แซยิด 60 ปี 'อัญชลี วานิช เทพบุตร' เปิดตึกเก่า 100 ปี Gallery & Museum

แซยิด 60 ปี 'อัญชลี วานิช เทพบุตร' เปิดตึกเก่า 100 ปี Gallery & Museum

 Vanich Legacy Art Gallery &Museum งานมหัศจรรย์ศิลป์จากกลุ่มศิลปินอันดามัน และ “หง่อคาขี่ วิถี วานิช ชีวิตนายหัว” ตระกูล “วานิช” สะท้อนมุมมองแนวคิดปรัชญาชีวิต “นายหัว” ภูเก็ต

 อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี "อัญชลี วานิช เทพบุตร" สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปิดใจว่า ปีนี้ พ.ศ. 2564 เป็นปีแซยิดของตัวเอง ครองตน ครองใจ ยืนหยัดชีวิตมาได้ เพราะบุพการี บรรพชนผู้มีพระคุณ ป๋า แม่ อาก๊อง อาม่า ตระกูลวานิช เลยคิดทำของขวัญตอบแทนพระคุณ ตั้งใจเล่าเรื่องปรัชญาชีวิต ข้อคิดดีๆ ที่เคยเก็บเกี่ยวไว้ใช้ผ่านบ้านหลังนี้ สิ่งของเครื่องใช้ของบรรพบุรุษ 2 เจนเนอเรชั่น นายหัว อันเป็นที่รักและเป็นความภาคภูมิใจของตัวเอง

“เถ้าแก่เจียร” และ ”นายหัวเอกพจน์” รวมทั้งเพื่อนพ้อง น้องพี่กัลยาณมิตร ผู้มีพระคุณ ภายใต้บทชีวิต “หง่อคาขี่ วิถี วานิช ชีวิตนายหัว” มีความหมายว่า “ “หง่อคาขี่” ทางเชื่อมแห่งกาลเวลา “วิถี วานิช” เส้นทางการทำงานแบบวานิช (พ่อค้า)ของตระกูล”วานิช” ชีวิตนายหัวของพังงา & ภูเก็ต”

161236272919

โดยการนำตึกเก่าอายุกว่า 100 ปี บ้านเลขที่ 48 ถนนภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต อดีตเป็นที่ตั้งบริษัท เจียรวานิช จำกัด HUP HUAT COXMPANY LTD ที่อาก๊องเจียร (นายหัวเจียร วานิช) สร้างอาคารสำนักงานเป็นตึก 2 ชั้น สถาปัตยกรรมอาคารแบบปีนังในยุค 2485 ออกแบบเพื่อคนทำงาน คือ ด้านล่างเป็นอาคารสำนักงาน ด้านในเป็นจิมแจ้ ลานซักผ้าริมบ่อน้ำ มีครัว ห้องทานข้าว ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัยห้องนอน ห้องสันทนาการ มีระเบียงไว้สูบบุหรี่ ชมจันทร์

อาคารในยุคนั้นจึงกว้างและยาวเป็นพิเศษ คือ 5 x 50 เมตร มาปรับปรุงทำเป็น Gallery & Museum ภายใต้ชื่อ Vanich Legacy Art Gallery &Museum ศูนย์ศิลป์ เพื่อนๆ ผู้ที่อิ่มเอมในประวัติศาสตร์และศิลปะได้มาเยี่ยมชมกัน ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 17.00 น. เชิญชวนน้อง เพื่อนพ้องแวะมาเที่ยว มาแต่ตัวกับหัวใจแล้วมาจับจ่ายงานศิลป์ในงาน เพื่อนำรายได้สมทบสร้างศาลหลักเมืองภูเก็ต

Vanich Legacy..Art Gallery &Museum แห่งนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์จะแบ่งเป็น 2 โซน คือ ชั้นล่าง เป็นห้องทำงานของอาก๊องเจียร มีตู้เซพโบราณ ที่คลาสิกมากอยู่ 2 ตู้ ซึ่งเคยตั้งอยู่ที่ชั้นล่างของบริษัทเจียรตรงถนนใหม่ และอีก 1 ใบ ตั้งอยู่ห้องนอนท่าน ส่วนเซฟยุค ควีนวิกตอเรีย 1 ตู้ (ยังไม่สะเดาะกุญแจ) เป็นของยุค ป๋าเอกพจน์ (เอกพจน์ วานิช) Fur หลุยส์เป็นที่นิยม จึงจัดให้มี ตู้ โต๊ะทำงาน สมุดบันทึก เครื่องเขียน ภาพ ล้อสมัย มาให้ชม

