อ่านที่นี่ที่เดียว! เปิดเหตุผล ไทยเบฟแยกธุรกิจเบียร์เข้าตลาดฯ 

อ่านที่นี่ที่เดียว! เปิดเหตุผล ไทยเบฟแยกธุรกิจเบียร์เข้าตลาดฯ 

การแยก "ธุรกิจเบียร์" ของ "ไทยเบฟ" ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ เพราะส่งสัญญาณ "ปลดล็อค" การทำธุรกิจแบบเดิมๆ ตั้งแต่ปีก่อน การให้อิสระทำงาน แต่บริษัทยัง "ถือหุ้นใหญ่" ภารกิจสานอาณาจักรเครื่องดื่ม เสริมมั่งคั่งผู้ถือหุ้น ล้วนเดินตาม Passion 2025

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ประกาศแยกธุรกิจเบียร์เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ภายใต้บริษัท BeerCo Groupได้สร้างความสนใจให้กับบรรดานักลงทุน ภาคธุรกิจ และสื่ออย่างมาก เพราะนี่เป็นการจัดทัพธุรกิจของ ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มครบวงจรหรือ Total Beveerage ของเมืองไทยและภูมิภาคเอเชีย โดยมี เจ้าสัวน้อย ฐาปน สิริวัฒนภักดีทายาทลำดับที่ 3 ของ ราชันย์น้ำเมา เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดีเศรษฐีผู้ครองอาณาจักรธุรกิจแสนล้านบาทเป็นผู้ขับเคลื่อน

กระแสการแยกธุรกิจเบียร์มีออกมาเป็นระยะ และไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายหรือเซอร์ไพรส์แต่อย่างใด เพราะในการจัดพอร์ต เขย่าโครงสร้างธุรกิจของไทยเบฟ มีเค้าลางออกมาตั้งแต่โค้งสุดท้ายของ วิชั่น 2020” และอยู่ระหว่างทรานส์ฟอร์มสู่ “Passion 2025” ซึ่ง ฐาปนกล่าวเมื่อตุลาคม 2563 ว่าเป็นความ มุ่งมั่นสู่ชัยชนะในการพาธุรกิจเครื่องดื่มของไทยผงาดสมรภูมิธุรกิจอาเซียน ทยานสู่ระดับโลกต่อไป

161255741258

การแยกธุรกิจเบียร์เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ มีการขายหุ้น IPO สัดส่วน  20% ของหุ้นสามัญทั้งหมด 

ทำไม ไทยเบฟฯ ต้องแยกธุรกิจเบียร์ออกมาจดทะเบียนในตลาดหุ้น เหตุผล และ ประโยชน์ ที่ธุรกิจของบริษัท ผู้ถือหุ้น จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีอะไรบ้าง กรุงเทพธุรกิจชวนผู้อ่านวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้ 

++เบียร์ยังโตได้อีก 

ไทยเบฟ ระบุเหตุผลอย่างแรกว่า ธุรกิจเบียร์ยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อย่างมีนัยยะสำคัญ  เมื่อคณะกรรมการบริษัทหรือบอร์ด และทีมบริหารจัดการเห็นศักยภาพดังกล่าว จึงพร้อมที่จะใช้ความรู้ความสามารถประสบการณ์ทำงานที่มีมากมายในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเบียร์มาช่วยกันขับเคลื่อนให้ธุรกิจเบียร์ของบริษัทเติบโตยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ การแยกธุรกิจเบียร์มาอยู่ใน BeerCo Group เพื่อจดทะเบียนในตลาดฯ ยังเอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งตลาดตราสารหนี้ ตลาดตราสารทุนได้โดยตรง ใช้ประโยชน์จากตัวเลือกที่หลากหลายได้อย่างอิสระ รองรับการดำเนินงานเพื่อขยายธุรกิจธุรกิจในอนาคต 

สิ่งเเหล่านี้ สอดคล้องกับสิ่งที่ ฐาปนเล่าในงานแถลง Passion 2025 ว่าแผนการดำเนินงานปี 2020 ส่งผลให้ธุรกิจบริษัทมีการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นสุรา เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหาร ที่สำคัญคือ เบียร์มียอดขายและกำไรเพิ่มขึ้น (ขณะนั้นหยิบผลการดำเนินงาน 9 เดือนมาอ้างอิง

