“กูรู” ผ่าเทรนด์ 2021  รู้ไว้ ไม่ตกขบวน! 

“กูรู” ผ่าเทรนด์ 2021   รู้ไว้ ไม่ตกขบวน! 

โควิดทำให้เส้นบางๆของคำว่า “เทรนด์” จางลง แต่จะบอกว่า “ไม่มีเทรนด์” ธุรกิจอาจเหมือนขาด "เข็มทิศ" ไกด์แผนงาน กลยุทธ์ ส่วนปีฉลูอะไรมาแรงบ้าง ฟัง "กูรู" หลากวงการให้ทัศนะ!

โควิด-19 อาจเป็นตัวแปรให้ “นักธุรกิจ” คิดใหม่ มองบริบทการค้าขายแตกต่างจากอดีต หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ “เทรนด์” หรือแนวโน้มเศรษฐกิจ การตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคในเซ็กเตอร์ที่ตนเองอยู่ว่าปรับเปลี่ยนอย่าางไร แต่วันนี้กลับมาการฟันธงว่า “ไม่มีเทรนด์” อีกต่อไปหรือ Trends Is No Trends ทว่า ยังมีสิ่งที่ย้อนแย้งเกิดขึ้น เพราะเปิดปีฉลูมา การคาดการณ์แนวโน้มต่างๆยังเกิดขึ้นเสมอ

การอ่านและมองเทรนด์อาจเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักธุรกิจรู้สิ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นภาพลางๆ เพื่อจะได้วางแผนงาน กำหนดกลยุทธ์เพื่อทำให้ค้าขายไปถึง “เป้าหมาย” ที่วางไว้ ซึ่งคงไม่ต่างจากการ “ดูดวงชะตาราศี” ที่เป็นศาสตร์จับยามสามตาว่าอนาคตของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร เพื่อใช้เป็น “เข็มทิศ” ในการเดินไปข้างหน้าสู่จุดมุ่งหมายของชีวิต

เมื่อเทรนด์​ยังสำคัญ งาน AP THAILAND and SEAC Present CTC2021 Active Virtual Conference  จึงระดม “กูรู” จากหลากหลายวงการให้มาช่วยวิเคราะห์ และฟันธงว่าอะไรจะมาแรงในโลกอนาคตอันใกล้ท่ามกลางสถานการณ์ทุกคนเผชิญโรคโควิด-19 ระบาด รวมถึงโลกหลังโควิด-19 คลี่คลาย และระหว่างทางผู้ประกอบการจะตระเตรียมตัวกันอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดพ้นวิกฤติจนกระทั่งพ้นอุโมงค์มืดมิดไปเจอกับฟ้าใสสว่าง ทุกอย่างกลับมาฟื้นตัวสู่สภาวะปกติ 

++จีพีดีโตต่ำ 2-3%

ตุนสภาพคล่อง-ออกซิเจนให้พร้อม

ประเดิมด้วยกูรูด้านเศรษฐกิจ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ประเมินการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 2564 จะอยู่ระดับ 2-3% ไม่เกินนี้ ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดการณ์ไว้ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งยังไม่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ 

“คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวไม่ถึง 3% และกว่าจะใช้เวลากลับไปสู่ภาวะปกติ หรือดีขึ้น อาจใช้เวลาถึงปลายปี 2565” 

161211326317

แม้ในความยากลำบากและข้อจำกัดของโรคระบาดกระทบส่งออก การค้าขายหลายเซ็กเตอร์ต้องหดตัว แต่บางธุรกิจเป็น “ขาขึ้น” มีการเติบโตเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์ รวมถึงการท่องเที่ยว ที่หวังว่าจะ “กลับมาเร็ว” กว่าที่ประมาณการณ์ไว้ เพราะหากมีวัคซีนต่อสู้ไวรัสร้าย มีเอกสารยืนยันผู้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วแนบกับพาสปอร์ต ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี จีนฯ ประเทศเหล่านี้ชื่นชอบเมืองไทย หากเดินทางเที่ยวได้ จึงเป็น “ความหวัง” ให้ธุรกิจและเศรษฐกิจไทยไม่น้อย 

