‘ทีเอ็มบี’ชี้คนไทยปรับพอร์ต ‘เงินฝาก’ตุนสภาพคล่อง

‘ทีเอ็มบี’ชี้คนไทยปรับพอร์ต ‘เงินฝาก’ตุนสภาพคล่อง

ทีเอ็มบีชี้คนไทยแห่โยกเงิน เข้าบัญชีออมทรัพย์ จากฝากประจำ แม้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรับความเสี่ยงจากโควิด-19 ชี้ออมทรัพย์คล่องตัวสูง ถอนง่าย

161211536722
    จากผลกระทบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 พบว่านอกจากสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาพรวมเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ และระบบการเงินลดลงด้วย

    โดยเฉพาะด้านการลงทุนที่พบว่า นักลงทุนมีการปรับตัวด้านการลงทุนค่อนข้างมากในปี 2563 ที่ผ่านมา ให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอน และรับมือกับโควิด-19 มากขึ้น

    “นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ได้มีการศึกษาข้อมูลเงินฝากของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2563 โดยพบว่า จากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้ฝากเงิน มีการปรับพอร์ต และบริหารความเสี่ยงจากพอร์ตเงินฝากมากขึ้น

โดยเฉพาะการโยกเงินจาก บัญชีเงินฝากประจำไปสู่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์มากขึ้น เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งประชาชน และเอกชน ครัวเรือนมีการระมัดระวังความเสี่ยงมากขึ้น จากความไม่แน่นอน และผลกระทบโควิด-19 ทำให้มีการโยกเงินไปสู่บัญชีออมทรัพย์ที่ถอนง่าย แปลงเป็นสภาพคล่องได้รวดเร็ว แม้บัญชีเงินฝากออมทรัพย์จะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำมากเพียงระดับ 0.25% หากเทียบกับฝากประจำ

แต่เงินฝากออมทรัพย์มีความคล่องตัวสูง ถอนง่าย ไม่ต้องรอครบกำหนด ต่างกับเงินฝากประจำ ที่จะถอนได้ก็ต้องครบกำหนดที่ธนาคารกำหนดไว้ ทำให้เห็นเงินฝากจากบัญชีเงินฝากประจำบางส่วน ไหลไปสู่เงินฝากออมทรัพย์มากขึ้น


    สะท้อนผ่านข้อมูลเงินฝากประจำ ที่คาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 2563 ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่ 4.63 ล้านล้านบาท ลดลงราว 10% หากเทียบกับ ปีก่อนหน้าที่เงินฝากประจำอยู่ที่ 5.15 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลดลงของเงินฝากรายย่อยมาอยู่ที่ 2.69 ล้านล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อนหน้า และเงินฝากของรายใหญ่ ลดลง 6% มาอยู่ที่ 1.06 ล้านล้านบาท

    สอดคล้องกับเงินฝากประจำของ 5 แบงก์ใหญ่ ที่ปรับลดลง โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ ลดลงถึง 19% กรุงไทยลดลง 7% และกสิกรไทยลดลง 3%

    แตกต่างกับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ที่ขึ้นสู่ระดับพีคต่อเนื่อง ล่าสุดคาดการณ์ว่า ทั้งปี 2563 เงินฝากออมทรัพย์จะขยายตัว 26% หรือแตะ 10.43 ล้านล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่ อยู่เพียง 8.3 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับ 5 แบงก์ใหญ่ที่บัญชีฝากออมทรัพย์พุ่งต่อเนื่อง โดยธนาคารกรุงศรีฯ เพิ่มขึ้นถึง 42% ธนาคาร ไทยพาณิชย์และกรุงเทพ เพิ่มขึ้นถึง 27% กรุงไทยเพิ่มขึ้น 22% และกสิกรเพิ่มขึ้นที่ 18%

    ขณะที่เงินฝากโดยรวมของทั้งระบบถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเติบโตขึ้นราว 12% แตะ 15.07 ล้านล้านบาท หากเทียบกับ ปีก่อนหน้าที่ 13.4 ล้านล้านบาท

    โดยเงินฝากรายย่อยเติบโตถึง 11% ขณะที่เงินฝากธุรกิจรายใหญ่เติบโตสูงถึง 16% เหล่านี้ก็ถือเป็นตัวบ่งบอกให้เห็นชัดเจนว่า ภายใต้ความเสี่ยง ความไม่แน่นอนที่มากขึ้น ทำให้ผู้ฝากเงินเลือกที่ “ฝากเงิน” ไว้ในบัญชี เพื่อ “ลดความเสี่ยง” มากขึ้น

    หากมองในระยะข้างหน้าโดยเฉพาะปี 2564 มองว่าเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงสูงต่อเนื่อง จากการระมัดระวังการใช้จ่ายของประชาชนมากขึ้น ภายใต้โควิด-19 ที่ยังอยู่

    แต่แบงก์อาจเจอโจทย์หนักมากขึ้นในระยะข้างหน้า หากโควิด-19 ลามกว่าที่คาด ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องลดดอกเบี้ยลงจากระดับปัจจุบันที่ 0.50% ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ดอกเบี้ยเงินฝากลดลงตามเงินกู้ อาจกระเทือนผู้ฝากเงินได้ อาจเห็นผู้ฝากเงินเลือกออกไปแสวงหาผลตอบแทนสูงหรือ Search for yield มากขึ้น

    แต่ทางเลือกที่ดีที่สุด ที่มองว่าธปท.เลือกทำ คือการลดเงินนำส่ง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูแลพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 0.23%

    เพื่อส่งผ่านให้แบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ แทนการลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะหากช่างน้ำหนักแล้ว ผลกระทบคงน้อยกว่ามาก อย่างน้อยก็ไม่สะเทือนผู้ฝากเงิน และยังสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้อยู่ในระดับมั่นคงได้!