จับตา9ก.พ.สภาฯถกพ.ร.บ.ตำรวจวาระแรก กมธ.ตร.จี้'วิษณุ'แจงเนื้อหา

จับตา9ก.พ.สภาฯถกพ.ร.บ.ตำรวจวาระแรก กมธ.ตร.จี้'วิษณุ'แจงเนื้อหา

จับตา9ก.พ.สภาฯถกพ.ร.บ.ตำรวจวาระแรก กมธ.ตร.จี้'วิษณุ'แจงเนื้อหา

ท่ี่รัฐสภา นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่าวันนี้ (4 ก.พ.) กมธ.ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกฤษฎีกา เข้าชี้แจงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ ที่เคยส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาหลายครั้ง ซึ่งกมธ.ได้ซักถามประเด็นข้อแตกต่างที่เกิดขึ้นในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่สำคัญต่อข้าราชการตำรวจ 2 แสนกว่าคน และมีความสำคัญต่อประชาชนในการได้รับความยุติธรรมเบื้องต้น กมธ.ย้ำว่า สตช. และกฤษฎีกา ต้องมีความชัดเจนในประเด็นต่างๆ ซึ่งวันนี้การทำหน้าที่ของกมธ.สมบูรณ์แบบแล้ว

ทั้งนี้ เชื่อว่าวันที่ 9 ก.พ.นี้ ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว การชี้แจงของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจของส.ส. ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะหากชี้แจงไม่ได้ก็เชื่อว่าส.ส.คงไม่ให้ผ่าน

"ประเด็นไหนที่สมควรแก้ไขสามารถแก้ไขได้ในชั้นกมธ.วิสามัญฯ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าประเด็นที่ควรแก้ไขยังมีหลายประเด็น เพราะยังไม่ตอบโจทย์ว่าแก้แล้วประชาชนจะได้อะไร ส่วนใหญ่เป็นความก้าวหน้าของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้น เมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ผมมั่นใจว่าส.ส.จะลุกขึ้นอภิปรายอย่างกว้างขวาง" นายณัฏฐ์ชนน กล่าว

โฆษกกมธ.ตำรวจ กล่าวด้วยว่า วันพรุ่งนี้ (5 ก.พ.) กมธ.ตำรวจ จะเชิญตัวแทนสตช. และผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กรณีมีการร้องเรียนบัตรสนเท่ห์ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 (ผบก.ตชด.) ถูกร้องเรียนบกพร่องทุจริตในหน้าที่ โดยผบ.ตร.มอบหมายให้จเรตำรวจสอบสวน ซึ่งกรณีนี้หากตำรวจผิดก็จะมีการลงโทษทางวินัยและอาญา แต่ถ้ามีผู้ส่งบัตรสนเท่ห์ปลอมก็จะมีการสอบสวนหาบุคคลที่ใช้วิธีการทำลายองค์กรตชด.ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพระราชบัญญัติ พ.ศ. …. เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ   พ.ศ. 2537 ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่19ม.ค.2564 ก่อนถูกเสนอต่อมายังสภา ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258  ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม

ร่างดังดล่าวมีวาระสำคัย อาทิให้หน้าที่และอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ไว้เช่นเดิม แต่มีการกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตช. ได้แก่ ภารกิจของกองบังคับการตำรวจรถไฟ ภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภารกิจงานจราจรเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการจราจร การกวดขันวินัยจราจร และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกในความผิดฐานจอดรถโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไปให้แก่ส่วนราชการ

ส่วนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งคำนึงถึงความอาวุโสในการดำรงตำแหน่ง ความรู้ความสามารถที่มีผล ต่อการปฏิบัติงาน และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับเป็นต้น