ทว่า นั่นเป็นการมองโลกในแง่ดี เตรียมรับโอกาส แต่แผนสองด้านลบต้องมองไว้ โดย ดร.กอบศักดิ์ บอกว่า “วัคซีน” เป็นความหวังและแสงสว่างปลายอุโมงค์ของภาคธุรกิจ แต่นับไทม์ไลน์ของการได้รับวัคนซีนต้องกินเวลาค่อนข้างนานกว่าจะครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ ยิ่งกว่านั้น ไม่มีใคร “ฟันธง” ได้ว่า การแพร่ระบาดระลอก 2 ระลอก 3 หรือครั้งใหม่จะเกิดขึ้นหรือไม่ แล้วรัฐจะมีมาตรการกำราบโรคร้ายขั้นสุดอย่าง “ล็อกดาวน์” จนธุรกิจโดนน็อคคาเวทีการค้าอีก

ปัจจัยดังกล่าว กูรูเศรษฐกิจจึงแนะนำให้ผู้ประกอบการต้อง “รักษาสภาพคล่อง” ให้ดี เพราะเปรียบเสมือน “ออกซิเจน” สำรองของธุรกิจในการต่อลมหายใจระหว่างฝ่าวิกฤติครั้งนี้ 

“ข่าวดีคือทุกคนเห็นวัคซีนที่จะเตรียมฉีดให้ประชากร เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ แต่ปัญหาคืออีกระยะหนึ่งกว่าที่จะเดินไปถึงปลายอุโมงค์ ผมบอกได้เลยว่าไม่ใช่เวลา 1-2 เดือน แต่อาจเป็น 6-12 เดือน นั่นหมายถึงภาคธุรกิจต้องเตรียมการสภาพคล่อง ออกซิเจนให้เพียงพอที่จะอยู่ถึงจุดนั้น..เราต้องมีชีวิตรอดไปถึงปลายอุโมงค์ และออกสู่ยุคใหม่ที่จะเป็นยุคเฟื่องฟูอีกครั้ง” 

++ปีแห่งการประคองตัว

ห้วงเวลาคว้าโอกาส 

ไวรัสมฤติยูอาจเป็น Fear Factor สำคัญว่าธุรกิจจะแข็งแกร่ง ยืดหยัดทัดทานวิกฤตินานแค่ไหน ดร.กอบศักดิ์ จึงยกให้ปี 2564 เป็นปีแห่งการ “ประคองตัว” ย้ำการตุนกระเงินสด รักษาสภาพคล่องธุรกิจไว้ให้ดี เพราะการต่อสู้กับโรคระบาดเป็นระยะ “มาราธอน” จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ลดลง มีผลต่อมาตรการรัฐงัดออกมาต่อกรไวรัสทั้งสิ้น 

ปีก่อนไวรัสระบาดรอบแรก ผลกระทบทางเศรษฐกิจเกิดหลายด้านทั้งค้าขายในประเทศลำบาก ส่วนการ “ส่งออก” ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เคลื่อนเศรษฐกิจไทยหยุดชะงักไปหลายเดือน เมื่อโควิดคลี่คลาย การส่งออกไปสหรัฐ จีน กลับมาเติบโต 15% และ 8% ตามลำดับ ส่วนตลาดยุโรป ญี่ปุ่นยังคง “ติดลบ” เล็กน้อย อุตสาหกรรมบางเซ็กเตอร์โตและหดตัวแตกต่างกัน จึงต้องตั้งการ์ดให้มั่น ประคองตัวกันให้ดีตลอดรอดฝั่ง 

หากเป็นปีแห่งประคองตัว อีกมุมเป็นปีแห่ง “โอกาส” หรือปีของการหยิบฉวยโอกาส เช่นกันสำหรับนักธุรกิจที่ไม่ใช่แค่ตื่นมาแล้วหงุดหงิดใจกับไวรัสทำให้ขยับตัวลำบาก แล้วอะไรเป็นโอกาสบ้าง ดร.กอบศักดิ์ มองการเคลื่อนทัพธุรกิจเข้าสู่ “ดิจิทัล” ค้าขายออนไลน์ที่เติบโตคือขุมทรัพย์อีกก้อน การ “เตรียมองค์กร” ให้พร้อมยามเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว กำลังซื้อไทย-เทศฟื้นตัว 

