ONE FOR THE ROAD หนังฝีมือคนไทยในเทศกาล SUNDANCE 2021

ONE FOR THE ROAD หนังฝีมือคนไทยในเทศกาล SUNDANCE 2021

ลุ้นและให้กำลังใจ “บาส พูนพิริยะ” กับการเป็น “ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนแรก” ที่ส่งหนังเรื่อง “ONE FOR THE ROAD” เข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ SUNDANCE 2021 แถมยังได้ “หว่องกาไวร์” มาเป็นโปรดิวเซอร์อีกด้วย

เมื่อกล่าวถึงเทศกาล Sundance Film Festival ผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ก็มักจะนึกถึงเทศกาลที่เป็นเวทีหลักสำหรับหนังอิสระสัญชาติอเมริกัน ถือกำเนิดจากการสนับสนุนของนักแสดงดัง Robert Redford และจัดงานในชื่อนี้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1984 กระทั่งได้กลายเป็นเวทีแจ้งเกิดให้ผู้กำกับอเมริกันชื่อดังหลาย ๆ ราย ไม่ว่าจะเป็น Joel Coen, Steven Soderbergh, Jim Jarmusch, Paul Thomas Anderson หรือ Quentin Tarantino

และจากเดิมที่มีการประกวดประชันกันเฉพาะหนังเล่าเรื่องและหนังสารคดีอเมริกันเพื่อชิงรางวัล Grand Jury Prize ในแต่ละสาขา เมื่อปี ค.ศ. 2005 เทศกาลภาพยนตร์ Sundance ก็ได้ขยายวงการประกวดให้รวมภาพยนตร์อิสระจากต่างชาติทั้งในสายหนังเล่าเรื่องและหนังสารคดี สร้างสีสันให้เทศกาลมีความนานาชาติมากยิ่งขึ้น

จนในปี ค.ศ. 2017 จึงจะมีภาพยนตร์ที่พูดภาษาไทยเรื่องแรกได้เข้าร่วมในสายประกวด นั่นคือหนังของผู้กำกับสิงคโปร์ Kirsten Tan เรื่อง Pop Aye และล่าสุดในปี ค.ศ. 2021 นี้จึงจะมีผลงานของผู้กำกับชาวไทยร่วมประกวดในเทศกาล Sundance เป็นครั้งแรกกับเรื่อง One for the Road ของผู้กำกับหนุ่ม บาส พูนพิริยะ เจ้าของผลงานดังเรื่อง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ (พ.ศ. 2560) ที่ได้ผู้กำกับระดับตำนานร่วมสมัยของเอเชียอย่าง หว่องการ์ไว มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ ภายใต้การอำนวยการสร้างโดยบริษัท Jet Tone Films และ Block 2 Pictures ของฮ่องกง

161225116279

แต่ด้วยภาวะแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลงโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ทำให้เทศกาลภาพยนตร์ Sundance ในปีนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนมาจัดงานในรูปแบบออนไลน์ เปิดโอกาสให้ผู้ชมในสหรัฐอเมริกาสามารถซื้อตั๋วชมจากที่บ้านได้ และให้สื่อและผู้ที่ทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์จากประเทศอื่น ๆ ลงทะเบียนเพื่อติดตามชมภาพยนตร์และกิจกรรมต่าง ๆ จากทางไกล แม้จะเป็นที่น่าเสียดายที่ผู้กำกับหนุ่ม บาส พูนพิริยะ รวมถึงนักแสดงและทีมงานจะไม่มีโอกาสได้เดินทางไปร่วมงานฉายหนังรอบกาล่าพรีเมียร์ ณ เมือง Salt Lake City ของรัฐ Utah ดังที่เคยจัดกันมา และจะต้องร่วมงานเพื่อตอบคำถาม Q&A หลังหนังฉายรอบพรีเมียร์ในช่วงเช้าของวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมาด้วยการไลฟ์สดจากโรงหนังช้างแดง หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กันแทน

และเนื่องจากภาพยนตร์เรื่อง One for the Road ได้รับทุนสร้างจากบริษัท Jet Tone Films และ Block 2 Pictures ดังนั้นสัญชาติหนังโดยแท้จริงจึงน่าจะต้องนับว่าเป็นหนังฮ่องกง แต่ในส่วนของการสร้างสรรค์งาน ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ ผู้เขียนบท นักแสดง ทีมงาน รวมไปถึงภาษาหลักที่ใช้ ก็ล้วนมาจากฝั่งประเทศไทย ดังนั้น One for the Road จึงน่าจะยังเรียกได้ว่าเป็นผลงาน ‘ฝีมือ’ คนไทยที่ชวนให้รู้สึกร่วมภาคภูมิใจได้อยู่

