การจัดวางสินค้าและส่งเสริมการขายสีเขียว

การจัดวางสินค้าและส่งเสริมการขายสีเขียว

จัดวางสินค้าและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าสีเขียวแล้ว การรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานและผู้บริโภคก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของการค้าปลีกสีเขียว

ในส่วนของการจัดวางสินค้าและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายภายใต้แนวคิด 'การค้าปลีกสีเขียว' (Green Retailing) จะให้ความสำคัญกับการจัดวางสินค้าสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในจุดที่ลูกค้าสามารถเห็นได้ง่าย หรือการจัดเป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับสินค้าสีเขียวที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสินค้าที่ใช้ประจำวันทั่วไปเพื่อให้สะดวกต่อการหยิบซื้อ รวมไปถึงการติดฉลากคาร์บอน (Carbon Labels) บนผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายภายในร้านค้าเพื่อระบุปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตและกระจายสินค้าของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ สำหรับประกอบการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค 

ปัจจุบัน ไฮเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่มีการเพิ่มกลุ่มสินค้าใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในชั้นวางมากขึ้น เช่น Kroger เพิ่มทางเลือกสินค้าที่ผลิตจากพืช (Plant-based) ซึ่งการผลิตสินค้าจากพืชสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการเลี้ยงสัตว์ได้ โดยจากผลสำรวจแนวโน้มการบริโภคสินค้าทดแทนพบว่า ลูกค้าให้ความสนใจกับสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น 23% 

Walmart ใช้เครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่ของตนเองในการทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าที่มีความยั่งยืนได้มากยิ่งขึ้น เช่น หลอดไฟประหยัดพลังงานที่เป็นนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ โดยให้หลักประกันกับซัพพลายเออร์ด้านขนาดพื้นที่ชั้นวางสินค้าที่เท่ากันหรือใหญ่กว่า ถึงแม้ว่าสินค้าเหล่านั้นอาจจะมีขนาดผลิตภัณฑ์ที่เล็กกว่าก็ตาม ในขณะที่ เทสโก้ โลตัส ได้จัดทำมุมสีเขียว (Green Corner) ให้บริการแก่ผู้บริโภคในบริเวณเทสโก้ โลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ตทุกสาขาทั่วประเทศ สำหรับจำหน่ายสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ เพื่อเป็นทางเลือกในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนโยบาย Zero Waste ที่ช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากพลาสติกที่ใช้ได้ครั้งเดียว

การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าสีเขียวมักอยู่ในลักษณะของการให้ส่วนลดหรือการให้คะแนนสะสมสำหรับการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าที่มียาฆ่าแมลงหรือสารเคมีในปริมาณต่ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การทำแคมเปญ “กรีนแบ็ค กรีนพอยท์” ซึ่งเป็นการมอบแต้มกรีนพอยท์พิเศษแก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าแล้วไม่รับถุงพลาสติก หรือการใช้คะแนนสะสมแลกซื้อเป็นถุงรักษ์โลก ที่ช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 27 ล้านใบ ในปี พ.ศ. 2557 รวมทั้งยังเป็นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการผลิตถุงพลาสติกอีกด้วย 

การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ได้มาจากซากของสิ่งมีชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการผลิตพลังงานและกิจกรรมการขนส่ง เป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในธุรกิจค้าปลีก รวมถึงก๊าซที่เกิดจากสารทำความเย็นที่ถูกปล่อยมาจากอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งส่งผลเสียต่อปัญหาโลกร้อน (Global Warming) ผู้ประกอบการค้าปลีกจึงให้ความสำคัญกับ การวัดค่าร่องรอยคาร์บอน หรือ 'Carbon Footprints' ตัวอย่างเช่น Marks & Spencer ได้ประเมินว่าร้อยละ 11 ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาจากการปฏิบัติการด้านโลจิสติกส์ ในขณะที่ Amazon ได้เปิดเผย Carbon Footprint ของตนเองเป็นครั้งแรกว่าในปี 2018 บริษัทได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 44.4 ล้านเมตริกตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการเผาไหม้น้ำมันเบนซินเกือบ 600,000 คันรถบรรทุกน้ำมัน ทำให้ Amazon อยู่ในกลุ่มผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันดับ 150-200 แรกของโลก ร่วมกับผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซ และผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรม

สำหรับนโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการใช้ร่องรอยคาร์บอน (Carbon Footprint) เทสโก้ โลตัส ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคเพื่อให้รู้จักฉลากคาร์บอนและเห็นความสำคัญของการเลือกซื้อสินค้าที่ติดฉลากคาร์บอนว่าเป็นสินค้าที่มีความใส่ใจเรื่องก๊าซเรือนกระจก โดย TGO ได้พัฒนาฉลากคาร์บอนขึ้น 2 รูปแบบ ได้แก่ ฉลากร่องรอยคาร์บอนของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product: CFP) และฉลากลดร่องรอยคาร์บอนของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint Reduction: CFR) หรือ ฉลากลดโลกร้อน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองได้ฉลากร่องรอยคาร์บอนของผลิตภัณฑ์กับ TGO ทั้งสิ้น 4,237 ผลิตภัณฑ์ จาก 618 บริษัท และฉลากลดโลกร้อน 674 ผลิตภัณฑ์ จาก 90 บริษัท

นอกจากการจัดวางสินค้าและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าสีเขียวแล้ว การรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานและผู้บริโภคก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของการค้าปลีกสีเขียว ซึ่งจะได้พูดถึงในคราวถัดไป