ย้อนไปปีก่อนหน้า เขายังเคยกล่าวถึงกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมายด้วยการ ปลดล็อกการทำธุรกิจแบบเดิมๆ โดยจะเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การทำให้มีความเป็นอิสระจากกันมากขึ้น แต่บริษัทยังคง ถือหุ้นเช่นเดิม เจตนารมย์ดังกล่าวทำให้การแยกธุรกิจเบียร์เพื่อขับเคลื่อนอย่างเป็นอิสระ ความคล่องตัวจึงปรากฏขึ้น  

++ลดภาระหนี้ เสริมแกร่งการเงิน

เหตุผลต่อมา ไทยเบฟต้องการปรับปรุง ฐานะทางการเงิน ของบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้น เพราะเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปชำระหนี้ ลดภาระดอกเบี้ย ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน(D/E)อยู่ในระดับต่ำลง 

161255760940

ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา มรรควิธีทางลัดที่ใช้ในการซื้อและควบรวมกิจการ(Mergers and Acquisitions : M&A) ของไทยเบฟ มีมูลค่าหลัก แสนล้านบาทหลัก หมื่นล้านบาท อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการซื้อหุ้น 53.6% ของไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น(SABECO) มูลค่า 1.56 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นภาระทางการเงินก้อนโต ทำให้บริษัทต้องสร้างรายได้ให้เติบโต เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ดังกล่าว  

ทั้งนี้ หากปรับปรุงฐานะทางการเงินไทยเบฟให้แกร่งได้ ย่อมเพิ่มความสามารถด้านการลงทุนให้แก่บริษัท โดยเฉพาะให้เกิดความยืดหยุ่นในการขยายธุรกิจเซ็กเมนต์อื่นๆ เรียกว่า การเงินดี หนี้สินต่อทุนต่ำ ย่อมเพิ่มโอกาสในการหาแหล่งเงินไปต่อยอดธุรกิจ ขยายอาณาจักรให้ใหญ่โตต่อเนื่อง

สิ่งที่ต้องเกาะติด ภายใต้สถานการณ์โควิดระบาด ธุรกิจจำนวนไม่น้อยส่อเค้าเจ๊งและอาจเห็นการขายกิจการส่วนบิ๊กคอร์ปอย่างไทยเบฟ จะช้อปอะไรเข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอ ต้องห้ามกระพริบตา!    

++ปลดล็อคเพิ่มมั่งคั่งผู้ถือหุ้น 

เหตุผลที่สาม การปลดล็อกมูลค่าผู้ถือหุ้น หรือ Unlocking Shareholder Value การแยกธุรกิจเบียร์และดันเข้าตลาดภายใต้ BeerCo Group ช่วยการันตีธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และปูทางให้ธุรกิจถูกสปอร์ตไลท์ส่องตรง เป็นที่หมายตาจนได้รับการประเมินและให้คุณค่าอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดเบียร์ในภูมิภาคอาเซียน และมีศักยภาพการเติบโตแตกต่าง โดดเด่น 

161255637019

ไทยเบฟ เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องดื่มของเอเชีย และติด Top 10 ในด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(MarketCap) สะท้อนความมั่งคั่งขององค์กร รวมถึงยอดขาย ทว่า ระยะหลัง บริษัทเครื่องดื่มแดน มังกรที่เติบโตก้าวกระโดด ทำให้ไทยเบฟ หลุดจาก 1 ใน 10 ไปบ้าง แต่ ยอดขาย ยังไม่หลุดกลุ่มผู้นำ Top 10 

ยิ่งกว่านั้น ในแง่การปักธง อาเซียน ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของบริษัท รวมถึงเบียร์ต้องเป็นเบอร์ 1 โตอย่างยั่งยืน  

 การเติบโตของธุรกิจยังปลดล็อคเพิ่มมูลค่าหุ้นให้ผู้ถือหุ้น เสริมความมั่งคั่ง รวมถึงนักลงทุนหน้าใหม่ที่มองหาโอกาสจากการลงทุน  สามารถยืดหยุ่นและกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนมาสู่ไทยเบฟหรือเลือกลงทุนใน “BeerCo Group” หรือจะเลือกลงทุนทั้ง 2 บริษัทได้ 

เหตุผลข้อนี้ ย้ำ Passion 2025 ของไทยเบฟอย่างมาก โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การ “Unlock Value” ที่ประกาศไว้ จะเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น เพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ นอกเหนือจากการสร้างความแข็งแกร่งในเวทีการแข่งขัน ทั้งเป็นผู้นำตลาดในไทย เมียนมา เวียดนาม, การบริการพอร์ตโฟลิโอสินค้าฯ  และการสร้างนวัตกรรม ทั้งด้านสินค้า ช่องทางจำหน่าย การบริการ ให้ล้ำกว่าอาเซียน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม แม้จะแยกธุรกิจเบียร์ออกมาระดมทุน "ไทยเบฟ" ยังคงถือหุ้นใหญ่เช่นเดิมด้วย ตามสไตล์การทำธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ ที่ความเป็นเจ้าของ มีอำนาจในมือเต็มเปี่ยม แต่ก็เปิดทางให้นักลงทุนเข้ามาถือหุ้นได้ 

