'บลูมเบิร์ก' สะท้อนภาพชัด! 'เอ็นไอเอ' ชี้ ไทยเร่งปรับสู่ 'อุตสาหกรรม4.0-จดไอพี-STEM'

'บลูมเบิร์ก' สะท้อนภาพชัด! 'เอ็นไอเอ' ชี้ ไทยเร่งปรับสู่ 'อุตสาหกรรม4.0-จดไอพี-STEM'

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาแวดวงระบบนวัตกรรมไทย ‘บลูมเบิร์ก’ หน่วยงานชั้นนำระดับโลกด้านข่าวสารและข้อมูลด้านธุรกิจ มีการจัดอันดับนวัตกรรม 'Bloomberg Innovation Index' ผลปรากฏว่าในปี 64 นี้ ไทยขยับขึ้น 4 อันดับ จากลำดับที่ 40 สู่ลำดับที่ 36 จาก 60 ประเทศ

ซึ่งถือได้ว่าไทยเป็นลำดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ตามหลังสิงคโปร์ (ครองอันดับ 2) มาเลเซีย (ครองอันดับ 29) และเวียดนาม (อันดับ 55) ตามมาเป็นลำดับที่ 4 โดยมิติที่ประเทศไทยได้รับการปรับขึ้นอย่างน่าสนใจ ได้แก่ มิติด้านสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D intensity) ที่กระโดดขึ้นถึง 8 อันดับ จากอันดับที่ 40 เป็นอันดับที่ 36 และมิติด้านสัดส่วนนักวิจัย (Researcher Concentration) ที่ขยับขึ้น 3 อันดับ จาก 48 เป็น 45 ซึ่งสัมพันธ์กับมิติด้านมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมการผลิต ที่ประเทศไทยคงที่อยู่ในอันดับที่ 18 จาก 60 ประเทศ แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญสำหรับภาคการผลิตก็คือ ผลิตภาพการผลิต ที่นอกจากประเทศไทยจะอันดับลดลงไป 1 อันดับ จากอันดับที่ 51 ตกไปเป็นอันดับที่ 52 แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าอันดับของประเทศไทยก็อยู่ในอันดับท้าย ๆ จาก 60 ประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิการผลิตของแรงงาน (GDP and GNI per employed person) ที่เราต้องเร่งพัฒนา

ในขณะที่มิติด้านอื่นๆมีอันดับคงที่หรือปรับตัวลงเล็กน้อย ซึ่งตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึง “โอกาส” ของประเทศไทย และบทบาทสำคัญของการผลักดันในด้านนี้ 

161251143868

ขณะเดียวกันการจัดลำดับของประเทศนวัตกรรมนั้น ใช้เกณฑ์ทั้งหมด 7 ด้านได้แก่ 1.สัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D Intensity) 2.มูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing Value-added) 3. ผลิตภาพการผลิต (Productivity) 4.จำนวนบริษัทมหาชนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (High-tech Density)  5.จำนวนนักศึกษาและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ (Tertiary Efficiency) 6. สัดส่วนนักวิจัย (Researcher Concentration) และสุดท้าย 7.ความเคลื่อนไหวด้านสิทธิบัตร (Patent Activity) จะเห็นได้ว่ามิติการประเมินเหล่านี้ให้ความสำคัญกับศักยภาพของประเทศใน 3 ด้าน ได้แก่ ศักยภาพด้านองค์ความรู้ ศักยภาพด้านการผลิต และศักยภาพด้านเทคโนโลยีขั้นสูง

ด้าน พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ เปิดเผยถึงประเด็นนี้ว่า จากผลการจัดอันดับสะท้อนให้เห็นศักยภาพด้านนวัตกรรมของแต่ละประเทศในเวทีสากล ดังนี้ “คุณภาพ” สำคัญกว่า “ขนาด” – 8 จาก 10 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุด ล้วนเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วขนาดเล็ก ที่เน้นการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา กำลังคน และเทคโนโลยีการผลิต ลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมอนาคต – ประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันอย่าง อเมริกา และ จีน แม้จะไม่ได้ติด 10 อันดับสูงสุด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ 2 ประเทศนี้มีมิติด้านจำนวนบริษัทมหาชนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และมิติด้านความเคลื่อนไหวด้านสิทธิบัตร อยู่ในอันดับต้น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสสำหรับการแข่งขันและเติบโตในอนาคต

