้นทางเติบโตที่ชัดเจน ผ่านการเป็น ‘พลทหาร -นายสิบ-โรงเรียนเตรียมทหาร’ จนสามารถคว้า ‘ดาว’ มาประดับ ‘บ่า’ ได้