++ ไทยเบฟเบอร์ 1 เบียร์อาเซียน  

ปิดปี 2563(ปีงบประมาณ ..62-..63) ไทยเบฟ มียอดขายรวม 253,481 ล้านบาท หดตัวลง 5.2% เพราะพิษสงโควิด-19 แต่กำไรสุทธิอยู่ที่ 26,065 ล้านบาท ลดลง 0.1% เท่านั้น  ทั้งนี้ โครงสร้างรายได้ โดยเฉพาะกำไรมาจากสุรา มากสุดถึง 84.5% ที่เหลือเป็นเบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร หากแบ่งยอดขาย สุราอยู่ที่ 117,297 ล้านบาท กำไรสุทธิ 22,271 ล้านบาท ส่วน เบียร์ สร้างยอดขาย 106,871 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,519 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหาร 

สำหรับพอร์ตโฟลิโอเบียร์ ของไทยเบฟ มีหลากหลายแบรนด์ แต่ที่ถูกผนวกอยู่ภายใต้ BeerCo Group มีแบรนด์ทำตลาดในไทย คือ ช้าง เจาะเซ็กเมนต์สแตนดาร์ดเฟดเดอร์บรอย เซ็กเมนต์พรีเมี่ยม, อาชา และเซ็กเมนต์อีโคโนมีหรือตลาดล่าง  และมีเบียร์ Saigon, 333 จากซาเบโก้ เวียดนามมาอยู่ในพอร์ต 

ไทยเบฟ หลังการควบรวมกับซาเบโก้ ได้ก้าวเป็นผู้นำตลาดเบียร์ในอาเซียน มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ส่วนแนวโน้มตลาดเบียร์ยังคงโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาด เวียดนามจากประชากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งจะส่งผลต่อบริโภคสินค้าอีกมหาศาล ยิ่งกว่านั้นเวียดนามเป็นตลาดเบียร์ใหญ่สุดเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในอาเซียน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทีมบริหารเชื่อในการขยายตลาดไปสู่เวียดนาม

++ทีมงานขั้นเทพ

สำหรับบอร์ดและทีมบริหารจัดการที่มากความสามารถ คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมเบียร์มาอย่างยาวนาน มีหลายท่าน เช่น  Mr. Koh Poh Tiong ซึ่งเป็นทั้งประธานบอร์ดของซาเบโก้ เวียดนาม และเฟรเซอร์แอนด์นีฟ(เอฟแอนด์เอ็น), ฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะทายาทธุรกิจเหล้าเบียร์ อยู่ในแวดวงมาตลอดชีวิตสิทธิชัย ชัยเกรียงไกร ขุนคลังข้างกายไทยเบฟมานาน, ดร.พิษณุ วิเชียรสรรค์ หนึ่งในคนสำคัญที่บุกเบิกโรงงานเบียร์, โฆษิต สุขสิงห์ และ ประภากร ทองเทพไพโรจน์ ขุนพลข้างกายทำตลาดเหล้าเบียร์ของฐาปนและ เลสเตอร์ ตัน  แม่ทัพใหม่คุมธุรกิจเบียร์ของไทยเบฟ ทีมีประสบการณ์ในตลาดเบียร์กว่า 20 ปี จากการดูแลไทเกอร์ เบียร์ 

161255707764

เลสเตอร์-ประภากร-โฆษิต 

เห็นรายชื่อแล้ว จึงการันตีสิ่งที่ไทยเบฟย้ำว่า ผู้บริหารมากฝีมือ มากประสบการณ์ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเบียร์ภายใต้ BeerCo Group ครองบัลลังก์เบอร์ 1 อย่างแข็งแกร่งยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ที่เป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่โตเร็วสุดในโลก

อย่างไรก็ตาม การแยกธุรกิจเบียร์จดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ยังทำให้ตลาดมีสภาพคล่องมากขึ้น ดึงดูดนักลงทุน จากที่ผ่านมา SGX มีสภาพคล่องต่ำ เพราะการซื้อขายหุ้นล้วนเป็นกองทุน สถาบัน ต่างจากตลาดหลักทรัพย์ของไทยที่เป็น “รายย่อย” เข้ามาลงทุนกันอย่างคึกคัก