‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘อ่อนค่า’ที่30บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘อ่อนค่า’ที่30บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยง คาดเงินบาทและสกุลเงินเอเชียต่างๆ จะทรงตัวได้ถ้าตลาดหุ้นปรับตัวบวกตามฝั่งสหรัฐ และนักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะจับตาไปที่การรายงานตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐในคืนนี้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.09 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.050 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.97-30.17 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเข้าสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ในคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปรับตัวขึ้น 1.09% โดยมีทั้งแรงหนุนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น โดยล่าสุดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (U.S. Initial Jobless Claims) ปรับตัวลงสู่ระดับ 7.79 แสนตำแหน่ง ทำให้ตลาดเชื่อว่ารายงานตัวเลขการจ้างงานในวันนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงบวก

ขณะเดียวกัน ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปก็ปิดบวก 0.62% จากแรงหนุนของ ตลาดหุ้นเยอรมันและฝรั่งเศส ซึ่งทั้งหมดกดดันให้ดัชนีวัดความกลัวอย่าง VIX Index กลับลงมาที่ระดับ 21.7จุด ต่ำที่สุดในรอบสองสัปดาห์

ภาพดังกล่าวส่งผลให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 1.14% สูงที่สุดในรอบสามสัปดาห์ ส่วนต่างระหว่างยีลด์สหรัฐอายุสามสิบและห้าปีขยับขึ้นมาที่ 148bps สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 Dollar Index ก็แข็งค่าขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยตลาดมีมุมมองว่าการลงทุนในสหรัฐที่มีทั้งเทคโนโลยี และการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าสนใจกว่าทั่วโลก โดยมีเพียงปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่แข็งค่าขึ้นหลังธนาคารกลาง (BOE) “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.10% พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบในอนาคต

ด้านเงินบาทกลับมาอ่อนค่าไปพร้อมกับสกุลเงินเอเชียจากการฟื้นตัวของดอลลาร์ในช่วงนี้ เชื่อว่าดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าต่อไปถ้าตลาดหุ้นสหรัฐสามารถขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ได้ อย่างไรก็ดี ในวันนี้คาดว่าเงินบาทและสกุลเงินเอเชียต่าง จะทรงตัวได้ถ้าตลาดหุ้นปรับตัวบวกตามฝั่งสหรัฐ และนักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะจับตาไปที่การรายงานตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐในคืนนี้

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.00-30.15 บาทต่อดอลลาร์สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท  เรามองว่า ตลาดจะรอจับตารายงานยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันนี้ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองอย่างชัดเจน

ซึ่ง หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯล้วนออกมาดีเกินคาดต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้ ในระยะสั้น ผู้เล่นในตลาดทยอยลดสถานะ “Reflation Trades” หรือการที่ผู้เล่นต่างเก็งว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงตามการฟื้นตัวของประเทศอื่นๆและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องของสหรัฐฯ ซึ่งการลดสถานะ Reflation trades ดังกล่าว จะช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เนื่องจากผู้ส่งออกต่างรอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับ 30.05-30.15บาทต่อดอลลาร์  ดังนั้น หากตลาดไม่ได้มีแนวโน้มปิดรับความเสี่ยงที่ีรุนแรง จนเกิดแรงเทขายสินทรัพย์ไทยและมีฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออกสุทธิจำนวนมาก เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ +/- 15 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์หรือฟันด์โฟลว์ชัดเจน

ตลาดโดยรวมยังคงเปิดรับความเสี่ยง จากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้รับแรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ซึ่งล้วนออกมาดีกว่าคาด และแนวโน้มการผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯภายในไตรมาสที่ 1 ทำให้ตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ ล้วนปรับตัวขึ้นเกินกว่า 1% โดยเฉพาะดัชนีหุ้นขนาดเล็กRussell2000 ก็พุ่งขึ้นเกือบ 2% จากความหวังเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่เพิ่มขึ้นเพียง 7.8แสนราย ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 8.3 แสนราย

ด้านฝั่งยุโรป ดัชนี stoxx50 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องราว 0.9% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นกว่า 1.7% จากตลาดหุ้นอิตาลี (ดัชนีFTSE MIB) หลังตลาดมีความหวังต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจอิตาลีมากขึ้น หากนายมาริโอ้ ดรากิ อดีตประธาน ECB สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดจะเปิดรับความเสี่ยง ทว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ กลับทรงตัวที่ระดับ 1.14% เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนก็มีท่าทีที่ระมัดระวังตัวต่อการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้น ทำให้ยังคงมีความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยไว้ป้องกันความผันผวนของตลาด ทั้งนี้ ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 30ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น จนส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 30ปี กับ 5ปี เพิ่มขึ้นแตะระดับสูง 1.47% สุดนับตั้งแต่ปี 2015  นอกจากนี้ แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯที่โดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่นๆ ก็หนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดย ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นกว่า 0.4% และเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 91.5 จุด  ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.197 ดอลลาร์ เช่นเดียวกับ เงินเยนที่อ่อนค่าสู่ระดับ 105.6 เยนต่อดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1.367 ดอลลาร์ หลังธนาคารกลางอังกฤษคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมกับส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น จากการแจกจ่ายวัคซีน

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจดังนี้ เริ่มจากในฝั่งสหรัฐฯ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 แสนราย สอดคล้องกับยอดการจ้างงานนอกภาคเอกชนโดยADP ก่อนหน้านี้ ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 1.8 แสนราย ส่วนอัตราการว่างงานก็จะอยู่ที่ระดับ 6.7% สะท้อนภาพการจ้างงานที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นและย้ำว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะสามารถเร่งตัวขึ้นได้ หากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่หรือวัคซีนแจกจ่ายได้เร็วขึ้น (อัตราการแจกจ่ายวัคซีนอยู่ที่ 1.34ล้านโดสต่อวัน ล่าสุด คนอเมริกันได้รับวัคซีน 2 โดสราว 2%ของประชากรทั้งหมด ซึ่งควรเกินกว่า 70% สำหรับการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ )

และในฝั่งเอเชีย เรามองว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) อาจลดดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 3.75% เพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เนื่องจาก RBI ยังมีกระสุนในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะเดียวกัน การลดดอกเบี้ยนโยบายก็จะช่วยคุมต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลและปรับให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวลงมาได้ทั้งเคิร์ฟ ลดทอนผลกระทบจากการกู้เงินจำนวนมากเพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังของรัฐบาล นอกจากนี้ หากมีการลดดอกเบี้ยลงจริง ก็อาจช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวขึ้นต่อได้ ในระยะสั้น

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะติดตามความคืบหน้าของกระบวนการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ EBay และ PayPal เป็นต้น