161225118987

One for the Road เป็นหนังแนว Romantic Road Movie ที่เล่าเรื่องราวทั้งในอดีตและปัจจุบันของเพื่อนหนุ่มรูมเมทสองคน นั่นคือ บอส และ อู๊ด โดยปัจจุบัน บอส เป็นเจ้าของบาร์รวมถึงบาร์เทนเดอร์ที่เน้นให้บริการลูกค้าสาว ๆ ณ เมืองนิวยอร์ก และเคยเป็นหนุ่มเพลย์บอยเจ้าเสน่ห์ที่มองหาโอกาส ‘แอ้ม’ สาวสวยทุกรายที่เขาได้พบ ซึ่งความสัมพันธ์มักจะจบลงบนเตียงแบบไม่มีอะไรยืดเยื้อ สร้างความอิดหนาระอาใจให้ อู๊ด ที่ต้องอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์เดียวกันกับเขาที่นิวยอร์กอยู่เสมอ จนวันหนึ่ง บอส เอ่ยปากชวน อู๊ด ให้ร่วมกันเปิดบาร์ อู๊ดรับปาก แต่สุดท้ายกลับหนีกลับประเทศไทยกับแฟนสาว ‘อลิส’ เพื่อเปิดโรงเรียนสอนเต้นรำ จากนั้น บอส กับ อู๊ด ก็แทบไม่ได้พูดคุยกัน

จนวันหนึ่ง อู๊ด โทรศัพท์ไปหา บอส ว่าเขากำลังเป็นโรคลูคีเมียแบบเดียวกับบิดาที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ไปแล้ว และขอให้บอสกลับมาช่วยเขาขับรถตระเวนไปจังหวัดต่าง ๆ เพื่อคืนสิ่งของสำคัญและกล่าวอำลา ‘แฟนเก่า’ หลาย ๆ รายของอู๊ด ก่อนที่เขาจะไม่มีโอกาสได้ทำหลังป่วยหนัก บอส ตอบตกลง และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางหวนย้อนสู่อดีตอันขมขื่นของตัวละครที่ฝ่ายหนึ่งกำลังรู้สึกหมดอาลัยตายอยากในขณะที่อีกฝ่ายกลับให้กำลังใจบอกให้เพื่อนกลับไปรักษาตัวด้วยความหวังว่าเขาจะต้องรอดจากโรคร้ายนี้ให้ได้

161225156839

ดูจากเนื้อหาเรื่องราวแล้ว ก็คงจะเห็นได้ชัดอยู่ว่า One for the Road เป็นหนังแห่งการเดินทางที่อิงสูตรสำเร็จของงานในแนว Road Movie ของตัวละครที่ป่วยหนักกำลังจะตาย และต้องการสางปมความหมายคุณค่าแห่งการใช้ชีวิตอันใกล้ชิดกับผู้อื่นที่เราอาจจะคุ้นเคยได้ชมกันมาแล้วหลายเรื่อง

แต่ความพิเศษของ One for the Road คือมันเป็นเรื่องราวของตัวละครชาวไทยที่ไปใช้ชีวิตยังต่างแดนซึ่งสามารถสร้างมิติใหม่ให้กับหนังกลุ่มตระกูลนี้ได้อย่างมีสีสันที่แตกต่าง โดยผู้กำกับและเขียนบท บาส พูนพิริยะ และผู้เขียนบทร่วม ณฐพล บุญประกอบ กับ พวงสร้อย อักษรสว่าง ก็ได้ร่วมกันสร้างให้ตัวละครสำคัญทุก ๆ รายล้วนมีปมปัญหาภายในทั้งจากเรื่องราวในอดีตและความรักความสัมพันธ์อันปวดหัวใจ

ไม่ว่าภาพภายนอกของพวกเขาจะแลดูโก้เก๋และเฉี่ยวเท่กันขนาดไหน แต่ใต้ภาพลักษณ์อันดูดีนั้น กลับซ่อนความอ่อนไหวอ่อนแอต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าได้เลือกเส้นทางชีวิตที่เหมาะควรแล้วหรือยัง

นายแบบหนุ่มที่ผันตัวมาเป็นนักแสดง ไอซ์ซึ ณัฐรัตน์ รับบทนำเป็น อู๊ด ได้อย่างน่าทึ่ง โดยเขาต้องเล่นทั้งบทที่ยังอ้วนท้วนสมบูรณ์สุขภาพดีตอนที่ยังใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์ก และช่วงที่เขาจะต้องลดน้ำหนักรวมทั้งโกนศีรษะเพื่อรับบทเป็นคนป่วยถือไม้เท้าเดินระยะสุดท้าย ที่เหลือเวลาชีวิตอีกไม่นานในการคลายปมความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างในอดีต