"และเมื่อไม่นานมานี้จากผลการจัดอับดับดัชนีนวัตกรรมโลก หรือ Global Innovation Index (GII) เป็นการรวบรวมประเทศทั่วโลกกว่า 131 ประเทศเข้ามาอยู่ใน Chart เพื่อวิเคราะห์และดูพัฒนาการทางนวัตกรรม ซึ่งในปี 2563 ประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับอยู่ที่ 44 และเมื่อดูย้อนหลังจนถึงปี 2559 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 52 ซึ่งเพิ่มขึ้น 8 อันดับ อีกทั้งประเทศไทยยังเคยเพิ่มขึ้นสูงสุดในโลกในสองปีที่ผ่านมา นับเป็นการก้าวกระโดดที่สำคัญทางนวัตกรรม อันมีผลมาจากการผลักดันการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้เอ็นไอเอถือเป็นส่วนเล็กๆ ในการพัฒนารวมทั้งองค์กรภาคี หลากหลายภาคส่วนจากภาครัฐ และเอกชน จึงถือเป็นครั้งแรกในปี 2563 ที่ประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับหนึ่งในดัชนีนวัตกรรมโลกถึง 2 ดัชนีย่อย คือ 1.ดัชนีชี้วัดการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ซึ่งไทยถือเป็นอันดับ 1 ของโลก 2.ค่าใช้จ่ายมวลรวมในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นการลงทุนต่อยอดสำหรับนวัตกรรมโดยภาคองค์กร ธุรกิจ เอกชน"

ซึ่งจากการจัดอันดับทั้งของ GII และบลูมเบิร์ก ที่ได้มีการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมสามารถมองได้หลายมุม ซึ่งสิ่งที่พูดถึงเรื่องของการลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ หมายความว่า ทั้งบลูมเบิร์กและ GII มีหลายตัวแปร ซึ่งตัวแปรหนึ่งที่ประเทศไทยเพิ่มสัดส่วนการลงทุน (ไม่ได้หมายความว่าลงทุนเป็นมวลเงินจำนวนมาก แต่จะมองในส่วนของการลงเงินจากภาคเอกชน กับภาครัฐ) ซึ่งความคิดทั่วโลกคือ เอกชนต้องนำ เพราะฉะนั้นหากสัดส่วนเอกชนสูงที่สุดก็จะมีการจัดอันดับให้อยู่อันดับ 1 ซึ่ง GII จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 1 จาก 131 ประเทศในปีนี้ เพราะเอกชนมีสัดส่วนการลงเงินด้านอาร์แอนด์ดีสูงกว่ารัฐบาลเป็นสัดส่วนมากที่สุดในโลก แต่ไม่ได้ลงเงินเป็นสัดส่วนจีดีพีสูงที่สุดในโลก

อีกหนึ่งตัวแปร คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมที่ลงไปในงานวิจัยและพัฒนา ประเทศไทยโตจาก 0.2% เป็น 1% คือตัวแปรที่วัดที่ดีขึ้น และสามที่ดีขึ้นทั้ง บลูมเบิร์ก และ GII คือ การนำสัดส่วนนักวิจัยและพัฒนาที่อยู่ในภาคเอกชน หรือภาครัฐ มารวมเป็นสัดส่วนประชากร โดยเรียกว่าอัตราส่วนนักวิจัยต่อประชากรสูงขึ้นเป็นลำดับ เพราะฉะนั้นการสร้างกำลังคนรวมทั้งการสร้างเด็กที่อยู่ในสาย STEM ยังตามหลังหลายประเทศ ฉะนั้นตัวบ่งชี้ที่พูดถึงต้องอย่ามองถึงเรื่องของสัดส่วนของอาร์แอนด์ดีเพียงอย่างเดียว ซึ่งประเทศไทยยังมีตัวที่ต้องเร่งและใช้เวลานานอย่างน้อย 3-4 ปี อัตราส่วนที่อยู่ในด้าน STEM และเป็นสตาร์ทอัพได้นั้นมีจำนวนน้อย

161251161936

และอัตราส่วนที่บลูมเบิร์กทำการชี้วัดอีกตัวที่ต่างจาก GII คือ 5 ปีที่ผ่านมาจากการจัดอันดับ บริษัทด้านเทคโนโลยีของไทยไม่เพิ่มขึ้น และอยู่คงที่ นั่นหมายความว่าประเทศไทยมีผู้เล่นที่ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ บริษัทขนาดกลางขนาดใหญ่ที่ทำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีไม่เพิ่มขึ้น แสดงว่าต่อให้ลงทุนอาร์แอนด์ดีสูงหากไม่มีสตาร์ทอัพหรือบริษัทใหม่ๆ ที่มีอยู่แล้วตัดสินใจลงทุนทำทางด้านเทคโนโลยีเยอะขึ้นก็จะไม่โต จากการที่เอ็นไอเอได้มีการมอนิเตอร์มา 3-4 ปี บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ หรือสตาร์ทอัพ เริ่มหันมามองเรื่องเทคโนโลยี และดีพเทคมากขึ้น ฝั่งคอร์ปอเรท หรือ VC เริ่มสนใจลงทุนในบริษัททางด้านการแพทย์หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้การลงทุนต่อหน่วย/บริษัท (Ticket Size) ใหญ่ขึ้นเป็นหลักสิบถึงร้อยล้านแต่จำนวนของการลงทุนไม่ได้เยอะขึ้น นั่นแสดงว่าหน้าที่หลักที่เอ็นไอเอจะต้องทำคือ เพิ่มบริษัทสตาร์ทอัพรุ่นใหม่เข้ามาในตลาด ไม่เช่นนั้นอัตราส่วนเหล่านี้ก็จะไม่เพิ่มในดัชนีนวัตกรรมทั้ง GII , IMD และบลูมเบิร์ก

