'โตโจ ฮิเดกิ' ผู้กำหนดชะตาญี่ปุ่นให้แพ้สงคราม (2)

'โตโจ ฮิเดกิ' ผู้กำหนดชะตาญี่ปุ่นให้แพ้สงคราม (2)

เจาะลึกเรื่องราวของ "โตโจ ฮิเดกิ" ผู้กำหนดชะตาญี่ปุ่นให้แพ้สงครามที่ทำสงครามในจีน ทั้งๆ ที่มีการวางแผนระยะยาวเป็นอย่างดี (ตอนที่ 2)

[ติดตามอ่านตอนที่ 1 :  'โตโจ ฮิเดกิ' ผู้กำหนดชะตาญี่ปุ่นให้แพ้สงคราม (1) คลิกที่นี่]

โอกาสที่ดีสำหรับกองกำลังคันโตที่พยายามเหลือเกินที่จะฟูมฟักอำนาจตนเองก็มาถึง วันที่ 7 ก.ค.1937 “กองกำลังญี่ปุ่นที่ประจำการในจีน” (日本の中国駐屯軍) กับกองกำลังก๊กมินตั๋งปะทะกันที่ชานเมืองปักกิ่งเล็กน้อย แต่ขยายตัวไปทั่วประเทศจีนอย่างรวดเร็ว เป็นสงครามระหว่างจีน-ญี่ปุ่นอย่างเต็มรูปแบบ (กองกำลังญี่ปุ่นในจีนเป็นกองกำลังต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ประจำการเพื่อคุ้มครองชนชาติของตนตามสนธิสัญญาซินโฉ่วเถียวเอีย (辛丑条约) หรือสัญญายอมแพ้หลังกบฏนักมวยที่กำหนดสถานที่ไว้ชัดเจน 12 แห่งจากปักกิ่งไปถึงเทียนจิน) แต่กองกำลังญี่ปุ่นที่อ้างถึงอยู่นอก 12 แห่งนั้น

วันที่ 14 ส.ค. กองกำลังคันโตเสนอ “ประเด็นสำคัญในการจัดการสถานการณ์” ต่อรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วยการจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นในหัวเป่ย การเตรียมสงครามกับรัสเซีย การสร้างเขตเศรษฐกิจร่วมญี่ปุ่น-แมนจูเรีย-หัวเป่ย อย่างน้อยที่สุดจะมีรัฐบาลท้องถิ่นอิสระในมณฑลฉาฮาอื่อ (เหอเป่ยตอนเหนือ/มองโกเลียใน) เหอเป่ย และ ชานตง ในเวลาประมาณ 1 เดือน กองกำลังคันโต 3 กองพลรุกไปทางตะวันตกถึงเมืองต้าถงของมณฑลซานซี แต่ก็หยุดลงเพียงเท่านั้น เนื่องจากไม่อยากให้กองทัพยืดระยะออกไปไกลเกินไป โปรดสังเกตว่า ขณะนั้นโตโจเป็นเพียงเสนาธิการทหารที่โดยหลักแล้วไม่มีอำนาจสั่งการ แต่ก็สั่งการรุกรบทั้งหมดนี้ ทั้งนี้ก็ด้วยเจ้าตัวอยากจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักยุทธศาสตร์ของตนเอง

วันที่ 13 ธ.ค.1937 ญี่ปุ่นตีเมืองหนานจิงแตก วันรุ่งขึ้นมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเอง สาธารณรัฐจีนที่นำโดย หวังเจ้าหมิน (汪兆铭/汪精卫) นักเรียนเก่าญี่ปุ่น แทนที่รัฐบาลของเจียงไคเช็คในฐานะของรัฐบาลกลางแห่งชาติ ทั้งนี้ กองกำลังญี่ปุ่นทางเหนือของจีนเป็นผู้วางแผนชักใยอยู่เบื้องหลังและโตโจก็ถือว่ากองกำลังนี้อยู่ภายในขอบข่ายของกองกำลังคันโตที่ไม่ยอมให้แยกออกไป

นอกจากนี้ โตโจยังไม่ต้องการให้รัฐบาลหุ่นเชิดจีนมีฐานะเป็นรัฐบาลกลางเนื่องจากอาจเกิดความยุ่งยากขึ้นในกรณีที่รัฐบาลกลางไม่ยอมเชื่อฟังขึ้นมา เพราะว่ารัฐบาลเจียงไคเชคจะต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก การมีรัฐบาลท้องถิ่นปกครองตนเองจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า การเจรจาสันติภาพกับเจียงไคเชคจึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เห็นด้วย จะเห็นได้ว่า โตโจมาถึงจุดที่ฮึกเหิม ย่ามใจ และ ไม่เกรงใจนานาประเทศอีกต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่การคว่ำบาตรญี่ปุ่นของสหรัฐอเมริกาและทำให้ญี่ปุ่นต้องดิ้นและทำสงครามกับสหรัฐอเมริกาต่อไป