ไอซ์ซึ สะท้อนบทบาทของชายหนุ่มที่อยู่ในช่วงเวลาแห่งการ ‘สำนึก’ และโหยหาการให้อภัยต่อสิ่งที่เขาได้ทำลงไปก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปได้อย่างจริงใจจนน่าประทับใจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เขาไม่จำเป็นต้องเล่นใหญ่แต่ให้ทุกอณูความรู้สึกซึมผ่านสีหน้าอันอิดโรยและหยาดน้ำตาที่ไหลลงมาอย่างเป็นธรรมชาติ จนน่าจะเรียกได้ว่าเป็นบทบาทที่น่าจดจำมากที่สุดที่นักแสดงไทยเคยเล่นกันมาเลยทีเดียว

ในขณะที่ ต่อ ธนภพ ซึ่งรับบทเป็นเพลย์บอยหนุ่ม บอส ก็มีโอกาสโชว์ฝีมือทางการแสดงอย่างเต็มที่เช่นกันในช่วงครึ่งหลังของหนังที่ตัวบทเริ่มจะเปิดเผยรอยแผลเบื้องหลังใบหน้าอันหล่อเหลาเกลี้ยงเกลาว่ามันเหวอะหวะขนาดไหน จนไม่น่าประหลาดใจว่าเขาจะชอกช้ำเพียงไรในยามที่ต้องผิดหวังจากความรักและความเชื่อใจ ซึ่ง ต่อ ธนภพ ก็สามารถรับมือกับฉากอันแสนละเอียดอ่อนด้านความรู้สึกเหล่านี้ได้ดีไม่แพ้กับที่ ไอซ์ซึ รับบทเป็น อู๊ด เลย

161225134171

เห็นการแสดงอันยอดเยี่ยมของนักแสดงนำทั้งสองแล้ว ก็ชวนให้นึกรู้สึกเสียดายที่ทางเทศกาล Sundance ไม่มีการมอบรางวัลทางด้านการแสดงให้นักแสดง มีเฉพาะเพียงรางวัลสำหรับหนังทั้งเรื่องเท่านั้น มิเช่นนั้น นักแสดงหนุ่มชาวไทยทั้งสองก็อาจได้มาแข่งกันเองจากการแสดงอันยอดเยี่ยมในเวทีการประกวดครั้งนี้

สำหรับตัวละครฝ่ายหญิงที่รับบทเป็นแฟนเก่าของ อู๊ด ซึ่ง บอส จะต้องขับรถพาเพื่อนไปสางอดีตทั้งที่ โคราช สมุทรสงคราม และเชียงใหม่ แม้ว่าจะแต่ละคนจะมีช่วงเวลาเรื่องราวของตัวเองกันเพียงสั้น ๆ แต่ก็สามารถฉายบุคลิกและแสดงให้เห็นได้ว่าพวกเขาเป็นคน ‘สำคัญ’ ในชีวิตของ อู๊ด มากเพียงไหน

เริ่มจาก พลอย หอวัง ในบท อลิส นักเต้นสาวที่พา อู๊ด ทิ้ง บอส กลับเมืองไทย ผู้ต้องจมอยู่กับสภาพของความฝันที่ดำเนินไปในเส้นทางที่ไม่ค่อยจะสดใส จนไม่กล้าแม้แต่จะกลับมาพบหน้าคนสนิทอย่าง อู๊ด อีกครั้ง

ตรงกันข้ามกับบท ‘หนูนา’ ที่เล่นโดย ออกแบบ ชุติมณฑน์ นักแสดงสาวผู้มีความฝันที่ชีวิตพลิกผันได้รับโอกาสอันดีหลังจากที่ตัดสินใจทิ้ง อู๊ด ผู้ไม่เคยให้การสนับสนุนเธอ นำไปสู่ฉากการเผชิญหน้ากันที่สร้างความเจ็บปวดให้กับทั้งสองฝ่ายรวมไปถึงผู้ชมที่ร่วมเป็นสักขีพยานของรอยร้าวครั้งนี้