เพราะฉะนั้นในการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมของบลูมเบิร์กสามารถสรุปได้ 3 ข้อดังนี้ 1.จาก 7 มิติที่ทำมาประเทศไทยอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตยุคเก่า ไทยได้อันดับที่ 18 ของโลก จาก 60 ประเทศ นั่นคือสินค้าที่มาจากการผลิต value added ยังมีมาจากสินค้าสร้างสรรค์  การส่งออก การประกอบ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่เมื่อมีอีกตัวมาประกบนั่นคือ ผลิตภาพ ไทยอยู่อันดับที่ 52 เวียดนามอยู่อันดับที่ 59 จาก 60 ประเทศเพราะฉะนั้นชี้ชัดได้ว่าเวียดนามแซงไทยนั้นเป็นไปไม่ได้  หมายความว่าไทยจะต้องเร่งผลักดันในส่วนของอุตสาหกรรม 4.0 นวัตกรรมกระบวนการ ด้านโรโบติก ระบบอัตโนมัติมากขึ้น อีกทั้งอุตสาหกรรมห่วงโซ่คุณค่าของไทยต้องปรับสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพราะฉะนั้นเกณฑ์โปรดักท์ของไทยยังแข่งขันได้แม้ผลิตภาพไม่ได้ก็ตาม

เพราะฉะนั้นประเด็นแรกที่เห็นได้ชัด และต้องมีการวางกลยุทธ์สำคัญดังต่อไปนี้

1.ยกระดับอุตสาหกรรม ปรับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต้องใช้เทคโนโลยีกระบวนการเยอะขึ้น 2.เชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่นวัตกรรม แม้ว่าจะมีอันดับที่ดีขึ้น แต่อันดับด้านสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D Intensity) (อันดับ 36) สัดส่วนนักวิจัย (Researcher Concentration) (อันดับ 45) และความเคลื่อนไหวด้านสิทธิบัตร (Patent Activity) (อันดับ 35) ก็ยังถือว่าไม่สูงเท่าไหร่ ซึ่งทั้ง 3 มิตินี้สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการลงทุนและการใช้ประโยชน์งานวิจัย

161251169768

3.สร้างศักยภาพแห่งอนาคต (Future Competency) – มิติด้านจำนวนวิสาหกกจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึก (Deeptech) และบริษัทมหาชนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (High-tech Density) (อันดับ 33) และจำนวนนักศึกษาและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ (Tertiary Efficiency) (อันดับ 30) เป็นมิติที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของการเติบโตในอนาคต เพราะระบบเศรษฐกิจในยุคหน้าจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้นการพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนามีเด็กเรียนในด้าน STEM ดังนั้นต้องมีการผลักดันให้สตาร์ทอัพ บริษัทด้านเทคโนโลยีลงทุนด้านเทคโนโลยีเยอะขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ในระยะกลาง ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เอ็นเอไอวิเคราะห์ได้จากบลูมเบิร์กในการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรม

ทั้งนี้เมื่อถามถึง ค่าใช้จ่ายด้านนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มดัชนีนวัตกรรมได้ พันธุ์อาจ กล่าวว่า การที่จะเปลี่ยนวิธีคิดหรือตั้งโมเดลธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอี ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนเยอะแต่ต้องใช้กลุ่มคน แรงผลักดันซึ่งเป็นเรื่องของเครือข่าย จึงต้องเป็นเรื่องของรูปแบบการทำงานร่วมกัน เชื่อมกลุ่มที่ทำนวัตกรรม กับกลุ่มที่ใช้นวัตกรรม ที่ไม่ใช่บริษัทในประเทศไทยอย่างเดียว อาจจะเป็นทั้งประชาชน บริษัทต่างประเทศ ให้ยอมรับแบรนด์บริษัททางด้านนวัตกรรมของไทย

สุดท้ายนี้เอ็นไอเอกำลังจะนำเสนอกับทางรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทางส่วนของ GII IMD และบลูมเบิร์ก จากการที่มีฐานข้อมูลจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการทำนวัตกรรมฐานข้อมูล หรือ Data driven Innovation : DDI โดยเป็นหน่วยงานบูรณาการด้านข้อมูลนวัตกรรมหรือสารสนเทศนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริบทเหล่านี้ เพื่อช่วยทำให้อันดับทางดัชนีนวัตกรรมของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น จากการสำรวจมีการประชุมร่วมกันทั้งหน่วยงานเอกชนรัฐที่ถือข้อมูล บางข้อมูลไม่อัพเดต ดังนั้นหากมีการจัดทำ Data cleansing หรือการทำข้อมูลให้สมบูรณ์ อันดับอาจจะดีขึ้นซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอรัฐมนตรีฯ หากเห็นชอบก็จะมีการเสนอเข้า ครม.ในลำดับต่อไป ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม”  ได้อีกทางหนึ่ง