ถัดไปเป็นโซนธุรกิจหลัก 3 ประเภท คือ เหมืองแร่ดีบุก, สวนปาล์มน้ำมัน, การขนส่งทางทะเล โดยจัดให้ศิลปะเครื่องเรือน เครื่องใช้เล่าเรื่องในยุคนั้นๆ

โซนที่ 2 คือ ชั้นบน โชว์งานศิลป์ รูปภาพ มีชุดรับแขกชุดสำคัญ มีเนื้อหาที่มาเยี่ยมชมกัน มีโซนไฮไลท์ คือ ห้องนอน ห้องแต่งงานที่มีความสุข มีห้องสำหรับเล่นไพ่นอกกระจอก (ม่าฉ๋อกของอาก๊อง) และยังมีห้องแสดงนิทรรศการภาพมหัศจรรย์งานศิลป์ ของศิลปินอันดามัน 12 ศิลปิน เครือข่ายศิลปินใต้มีภาพให้ชมจำนวนมาก
ที่สำคัญ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต มีเรื่องราว ให้น่าติดตามผ่านคิวอาร์โค้ช ที่คุณสามารถสแกนคิวอาร์โค้ช จะขึ้นเป็นคลิปวิดีโอเล่าเรื่องไฮไลท์สำคัญๆ ด้วยเสียงและภาพแห่งความสุข

“ดิฉันมีความสุขมาก จัดไปทำไปแม้เหนื่อย เพราะกำหนดเงื่อนเวลาไว้ให้ตัวเอง แต่ก็มีความสุข อยากแบ่งปันความสุข ปรัชญาชีวิตการทำงาน และ Lifestyle ในยุคนั้นๆไว้ให้ผู้คนในรุ่นต่อไป เพราะดิฉันเชื่อว่าสุดท้ายแห่งชีวิต สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา” อัญชลี กล่าวด้วยความสุข ก่อนจะย้อนกำเนิดตระกูลวานิช

“หง่อคาขี่..วิถี วานิช ชีวิตนายหัว”

นายเจียร วานิช หรือ อาก๊อง (คุณปู่) เกิดมาท่ามกลางความยากแค้นลำเค็ญที่ถนนใหม่ ต.ท้ายช้าง จ.พังงา ปี 2449 อายุ 3 ขวบ บิดาเสียชีวิต แม่ ต้องทำขนมขายและรับตัดเสื้อเพื่อเลี้ยงลูกชาย 2 คน คือ นายเชี่ยว แซ่เอี๊ยบ และนายเจียร แซ่เอี๊ยบ นายเจียร เมื่ออายุ 5 ขวบ ได้ช่วยแม่ขายขนม เริ่มชีวิตด้วยการรับตัดไม้ คัดเลือกเปลือกไม้ที่ท่าน้ำแล้วเอามัดรวมส่งฝากเรือขาย สามารถทำรายได้อาทิตย์หนึ่งไม่ต่ำกว่า 8 บาทของค่าเงินสมัยนั้น ที่เงินเดือนครูเพียง 20 บาท และเงินที่อาก๊องหามาได้ทุกบาททุกสตางค์จะนำไปให้แม่ทุกครั้ง

“อาก๊อง เล่าว่า อาก๊อง เป็นคนจนซึ่งจนยิ่งกว่าคนจนอื่นๆ ในละแวกนั้น อาก๊อง ทำงานทุกๆ อย่างที่สุจริตด้วยความขยัน ทำให้มีคุณภาพ ด้วยความซื่อสัตย์ มุ่งมั่นในงานที่เราทำ สำคัญที่สุดคือ ความกตัญญู

161236275092

จนอายุ 8-9 ขวบ อาก๊อง สามารถเก็บเงินได้กว่า100 บาท จึงคิดที่จะเปลี่ยนอาชีพ เพื่อสร้างรากฐานแห่งความสำเร็จที่มั่นคงต่อไป

“อาก๊อง ตัดสินใจซื้อรถม้าในราคา 100 บาทเศษ นำมารับจ้างบรรทุกคนจากตลาดถนนใหม่ไปตลาดใหญ่ คิดค่าโดยสารคนละ 50 สตางค์ ท่ามกลางความเหน็ดเหนื่อย แต่ในที่สุดก็ทำให้มีเงินลงทุนต่อไป ด้วยการซื้อเรือบรรทุกที่ใช้คนแจวจากเกาะปันหยีที่ไปทำมูก(โป๊ะ) และเกาะหมากน้อยเพื่อหาปลาขนปลามาขายที่ตลาดสด อาก๊อง ต้องใช้เวลาแจวเรือไปกลับคนเดียว 7 ชม.ต่อครั้ง ด้วยวัยเพียง12 ขวบ ทำให้อาก๊อง มีเกลอ (เพื่อนสนิทที่เป็นมุสลิม) อาก๊อง บอกว่าทำทุกอย่างต้องวางเป้าหมาย มุ่งมั่น ขยันอดทน มั่นใจ และด้วยแรงกตัญญูต่อแม่ อาก๊องเป็นชาวประมง พ่อค้าขายปลา คนขับรถม้าอยู่หลายปี จนกระทั่งพวกฝรั่งยกกองมาเปิดการทำเหมืองแร่ขึ้นที่ตำบลอู่เรือ ในนามบริษัทพังงาติน ชีวิต กิมเจี้ยน แซ่เอี๊ยบ จึงก้าวระดับขึ้นสู่สากล..”