ปิดท้ายด้วยบทพี่รุ้ง ช่างภาพสาวใหญ่ ซึ่งรับบทโดย นุ่น ศิรพันธ์ ที่หลังจากเลิกรากับ อู๊ด ก็เดินทางกลับจากอเมริกา และได้อยู่กินเป็นภรรยากับฝรั่งต่างชาติจนมีลูกสาวด้วยกัน ซึ่ง อู๊ด จะต้องหาจังหวะที่สามีของพี่รุ้งไม่อยู่ เดินทางไปคืนของสำคัญอันเป็นบทบันทึกความสัมพันธ์ในอดีตของพวกเขา

โดยนักแสดงสาวทั้งสามรายนี้ต่างก็สร้างตัวละครออกมาได้มีความเป็นมนุษย์ผู้ไม่อาจลบลืมความหลังได้อย่างเป็นธรรมชาติ แม้ว่าตัวบทจะไม่ได้แจกแจงรายละเอียดความสัมพันธ์ทุกอย่างระหว่างพวกเธอกับ อู๊ด แต่ผู้ชมก็ยังสามารถสัมผัสได้อย่างประจักษ์ชัดว่าแต่ละรายบอบช้ำกับความสัมพันธ์กับผู้ชายคนนี้มากมายขนาดไหน

แต่ตัวละครฝ่ายหญิงที่โดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็น พริม ซึ่งเล่นโดย วี วิโอเลท ในบทบาร์เทนดีสาวของโรงแรมใหญ่ในพัทยา ที่จะมาเป็นตัวละครสำคัญผู้ขับเคลื่อนเรื่องราวในช่วงครึ่งหลังของหนังเมื่อตัวบทเริ่มเปิดเผยเงื่อนงำความสัมพันธ์ในอดีต

161225138614

โดยต้องยอมรับเลยว่า วี วิโอเลท เล่นบทสำคัญบทนี้ได้อย่างมีเสน่ห์สะกดทุกสายตาให้จ้องมองอารมณ์และความนึกคิดของเธอในทุก ๆ ฉาก แม้ว่าจากมุมมองของตัวเธอเองแล้วเธอก็มิได้มีเงื่อนงำสลับซับซ้อนอะไรและออกจะจริงใจด้วยซ้ำ แต่ทุก ๆ ช่วงที่เธอต้องแสดงถึงความบอบช้ำ วี ก็ทำให้ผู้ชมเจ็บปวดและเห็นใจเธอได้แบบถึงตายเลยเหมือนกัน และน่าจะกลายเป็นบทบาททางการแสดงที่ดีที่สุดบทหนึ่งของ วี วิโอเลท ได้เลย

ความยอดเยี่ยมอีกประการของตัวบทนอกเหนือจากความซับซ้อนของตัวละครเหล่านี้แล้ว ก็คือบทพูดที่มีความเป็นธรรมชาติเอามาก ๆ แม้ว่าจากเนื้อหาเรื่องราวแล้วมีความจำเป็นที่ตัวละครจะต้องพูดคำหยาบ ด่าทอ ผรุสวาทใส่กัน แต่นั่นก็เป็นวิสัยของเพื่อนและคนรักที่สนิทชิดใกล้ จนกลายเป็นว่าถ้อยคำหยาบคายแสลงหูเหล่านั้น กลับฟังดูไพเราะรื่นนหูไปเลยหนังเรื่องนี้

จนเมื่อสถานการณ์ความสัมพันธ์เริ่มเข้มข้นแตกหัก และคำด่าคุ้นปากเหล่านั้นกลับกลายคำพูดที่ต้องการทำร้ายอีกฝ่ายจริง ๆ เราจึงยิ่งรู้สึกเจ็บปวดเป็นทบทวี โดยเฉพาะเมื่อคนที่รักและสนิทสนมกันมากที่สุดกลับกลายเป็นคนที่ต้องมาเกลียดกันและสาปแช่งกันเอง

161225146764

ในส่วนงานการกำกับของ บาส พูนพิริยะ ก็คงไม่น่าประหลาดใจที่เขาจะได้สไตล์ในด้านงานภาพอันวูบวาบอิ่มแสงสีของผู้กำกับ หว่องการ์ไว ที่มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้เขาในโปรเจกต์นี้อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในฉากเลิฟซีน ฉากพัทยายามค่ำคืน หรือแม้แต่ฉากร้านยาดอง ที่ยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกว่า ประเทศไทย ช่างเป็นโลเคชันที่เหมาะกับหนังในสไตล์แบบหว่องการ์ไวเสียจริง ๆ