เพราะเป็นนักเศรษศาสตร์ที่สวมบทเป็นลูกค้าขาประจำต้องเดินชอปปิงสยามพารากอนทุกเสาร์อาทิตย์เป็นเวลา 10 ปี และหาสินค้าเจอตลอด แต่ 2-3 เดือนที่ผ่านมา กลับหาสินค้าไม่พบ เพราะทางศูนย์การค้ามีการปรับปรุงทั้งหมดให้ดีขึ้น เพื่อรอวันโควิดจบจะได้คว้าโอกาสค้าขาย 

161211398517

ยามวิกฤติการ “ลดต้นทุน” ต้องทำเข้มข้นขึ้นเพื่อให้รอดพ้นวิกฤติ เพราะช่วงค้าขายดีทำเงินโกยกำไรเป็นกอบเป็นกำ มักจะมองข้ามเรื่องนี้ การหา “หัวกะทิ” เสริมทัพ จะมองหาลูกน้องเก่งๆเข้ามาร่วมงาน ช่วงนี้คงเป็นคำตอบที่ดี เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 พังธุรกิจเสียหายมหาศาล หลายธุรกิจอ่อนแอร่อแร่อาจไม่รอด คนตกงาน ว่างงานมหาศาล ทำให้บริษัท “ช้อปคนเก่ง” ร่วมงานได้ เป็นต้น   

การเตรียมพร้อมต้องทำระดับประเทศด้วย เพราะหลังโลกโรคระบาด “อาเซียน” ยังคงเนื้อหอมในการเป็นแหล่งเคลื่อนย้าย “ซัพพลายเชน” โลกให้มาซบในภูมิภาคนี้ และเป็นโอกาสของประเทศไทยซึ่งอยู่กึ่งกลางด้วย แน่อน “ภาคธุรกิจ” ย่อมได้รับอานิสงส์เช่นกัน 

“เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมสุดรับ New Normal การฟื้นตัวในปี 2564 หรือการแข่งขันที่จะกลับมารุนแรงขึ้นในปี 2565”  

++อสังหาฯ 2564 บ้านเป็นมากกว่าบ้าน

“บ้านต้องเป็นมากกว่าบ้านเป็นความท้าทายของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต” มุมมองของ “วิทการ จันทวิมล” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ถึงการ Unlock The Next Living Insights

เหตุผลเพราะบ้านในยุคโควิด-19 เป็นทั้งที่ทำงานของพ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นห้องเรียน สถานที่เรียนพิเศษ เป็นฟิตเนสของคนรักการออกำลังกาย รักสุขภาพ เป็นร้านอาหารให้เชฟกระทะเหล็กมือสมัครเล่น เป็นต้น 

บ้านที่เคยมี “พื้นที่ส่วนตัว” จะกลายเป็นพื้นที่ส่วนรวมของคนในบ้านหรือ Space for all member ยิ่งเป็นคอนโดมิเนียม ต้องคิดหนักจะวางสัดส่วนออกแบบแปลนห้องอย่างไรให้มีพื้นที่ส่วนตัวและส่วนรวมไปพร้อมๆกัน 

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตท้าทาย เพราะโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างมาก หลายอย่างที่ “เลิกทำ” หลายอย่างจะเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ติดตัวระยะยาว เช่น พฤติกรรมคุ้นชินเก่งใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตผู้บริโภค เชื่อมต่อกับโลก สร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน เหล่านี้ดีเวลลอปเปอร์ต้องนำไปตีโจทย์การออกแบบ พัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ 

161211328612

ดังนั้นแนวโน้มการพัฒนาอสังหาฯแห่งอนาคต วิทการ สรุป 3 เทรนด์ ดังนี้ 1.ความหนาแน่น(Density) ซึ่งต้องประเมินจาก ดีมานด์ ของตลาด การจะลงทุนเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัย พัฒนาอสังหาฯใหม่ๆ การวิเคราะห์ความต้องการตลาดยังเป็นหัวใจ ผู้ประกอบการต้องเกาะติดการเคลื่อนย้ายประชากรไปอาศัยทีต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าขุมทรัพย์อยู่ตรงไหน ทำเลใดที่ประชากรหนาแน่น ตลาดขนาดเล็กใหญ่เพื่อตอบโจทย์ได้ตรงใจ และไม่มี “ซัพพลาย” ล้นตลาดจนดูซับ ขายไม่ออกต้องแบกสต๊อกกันไปนาน 