“วิถี วานิช ชีวิตนายหัว”

เอี๊ยบ กิมเจี้ยน หรือ นายหัวเจียร วานิช ถือได้ว่าเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ตั้งแต่เด็ก ขยันหมั่นเพียร อุตสาหะ มานะอดทนในการทำงานทุกชนิด หนักเอาเบาสู้ เป็นคนเก่ง ฉลาด มีคุณธรรม ท่านวางแผนงาน วางเป้าหมาย มุ่งมั่น และทำงานให้สำเร็จตามแผนที่วางไว้เสมอมา ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อพวกฝรั่งได้มาเปิดบริษัทเพื่อทำเหมืองแร่ดีบุกที่ตำบลอู่เรือ

อาก๊องเจียร คิดว่าการทำเหมืองนี้ความจำเป็นยิ่งคือ การขนส่งอุปกรณ์การทำเหมืองขนาดใหญ่ทุกชนิดต้องขนส่งทางเรือถึงท่าที่พังงาแล้วก็ขนส่งต่อไปยังบริษัทพังงาตินต่อ อาก๊อง จึงเสนอแผนงานและเจรจาขอรับเหมาขนส่งอุปกรณ์ทุกชนิดให้และทำได้อย่างดีจนเป็นที่วางใจของพวกฝรั่ง

ต่อมาอาก๊อง จึงได้งานจากบริษัททุกประเภทไม่ว่าจะเป็นหาไม้ฟืน ล้างแร่ ขนแร่ ก่อสร้าง ถือเป็นรายได้ที่งามมาก ทำให้ท่านคิดงานอื่นๆไปข้างหน้าได้อย่างไม่หยุดยั้ง อาก๊อง เริ่มรับงานก่อสร้างอาคารราชการ โรงเรียนและอื่นๆ จนมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

161236277722

“อาก๊อง เริ่มทำงานขนส่งทางทะเลที่ตนเองมีความถนัด เริ่มซื้อเรือใบทีละลำ 2 ลำ สำหรับขนส่งระหว่างพังงา-ปีนัง-กันตัง-สิงคโปร์-ภูเก็ต มีเรือใบรวมเกือบ 50 ลำ และยังรับเหมาขนส่งสินค้าระหว่างพม่ากับเมืองท่าต่างๆ ในแหลมมลายูอีกด้วยทำให้อาก๊องกลายเป็น “นายหัวเจียร”ตั้งแต่อายุไม่ถึง 30 ปี และเป็นผู้กว้างขวางมากท่านหนึ่งในพังงา”

จนกระทั่ง เมื่อทางจังหวัดต้องตั้งบริษัทจังหวัดพาณิชย์ขึ้นตามนโยบายรัฐบาลในขณะนั้น ทางกรรมการจังหวัดจึงมีมติให้อาก๊อง มาเป็น ผู้จัดการ บริษัทจังหวัดพังงาพาณิชย์ อยู่ถึง 3 สมัยและต้องไปขอลาออกด้วยตนเองที่กทม.เนื่องจากทางจังหวัดไม่ยอมให้ลาออก
“ด้วยความมานะ ขยัน รักการทำงานเป็นชีวิตจิตใจ อาก๊อง มิได้หยุดคิด หยุดวางแผนชีวิต สนุกกับงานและวางเป้าหมายในการลงทุนธุรกิจอย่างไม่หยุดยั้ง ธุรกิจ “เหมืองแร่” คือธุรกิจที่ นายหัวเจียร ตั้งเป้าหมายไว้และเริ่มทำเหมืองต่อ พร้อมๆ กับตัดสินใจมาเปิดสำนักงานใหญ่ขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของนายเจียรและครอบครัว”

