อัพเดท เราชนะ ‘ประกันสังคมมาตรา 33’ จ่ายถ้วนหน้า หรือแค่ บางกลุ่ม?

อัพเดท เราชนะ ‘ประกันสังคมมาตรา 33’ จ่ายถ้วนหน้า หรือแค่ บางกลุ่ม?

อัพเดทมาตรการ "เราชนะ" จ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตน "ประกันสังคม มาตรา 33" คลัง - แรงงาน ถกไม่จบ ตกลง จะได้รับเงินเยียวยาแบบถ้วนหน้า หรือแค่บางกลุ่ม

เกาะติดมาตรการ "เราชนะ" ซึ่งเป็นมาตรการรัฐ เยียวยาโควิด ที่แจกเงิน 7,000 บาทแก่ 3 กลุ่มหลักๆ ที่รัฐมองว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่ม ผู้มีรายได้น้อย ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะได้รับเงินเราชนะโดยอัตโนมัติผ่าน "บัตรคนจน" 

นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ที่ได้คนละครึ่ง หรือเราเที่ยวด้วยกัน เมื่อผ่านเกณฑ์จะได้รับเงินเยียวยา 7,000 บาท ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง และอีกกลุ่มคือ อาชีพอิสระ เกษตรกร หรืออื่นๆ ที่ระบบเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com 

อัพเดท :  ด่วน! ไฟเขียวเยียวยา 'ประกันตน ม.33 เรารักกัน' เงื่อนไขเงินฝากไม่เกิน 5 แสน

แต่หลายเสียง โดยเฉพาะ มนุษย์เงินเดือน ก็ออกมาบ่นกันหนาหูว่า อยากให้ภาครัฐเยียวยามนุษย์เงินเดือนด้วย เพราะถึงแม้จะไม่ได้ตกงาน แต่หลายองค์กรก็มีปรับลดเงินเดือนลง หรือลดเวลาทำงาน เพื่อลดการจ่ายค่าแรง เหล่า "ผู้ประกันตน มาตรา 33" ในระบบประกันสังคม จึงออกมาส่งเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

นำมาสู่การร่วมถกระหว่าง กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงการคลัง ถึงความเป็นไปได้ที่จะหาทางจ่ายเยียวยา ดูแล "ผู้ประกันตน มาตรา 33" ด้วย ซึ่งแนวโน้มไปในทางที่ดี

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 "สุชาติ ชมกลิ่น" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้เยียวยากลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบ ประกันสังคม มาตรา 33 โดยระบุว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 มีประมาณ 11 ล้านคน โดยเงื่อนไขหลักๆ คือต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย มีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี และมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังจ่ายเยียวยา 7,000 บาท

เบื้องต้น กระทรวงแรงงาน ได้ส่งข้อมูลผู้ประกันตน ที่เป็นลูกจ้างภาครัฐและเอกชนในมาตรา 33 จำนวนกว่า 11 ล้านคน ให้กับกระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงการคลัง กำลังพิจารณาตัวเลขที่เหมาะสมอยู่ ว่ารูปแบบที่กระทรวงการคลังจ่ายเยียวยามีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 กระทรวงแรงงาน ได้เสนอให้ยกเลิกเงื่อนไขข้อเสนอที่กระทรวงแรงงานเสนอต่อกระทรวงการคลัง โดยขอปรับเงื่อนไขผู้รับสิทธิที่เตรียมนำมาพิจารณา เช่น การให้สิทธิเยียวยาจะให้ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อปีไม่ได้ เนื่องจากจะทำให้ผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 25,000 บาทต่อเดือน ไม่ได้รับสิทธิเยียวยา 

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีอยู่กว่า 11 ล้านคนได้รับสิทธิทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน หรือพูดง่ายๆ คือการได้รับสิทธิกันแบบถ้วนหน้า ไม่ทิ้งใครให้ตกหล่นหรืออยู่ข้างหลังอย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันการเสนอในลักษณะนี้จะทำให้มีแนวโน้มได้จำนวนเงินต่อคนน้อยลงด้วย เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด ซึ่งมีการประเมินว่าจะจ่ายเยียวยาให้คนละประมาณ 3,500 หรือ 4,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 เดือน

อย่างไรก็ตามคงต้องรอกคำตอบจาก "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างพิจารณาจำนวนเงินที่เหมาะสม รวมถึงรูปแบบการจ่ายเงิน แต่มีการเน้นย้ำว่าจะเร่งออกรายละเอียดมาตรการเยียวยานี้ให้เร็วที่สุด

สำหรับแนวทางหรือขั้นตอนที่น่าจะตาหลังจากนี้ รมว.คลัง ย้ำเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ว่า เมื่อกระทรวงการคลังพิจารณาตัวเลขการจ่ายเงินเยียวยาเสร็จแล้ว สภาพัฒน์ฯ จะต้องนำเสนอทั้งหมดกับ รัฐบาลในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คาดว่าความชัดเจนทั้งหมดจะออกเป็นมาตรการเยียวได้อย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้กำชับให้กระทรวงการคลังพิจารณาโดยเร็วที่สุด

แม้มาตรการเยียวยา "ประกันสังคม มาตรา 33" ยังคงไม่ชัดเจนในวันนี้ว่าจะได้รับเงินเยียวยาแบบใด ได้ทุกคนแบบถ้วนหน้าหรือไม่ และได้รับเงินจำนวนเท่าไร แต่ก็เริ่มเห็นเค้าโครงมาตรการช่วยเหลือบ้างแล้ว 

ที่มา : สำนักงานประกันสังคม, กระทรวงแรงงาน