ทั้งนี้ กรุงเทพฯและปริมณฑล ยังเป็นตลาดใหญ่ คนอาศัยหนาแน่น แต่อีกโจทย์ต้องขบคิดคือ “ต้นทุน” จาก “ราคาที่ดินแพงระยับ” ในทำเลทองที่น้อยลงเรื่อยๆ ความต้องการเพิ่มแต่ถ้าบ้านเดี่ยว ทาวเฮ้าส์ คอนโดมิเนียมราคาสูง “ลูกค้า” สู้ไม่ไหวย่อมส่งผลต่อการขายช้า 

“ดีมานด์เพิ่ม แต่ทุกอย่างแพงขึ้น โดยเฉพาะราคาที่่ดิน ขนาดมีโรคโควิดระบาด หรือเกิดวิกฤติอะไร ราคาที่ดินก็ไม่เคยลง เป็นอีกความท้าทายว่าจะพัฒนาอสังหาฯอย่างไรให้คนซื้อได้ แต่พื้นที่เล็กลง”  

เมืองหลวง ทำเลเด่นจะกลายเป็น “ป่าคอนกรีต” เพิ่มขึ้น แต่ผู้บริโภคกลับถวิลหา “พื้นที่สีเขียว” เห็นจากพฤติกรรมการปลูกต้นไม้ที่บูมมาก จึงต้องคิดรังสรรค์พื้นที่ส่วนกลาง ทั้งสวนแนวตั้ง แต่สิ่งเหล่านี้จะ “ลดพื้นที่” บางอย่าง และมีผลต่อต้นทุนของดีเวลลอปเปอร์ทั้งสิ้น รวมถึงการดีไซน์ “ฟังก์ชั่น” พื้นที่ส่วนกลางให้ใช้งานส่วนตัวและสร้างความสะดวกสบายให้ผู้อยู่

“ดีเวลลอปเปอร์ต้องมองให้ครบวงจร การพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่ใช่แค่บ้าน แต่มีสิ่งที่ตามมาอีกมากมาย”    

2.รักสุขภาพ ไม่ใช่แค่เทรนด์แต่กลายเป็นวิถีปกติที่ผู้บริโภคตระหนัก ดังนั้นพื้นที่ออกกำลังกาย พื้นที่สีเขียว การออกแบบที่อยู่อาศัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 อากาศถ่ายเท มุมห้อง การรับแดด ลิฟท์ต้องไม่ใช่พื้นที่สะสมเชื้อโรค ต้องหาทางลดการสัมผัสเวลากดลิฟท์ การรักษาระยะห่าง ฟิตเนสมีฉากกั้น ไม่ใช่แค่ป้องกันโควิดแต่เป็นจิตวิทยาเพิ่มความเป็นส่วนตัว ฯ สิ่งเหล่านี้ ต้องทำให้ลูกบ้านคลายกังวลได้หมดแม้จะพ้นโรคระบาดแล้วก็ตาม 

3.เทคโนโลยี โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี แม้ธุรกิจอสังหาฯจะเข้าสู่ดิจิทัลช้ากว่าหลายอุตสาหกรรม แต่โรคที่มาก่อนโควิดคืออาการ “ขาดมือถือไม่ได้” หรือ NoMoPhobia ของผู้บริโภค ขาดมือถือ แบตหมดอาจขาดความมั่นใจ เมื่อผู้บริโภคต้องการเชื่อมต่อโลก ผู้คนตลอดเวลา ดีเวลลอปเปอร์จึงต้องนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ทุกส่วนตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ก่อสร้าง ทำการตลาดสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนบริหารชุมชน ทั้งหมดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เช่น ใช้เทคโนโลยี ทำให้รู้จักลูกค้ามากขึ้น ทำราคาบ้านให้ถูกลงแต่คุณภาพสูงขึ้น  จุดนี้จะเป็นตัวชี้วัดการแข่งขันในสมรภูมิอสังหาฯด้วยว่า “ใครจะตกเทรนด์ ใครจะก้าวเร็วกว่าคนอื่น”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักคือเมื่อมีเทคโนโลยี ย่อมมาพร้อมกับดาต้า และต้องรู้จักใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ “ดาต้าท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เราต้องประยุกต์ใ้ช้พื่อสร้างความได้เปรียบ” เช่น ต้องรู้จักเข้าใจความต้องการของลูกค้าแต่ละเจนเนอเรชั่น  เพื่อพัฒนาทีอยู่อาศัยตอบทุกช่วงวัย