อัญชลี เล่าต่อว่า ในปี 2485 อาก๊องเจียร ตั้งบริษัท เจียรวานิช จำกัด (HUP HUAT COMPANY LTD) ขึ้นโดยเลือก ทำเลที่บ้านเลขที่ 48 ถนนภูเก็ต อ.เมือง ทำเลย่านค้าขาย สร้างอาคารสำนักงานเป็นตึก 2 ชั้น สไตล์สถาปัตยกรรมอาคารเรียบๆ แบบปีนัง คือ ด้านล่างเป็นอาคารสำนักงาน ด้านในเป็นจิมแจ้ ลานซักผ้าริมบ่อน้ำ มีครัว ห้องทานข้าว ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ห้องนอน ห้องสันทนาการ มีระเบียงไว้ สูบบุหรี่ ชมจันทร์ อาคารในยุคนั้นจึงกว้างและยาวเป็นพิเศษ คือ 5 x 50เมตร ต่อมาสักระยะ อาคารด้านข้างซึ่งเป็นที่ทำการเกี่ยวกับพาณิชย์จังหวัดว่างลง อาก๊อง จึงขอเช่าและสร้างอาคารแฝดคู่กันมา ข้างบนทำเป็นห้องนอน 5 ห้อง เพื่อให้เด็กๆ จากพังงาที่พ่อแม่รู้จักและฝากมาเรียนหนังสือได้ใช้เป็นที่พักอาศัย โดยอยู่ภายใต้การดูแลของ “อาม่าวรรณี” มีเด็กๆ จบการศึกษาและประสบความสำเร็จในชีวิตจากบ้านหลังนี้อยู่มากมายและผูกพันกับตระกูลวานิช ของเราอย่างดีมาตลอด

161236279899

อัญชลี เล่าว่า ที่ภูเก็ต อาก๊องเจียร ได้ขยายงานสร้างโรงรมยางและผลิตยางขึ้นที่บริเวณถนนหลวงพ่อ โรงงานน้ำมันมะพร้าว ลงทุนราว 5 ล้านบาท (ในขณะนั้น) การลงทุนประสบความสำเร็จอยู่ในขั้นดี

จนกระทั่งในปี 2495 อาก๊องและป๋าเอกพจน์ จึงกลับมาทำเหมืองแร่ที่ทับเหวน ตำบลสองแพรก ซึ่งเป็นประทานบัตรเดิม แต่คราวนี้ อาก๊องและป๋าศึกษาจากผู้รู้อย่างดีวิเคราะห์ลักษณะสายแร่ และสภาพพื้นที่ โดยไม่ต้องจ้างฝรั่งมาดูแล แต่มีอาก๊อง ป๋า และเตี่ยววิชัย ช่วยกันทำเหมืองและควบคุมอย่างใกล้ชิดเลือกทำจากเหมืองสูบมาเป็นเหมืองฉีด

ปรากฏว่าประสบความสำเร็จมากจนถึงช่วงรุ่นที่ 3 คือ ยุคของดิฉันเองที่ได้ทันวิ่งเล่น ร่อนแร่ รับจ้างป๋าเก็บตะปู ในเหมืองเมื่อคราวโรงเรียนปิดเทอมจากราชินี ได้ทำตัวเป็นนักสำรวจธรณี เดินป่าขึ้นเขา สนุกสนานมาก

“ ตื่นเช้า ดิฉันอาสาเข้าเหมืองกับป๋า ส่วนพี่สาวคนอื่นๆ เช่น พี่จี๊ด อยู่บ้านทำกับข้าวกับแม่ เราขึ้นไปดูป๋าสั่งงานลูกน้อง ไปดูเขาล้างแร่ แต่งแร่ รับซื้อแร่ในเชนเลงป๋าง พอหวูดเหมืองดัง นั่นหมายถึงเวลาพักของคนงานเหมืองเป็นกะๆ ดิฉันจะวิ่งไปบอกป๋าว่า กลับบ้านไปกินข้าวก่อน แม่ทำกับข้าวเสร็จแล้ว เดี๋ยวค่อยมาทำงานกันต่อนะป๋า ป๋ายิ้มชอบใจแล้ว ยอมดิฉันทุกคราไป..

“จำได้ว่าช่วงจบม.ศ 5 ก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยยังพาเพื่อนๆ ราชินี มาเที่ยวกันที่เหมืองทับเหวน ดิฉันรักเหมืองนี้มาก ผูกพันเพราะมันเป็นสถานที่ครอบครัวได้อยู่ร่วมกันในที่ธรรมชาติ ไม่มีผู้คน สังคมมาวุ่นวาย ได้ศึกษาเรียนรู้วิทยาการ ได้รับความรัก ความสนิทสนม ที่สำคัญ ได้งานที่ป๋าและอาก๊องรักเป็นชีวิตด้วยเช่นกัน ภาพความทรงจำในวัยเด็กที่งดงาม” อัญชลี เล่าเรื่องราว “หง่อคาขี่ วิถี วานิช ชีวิตนายหัว” ด้วยความสุข