อย่างไรก็ดี ผู้กำกับก็ไม่ได้ทิ้งลีลาอันหวือหวาฉูดฉาดส่วนตัวที่ยังคงทำได้ดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย แสดงความเป็นมืออาชีพในเชิงงานสร้างของคนทำหนังชาวไทยที่ละเอียดประณีตได้ไม่แพ้หนังชาติอื่น ๆ ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากส่วนงานโปรดักชันที่มุ่งเน้นบรรยากาศการโหยหาประสบการณ์ในโลกอดีต

ทั้งจากการใช้แผ่นเสียง และคาสเซ็ตเทป ห้างร้านตึกแถวชาวไทยเชื้อสายจีน รถยนต์ BMW รุ่นวินเทจ รวมไปถึงบรรยากาศของการฟังเพลงจากรายการวิทยุผ่านการแนะนำของดีเจ ซึ่งหนังก็นำเสนอรายละเอียดเหล่านี้ได้อย่างชวนโหยหาอาลัยจนไม่รู้สึกประดิษฐ์ดังที่มักจะเห็นกัน

ในขณะที่โลเคชันและสถานที่ถ่ายทำ ต่างก็ทำหน้าที่สนับสนุนเรื่องราวที่ดำเนินไปได้อย่างดิบดี สำหรับส่วนของการตัดต่อที่ต้องตัดสลับทั้งสถานที่ระหว่างเมืองนิวยอร์ก และจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมไปถึงห้วงเวลาระหว่างอดีตกับปัจจุบันเพื่อเชื่อมอารมณ์ด้านความสัมพันธ์ของตัวละคร ก็ทำได้อย่างแนบเนียนจนไม่รู้สึกสะดุดหลงว่ากำลังเล่าถึงห้วงเวลาไหน ณ สถานที่ใด แม้ว่าจะไม่ได้มีข้อความบอกสถานที่และเวลาในทุก ๆ ช่วง

และที่เท่มาก ๆ อีกอย่างก็คือ ผู้กำกับ บาส พูนพิริยะ ให้เครดิต ตัวเขาเองและนักแสดงนำด้วย ชื่อเล่น ตามด้วยนามสกุลหรือชื่อจริงในหนัง เพื่อสร้างความใกล้ชิดไม่เป็นทางการ เราจึงได้เห็นเครดิตทำนองว่า หนังเรื่องนี้รับบทนำโดย ต่อ ธนภพ และ ไอซ์ซึ ณัฐรัตน์ ซึ่งก็เป็นอะไรที่แปลกตาดีกับการขานชื่อกันด้วยวิธีนี้

สำหรับการจัดฉายรอบปฐมทัศน์แบบออนไลน์ ก่อนการ Q&A ทางไกล ในช่วงเช้าของวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา ก็เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้ชมหลาย ๆ รายส่งข้อความเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังคงร้องไห้สะอึกสะอื้นน้ำตาไหลกับเรื่องราวอันสุดแสนสะเทือนใจของตัวละครในหนัง บางรายก็กล่าวว่าได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วแสนจะคิดถึงประเทศไทย อยากจะเดินทางมาขับรถ BMW ตระเวนตามรอยไปให้ทั่วทุกจังหวัด เพราะไม่ว่าผู้กำกับจะปักหลักตั้งกล้องถ่ายที่จังหวัดไหน ก็ล้วนเป็นสถานที่ที่อยากจะได้สัมผัสด้วยตัวเองกันทั้งนั้น

หรือบางรายก็ต้องน้ำลายสอกับค็อกเทลสูตรเด็ดที่ พริม และบอส คิดประดิษฐ์ขึ้นเอง และบรรจงผสมปรุงจนแลดูน่าลิ้มลอง เรียกได้ว่าเป็นหนังที่ครองหัวใจผู้ชมไปได้ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ออกฉายในเทศกาล จนชวนให้รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้อาจจะมีหวังเอาชนะคู่แข่งอีก 9 เรื่อง คว้ารางวัล Grand Jury Prize ในสาย Word Cinema Dramatic มาได้ในที่สุด

การประกาศผลรางวัลของเทศกาล Sundance ในปีนี้จะมีขึ้นในช่วงสายของวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เวลาประเทศไทย ซึ่งก็คงจะต้องร่วมลุ้นกันต่อไปว่า One for the Road จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ให้แวดวงคนทำหนังชาวไทยได้หรือไม่ ส่วนกำหนดการฉายในประเทศไทยแม้จะยังไม่แน่ชัดว่าจะสามารถลงโรงให้คอหนังได้ชมกันได้เมื่อไหร่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่นิ่ง แต่ทางทีมงานก็ได้แจ้งไว้แล้วว่าจะพยายามหาโอกาสจัดฉายในบ้านเราให้ได้โดยเร็วที่สุด