สาเหตุที่กองทัพบกญี่ปุ่นจำเป็นต้องจัดการกับสงครามจีน-ญี่ปุ่นให้เบ็ดเสร็จก็เนื่องจากความไม่พอใจภายในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น แต่กองทัพบกญี่ปุ่นก็ใช้ข้ออ้างว่าเป็นสงครามเพื่อ “สันติภาพตลอดกาลของภาคพื้นตะวันออกไกล” (東洋永遠の平和) “ระเบียบใหม่ของเอเชียตะวันออก” (東亜新秩序) ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ในตอนนั้น สมาชิกสภาฝ่ายค้านและประชาชนโดยทั่วไปเห็นว่าเมื่อชนะสงครามแล้วก็ต้องเรียกค่าปฏิกรรมสงครามและดินแดน มิฉะนั้นครอบครัวของผู้บาดเจ็บเสียชีวิตและผู้ที่ถูกขูดรีดภาษีไปทำสงครามจะไม่ยอมแน่

แต่กองทัพบกก็จัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดจีนและทำสัญญาให้ญี่ปุ่นประจำการทหารในแมนจูเรีย ซินเจียง และจีนทางเหนือได้โดยไม่มีสิ่งที่ประชาชนต้องการ เมื่อมีการพิจารณาสนธิสัญญานี้ในที่ประชุมคณะองคมนตรี จึงมีเสียงวิจารณ์ว่าสัญญานี้จะลงเอยโดยไม่มีความหมายเช่นเดียวกับสัญญา 21 ข้อที่ทำกับรัฐบาลจีนขุนศึกภาคเหนือเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ทางด้านโตโจนั้นได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกองทัพบกในเดือนก.ค.1940 นั้นเอง เขาได้คุยว่าผลงานที่ชัดเจนของสงครามในจีนก็คือ การได้ฐานที่มั่นทางทหารในจีนและญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำของเอเชีย คราวนี้ต่างกับคราวสัญญา 21ข้อโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม โตโจต้องปวดหัวกับข้อเรียกร้องของประชาชนต่อไป

สิ่งที่บรรยายมาข้างต้นเป็นที่มาของแนวคิดเชิงนโยบายมากกว่า แต่ในลำดับของเหตุการณ์ ก็มีความสำคัญที่ทำให้เข้าใจภาพทั้งหมดได้ครบถ้วนมากขึ้น

  • ค. รายละเอียดของเหตุการณ์

ปี 1905 ญี่ปุ่นกับรัสเซียทำสัญญาพอร์ตสมัท ที่รัสเซียยกสิทธิการเช่าทางรถไฟสายแมนจูเรียตะวันออก ทางรถไฟสายแมนจูเรียใต้ (หลี่ซุ่น-ฉางซุน) และ เหมืองถ่านหินในพื้นที่คาบเกี่ยว ญี่ปุ่นเรียกแมนจูเรียใหม่ว่า แคว้นคันโต (関東州)  นี่คือข้ออ้างที่ญี่ปุ่นส่งทหารเข้ามาในแมนจูเรียเป็นครั้งแรก นัยว่าเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์เหล่านั้นทั้งหมด ในขณะนั้น จางโซหลิน ขุนศึกภาคตะวันออกเฉียงเหนือจีนมีอำนาจครอบคลุมแมนจูเรียทั้งหมด กองกำลังคันโตจึงส่งที่ปรึกษาทางทหารให้จางโซหลิน แต่การต่อต้านญี่ปุ่นและความช่วยเหลือจากยุโรปอเมริกาทำให้จางโซหลินเริ่มออกห่างจากญี่ปุ่น

วันที่ 4 มิ.ย.1928 กองกำลังคันโตอยู่เบื้องหลังการวางระเบิดรถไฟที่จางโซหลินนั่งอยู่อย่างลับ ๆ และฆ่าจางโซหลิน หัวหน้าผู้ดำเนินการคือ โคโมโตะ ไดซากุ ซึ่งถูกทำโทษสถานเบาด้วยการย้ายตำแหน่งแขวนเอาไว้ เหตุการณ์ครั้งนี้ พระจักรพรรดิโชวะทรงไม่พอพระทัยมากและคณะรัฐมนตรีของทานากะ งิอิจิ (田中義一) ต้องลาออกทั้งหมด

จางเสวเหลียงรับตำแหน่งขุนศึกแมนจูเรียต่อจากบิดา วันที่ 29 ธ.ค.1928 จางเสวเหลียงเปลี่ยนธงทั้งหมดในแมนจูเรียเป็นธงของจีนคณะชาติหรือที่เรียกว่า (易帜) และประกาศว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน พร้อมกันนั้นเขาสร้างทางรถไฟสายใหม่แข่งกับทางรถไฟแมนจูเรียใต้ของญี่ปุ่น ตั้งด่านเก็บภาษีจากสินค้าทั้งขาเข้าขาออกเขตอิทธิพลของเขา และห้ามชาวเกาหลีและญี่ปุ่นซื้อที่ดินในแมนจูเรีย ธุรกิจญี่ปุ่นที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการภายหลังการรับช่วงสิทธิถูกยกเลิกทั้งหมด ฝ่ายญี่ปุ่นจะร้องเรียนอะไรก็ต้องผ่านรัฐบาลจีนในนานกิง เนื่องจากเขาอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน

เหตุการณ์ทั้งหมดข้างต้น นำไปสู่เหตุการณ์ 9.18 หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า มันชูยิเฮน (満洲事変) วันที่ 18 ก.ย.1931 เวลา 10.20 น. โดยประมาณที่ชานเมืองเฟิ่งเทียน (奉天) ปัจจุบันเรียกว่าเสิ่นหยาง (沈阳) ใกล้กับทางรถไฟสายแมนจูเรียใต้ ห่างจากจุดที่จางโซหลินถูกวางระเบิดเมื่อ 3 ปีก่อนเพียงไม่กี่กิโลเมตร ระเบิดที่เกิดขึ้นเล็กน้อยมาก ขบวนรถเร็วที่วิ่งผ่านภายหลังเหตุการณ์ก็เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในศาลทหารระหว่างประเทศภาคตะวันออกไกลที่โตเกียว

รายละเอียดเรื่องนี้ถูกเปิดเผยว่า พ.อ.อิตางากิ เซอิชิโร เสนาธิการทหารระดับสูงของกองกำลังคันโตที่รับตำแหน่งต่อจากโคโมโตะ ไดซากุ และ พันโทอิชิฮารา คันยิ เสนาธิการทหารฝ่ายยุทธการของกองกำลังคันโต ร่วมกันบงการเพื่อเป็นข้ออ้างนำไปสู่ปฏิบัติการทางทหาร พันตรีฮานายะ ทาดาชิ (花谷正) ที่ปรึกษาหน่วยสืบราชการลับประจำเฟิ่งเทียนและร้อยเอกอิมาดะ ชินทาโร (今田慎太郎) ที่ปรึกษาทางทหารของจางเสวเหลียง ร่วมกันสั่งการให้วางระเบิด ร.ท.โคโมโตะ สุเอะโมริ (河本末盛) ผู้บังคับกองลาดตระเวนอิสระประจำ หู่สือไถ (虎石台) ของกองกำลังคันโต เป็นผู้สั่งการให้ปฏิบัติการวางระเบิดอีกทีหนึ่ง หลังจากนั้น 1 วัน กองกำลังคันโตเข้ายึดทุกเมืองในแมนจูเรียไว้ทั้งหมด

วันที่ 19 ที่ประชุมร่วมของกระทรวงกองทัพบกและสำนักงานใหญ่เสนาธิการทหารเห็นพ้องโดยเอกฉันท์ว่าปฏิบัติการครั้งนี้เป็นเรื่องถูกต้องและอนุมัติให้กำลังเสริม 1 กองพลแก่กองกำลังคันโต ในวันเดียวกัน มินามิ ยิโร (南次郎) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกองทัพบกแถลงต่อคณะรัฐมนตรี ว่าปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการป้องกันตัวเอง ชิเดฮารา คิยูโร (幣原喜重郎) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงความสงสัยว่าเป็นแผนการของกองกำลังคันโต

โรโคเคียวยิเคน (盧溝橋事件) ในภาษาญี่ปุ่น หรือเหตุการณ์ 7.7 (七七事变) ในภาษาจีน เป็นเหตุการณ์ที่เกิด ณ สะพานมาร์โคโปโลที่ทอดข้ามแม่น้ำหย่งติ้ง (永定) ในอำเภอหวั่นผิง (宛平) ซึ่งอยู่ห่างจากปักกิ่งไปทางตะวันตกประมาณ 20 กิโลเมตร ในวันที่ 7 ก.ค.1937 กองทหารญี่ปุ่นประจำจีน ณ เมืองเฟิงไถ (丰台) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของปักกิ่ง ทำการซ้อมรบที่บริเวณสะพานมาร์โคโปโล ญี่ปุนอ้างว่าเป็นไปตาม ซินโฉ่วเถียวเอีย (辛丑条约) หรือข้อตกลงปักกิ่ง (北京議定書) ในภาษาญี่ปุ่น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สัญญาดังกล่าวระบุสถานที่ที่กองทหารต่างชาติจะประจำการได้ด้วยชื่อที่แน่นอน 12 แห่งซึ่งไม่รวมเฟิงไถ แต่ญี่ปุ่นก็แถว่าประจำการตามสิทธิของกองทหารอังกฤษ  ในปี 2018 ซากุไร เรียวจู (桜井良樹) แห่งมหาวิทยาลัยเรอิทากุ (麗沢大学) ได้กล่าวไว้ในงานวิจัยเกี่ยวกับกองทหารญี่ปุ่นประจำจีนว่า ญี่ปุ่นตีความข้อตกลงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของตนเองตลอดเวลาภายหลังเหตุการณ์ 9.18 แม้ว่ามหาอำนาจอื่น ๆ จะตีความเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และในทางที่ลดกำลังทหารลง ญี่ปุ่นเท่านั้นที่ตีความเพื่อการรุกรานและเพิ่มกำลังทหารมากขึ้น

[ติดตามอ่านตอนต่อไป]