“ที่สำคัญเราต้องมีความยืดหยุ่นสูง โดยเฉพาะการเงินต้องมีก๊อก 1 ก๊อก 2 รับมือวิกฤติ หากกเราใช้เงินหมดตั้งแต่ก๊อกแรก เราตายเลย เพราะปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดได้ทุกนาที การตลาดอาจมีแผนเอ แผนบีเลื่อนเปิดโครงการไม่ยาก แต่การพัฒนาอสังหาฯจากแนวสูงมาแนวราบ ไม่ง่าย หากไม่ฝึกตั้งแต่ต้น มาเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือไม่ได้ จุดนี้ต้องเตรียมตัวก่อนวิกฤติ” 

++ Pandemoment-Internet of Behaviors

กำหนดโลกธุรกิจ

โควิด-19 เป็นอีกครั้งที่โลกเผชิญการแพร่ระบาดของโรคครั้งใหญ่ และเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย รวมถึงการนิยามสถานการณ์นั้นๆ เช่นเดียวกับ Pandemoment ที่บ่งบอกสิ่งที่ทั้งโลกกำลังต่อสู้เอาตัวรอดจากศัตรูที่มองไม่เห็นอย่างเชื้อโรค เหตุการณ์ดังกล่าว อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี หยิบ 6 จาก 21 เทรนด์ของ trendwatching.com มาแบ่งปัน 

161211349162

โรคระบาดลากยาวข้ามปี ทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆมากมายเพื่อรับมือวิกฤติ หวังยืนหยัดอยู่รอด, Virtuality Groundesd เวอร์ชวลมีบทบาท เช่น อีเวนท์จัดในพื้นที่ไม่ได้ ต้องนำเสนอผ่านออนไลน์ งานเสมือนจริงงแทน, Old Spice สังคมสูงอายุมีบทบาทมากขึ้น จากการแพทย์ที่ก้าวหน้าทำให้คนอายุยืน นั่นหมายถึงวัยเกษียณ 60 ปี ได้ต่ออายุใช้สมอง พรสวรรค์ เพื่ออยู่ในระบบงานนานขึ้น, Trancycling การพัฒนาธุรกิจ รูปแบบใหม่ สร้างสรรค์แฟชั่นจากของเหลือทิ้ง และ Digital Parity ทุกอย่างจะเข้าสู่ดิจิทัลหมด เพราะบทเรียนจากการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ทางเลือกและ “แผนสอง” ในการค้าขายต้องมา โดยเฉพาะออนไลน์  

นับตั้งแต่อินเตอร์เน็ตทรงพลัง ทำให้นักการตลาดมองว่า อินเตอร์เน็ตคือทุกสิ่งหรือ Internet of Things : IOT แต่นาทีนี้ต้องยกให้ Internet of Behaviors : IOB เพราะพฤติกรรมผู้บริโภค การใช้งานอินเตอร์เน็ตต่างๆทั้งกดไลค์ คอมเมนต์ และแชร์ข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ จะเป็นตัวกำหนดเกมให้นักการตลาดต้องคิดค้นสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองทุกความต้องการ

เทรนด์ใหญ่ของนวัตกรรมที่่ต้องเกาะติดคือ Physical Computing เรื่องราวในโลกภาพยนตร์ไซไฟจะเป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเทคโนโลยีทีอยู่บนจอมือถือ จะหลอมรวมมาอยู่ในโลกความเป็นจริงยิ่งขึ้น เช่นแทรกตัวอยู่ในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น แว่นตา นาฬิกาฯ นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการจะรู้พฤติกรรมลูกค้าได้ตลอดเวลา ละเอียดขึ้น จึงต้องนำสิ่งเหล่านี้ไปต่อยอดธุรกิจ สร้างเอ็นเกจเมนต์ใหม่ๆ สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ สร้างประโยชน์ให้ลูกค้าและบริษัท  

