ประชาธิปไตยไทยถดถอย-ไต้หวัน-ญี่ปุ่นอันดับดีขึ้น

ประชาธิปไตยไทยถดถอย-ไต้หวัน-ญี่ปุ่นอันดับดีขึ้น

ประชาธิปไตยไทยถดถอย รวมถึงด้านที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อฝ่ายค้านและการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ขณะไต้หวัน-ญี่ปุ่นอันดับดีขึ้น

สถาบันวิจัยอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต(อีไอยู)เผยแพร่ดัชนีประชาธิปไตยประจำปี 2020 หรือ 2563 บ่งชี้ว่าไทยได้คะแนน 6.04 คะแนน อยู่ที่อันดับ 73 ของโลก และอันดับที่ 14 ของภูมิภาค โดยมีคะแนนด้านกระบวนการการเลือกตั้งและความเป็นพหุนิยม 7.00 คะแนนคะแนนการทำงานของรัฐบาล 5.00 คะแนนคะแนนการมีส่วนร่วมทางการเมือง 6.67 คะแนนคะแนนวัฒนธรรมการเมือง 6.25 คะแนนและคะแนนเสรีภาพของพลเมือง 5.29 คะแนน

รายงานดัชนีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คะแนนของไทยปี 2563 หลายด้านถอยหลัง รวมถึงด้านที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อฝ่ายค้านและการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

ส่วนดัชนีประชาธิปไตย ปี 2562 ไทยได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์จากที่อยู่กลุ่มประเทศกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยติดต่อกัน 5 ปี โดยได้คะแนน 6.32 เพิ่มขึ้นจาก 4.63 คะแนนในปีก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีการจัดการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกหลังจากที่มีการรัฐประหารในเดือนพ.ค. 2557

ในดัชนีประชาธิปไตยประจำปี 2563ไต้หวัน ได้รับการจัดอันดับดัชนีประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น 20 อันดับมาอยู่อันดับที่ 11 ของโลก และติดท็อปใน 3 ประเทศแรกของภูมิภาคเอเชีย จะเห็นว่า ไต้หวันแซงหน้าญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นกลุ่มประชาธิปไตยเต็มใบ เนื่องจากความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลดีขึ้นในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา

ส่วนฮ่องกง อันดับร่วงลง 12 อันดับกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยลูกผสม หรือ กึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยแทนที่จะเป็นประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ มีคะแนนเฉลี่ยระดับภูมิภาคลดลงในปี 2563 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19)

การจัดทำดัชนีประชาธิปไตยของอีไอยู ประเมินจากเกณฑ์ 5 ด้าน คือ1.กระบวนการการเลือกตั้งและความเป็นพหุนิยม 2.การทำงานของรัฐบาล 3.การมีส่วนร่วมทางการเมือง 4.วัฒนธรรมการเมือง และ 5.เสรีภาพของพลเมือง

ขณะที่ดัชนีประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี2563 แย่ลง โดยเฉพาะในมาเลเซีย เสถียรภาพทางการเมืองย่ำแย่ นับตั้งแต่ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือน มี.ค. 2563 แต่กระบวนการเลือกตั้งและความเป็นพหุนิยมที่ดีขึ้น ส่งผลให้สถาบันทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ด้านสิงคโปร์ ยังคงเป็นประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ แม้คะแนนลดลงเกือบจะต่ำกว่า 6.00 ซึ่งเป็นเกณฑ์ในกลุ่ระบอบการปกครองลูกผสมและแม้คะแนนรวมในปี 2563 ดีขึ้น และข้อจำกัดในกระบวนการทางการเมืองยังคงมีอยู่ แต่มีการพัฒนาเชิงบวกในแง่การแข่งขัน พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party) สูญเสียที่นั่งจำนวนมากในการเลือกตั้ง และฝ่ายค้านพรรคแรงงาน(Worker’s Party) ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นกลุ่มของฝ่ายค้านในรัฐสภา

ในเมียนมา พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี)กลับมาอีกครั้งในเดือนพ.ย.ปี2563หลังจากที่ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำโดยพฤตินัย นำพรรคคว้าชัยในการเลือกตั้งระดับชาติ แต่ประเทศนี้ก็ไม่ได้เข้าใกล้การเป็นประชาธิปไตยที่เปิดกว้างและทั่วถึงมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน

รายงานจัดทำดัชนีประชาธิปไตยของอีไอยู ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยในหลายภูมิภาคไม่ได้แข็งแกร่งมาระยะหนึ่งแล้ว โดยในปี 2563 ความแข็งแกร่งของประชาธิปไตยถูกทดสอบมากขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 คะแนนเฉลี่ยดัชนีประชาธิปไตยปี 2563 ทั่วโลกลดลงจาก 5.44 ในปี 2562 เหลือ 5.37 และนับเป็นคะแนนระดับโลกที่แยะที่สุด นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีครั้งแรกในปี 2549

การปรับตัวลดลงของคะแนนทั่วโลกในปี 2563 มาจากคะแนนเฉลี่ยระดับภูมิภาคที่ลดลงในทุกแห่งของโลก โดยเฉพาะการลดลงอย่างมากของภูมิภาคแอฟริกาทางตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ที่ถูกระบอบเผด็จการครอบงำ โดยคะแนนลดลง 0.10 และ 0.09 ตามลำดับระหว่างปี 2562 ถึง 2563

“โจน โฮอี้” บรรณาธิการของรายงานดัชนีประชาธิปไตยประจำปีของอีไอยู กล่าวถึงการที่เอเชียมีประเทศที่มีประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ 3 ประเทศในปี2563 และยุโรปตะวันตกที่มีประเทศที่หลุดออกไป 2 ประเทศคือฝรั่งเศสและโปรตุเกส เป็นการจัดอันดับที่เหมาะสม เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เร่งเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของโลกจากตะวันตกไปสู่ตะวันออก