“คอมพิวเตอร์จะหลุดจากหน้าจอมาอยู่ในชีวิตจริง IOT แคบไปแล้ว วันนี้หากไม่รู้ Physical Computing เราตกยุคแล้ว หากคิดจะพัฒนาแอ๊พพลิเคชั่น ทำเว็บไซต์แข่งกับคู่แข่ง เราตกยุคเรียบร้อยแล้ว” ที่ผ่านมาองค์กรอาจทุ่มลงทุนเรื่องดาต้า แมทชีนเลิร์นนิ่ง ปีนี้ต้องลงทุน IOT

โลกหมุนไปข้างหน้า แต่อย่าลืมเหลียวหลังด้วย โดยเฉพาะประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ จะส่งผลต่อ “คนทำงาน” วัยทำงานน้อยลง ประเทศต้อสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่รองรับ 

“แม้โควิดจะหายไป แต่ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุ นี่คือความจริง และจะตอกย้ำว่าครีเอทีฟ อีโคโนมมี ดิจิทัล อีโคโนมีสำคัญและเป็นไพรออริตี้”  

++ PEST Analysis เปลี่ยน 

คนห่วงงาน ออมเงิน ประหยัดใช้จ่าย

องค์กรธุรกิจถูกขับเคลื่อนโดยทุนมนุษย์(Human Capital) ไม่ได้ใช้แล้วหมดไป แต่โลกเปลี่ยนแปลงทุกขณะ เทรนด์ของวัฒนธรรมองค์กร บุคลากน ก็ไม่หยุดนิ่งเช่นกัน อภิชาติ ขันธวิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิว เจน คอนซัลแทนท์ จำกัด (QGEN) และผู้ร่วมก่อตั้งเพจ HR - The Next Gen หยิบ PEST Analysis ที่เปลี่ยนแปลงในเวลานี้ มากระทบวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์การทำงานของคนให้ต่างจากเดิม 

161211301180

  เริ่มที่ P : Political สภาวะทางการเมืองไม่ว่าจะระดับโลก หรือท้องถิ่น หากเกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลต่อนโยบายการค้าขาย กระทบธุรกิจในวงกว้าง เช่น การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็น “โจ ไบเดน” นโยบายการเมือง การต่างประเทศ การค้าขายย่อมไม่เหมือนเดิม เพียงแค่เปลี่ยน “คู่ค้า” ที่่เคยซื้อขายสินค้าและบริการย่อมสั่่นสะเทือนเป็นลูกโซ่ ขณะที่การเมืองในประเทศไทย ทุกครั้งที่เกิดการชุมนุมททางการเมือง วิธีการใช้ชีวิตของประชาชนจะเปลี่ยน

E : Economic สถานการณ์เศรษฐกิจมีผลอย่างมากต่อชีวิตผู้คน ช่วงเศรษฐกิจเติบโต ผู้คนมั่งคั่ง ประเทศเจริญกับช่วงเศรษฐกิจถดถอย ผู้คนรายได้ลดย่อม พฤติกรรมผู้บริโภคย่อมแตกต่างกัน อย่างช่วงโควิดระบาด เห็นภาวะ “คนทำงาน” กังวลมากเรื่องรายได และมีการพิจารณา “การเก็บออมเงิน” มากกว่าเดิม จากก่อนหน้าอาจไม่สนใจจัดสรรเงินกี่เปอร์เซ็นต์เพื่อเก็บหอมรอมริบ รวมถึงการมองหารายได้เพิ่ม ลดค่าใช้จ่ายลงด้วย วิถีเหล่านี้กระทบธุรกิจในภาพกว้าง

S : Socio-Cultural สภาวะสังคม มี 2 ด้านให้เกาะติด คือ โลกของการทำงานจะพบความแตกต่างและหลากหลายของเจนเนอเรชั่นมีมากขึ้น ความเชื่อ วิธีการทำงานที่เติบโตมาคนละแบบ อาจเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนองค์กร จึงต้องหาวิธีการให้ทุกเจนฯ ทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีจากความแตกต่าง การทำงานที่หลากหลาย 

อีกด้าน สังคมสูงอายุ จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานหารายได้ของคน เช่น ครอบครัวที่มีคนอยู่รวมกัน 10 คน เดิมอาจทำงาน 6 คนเพื่อเลี้ยงทุกคนในบ้าน หากมีคนแก่เพิ่ม เหลือคนทำงาน 4 คน นั่นหมายถึงคนน้อยจะต้องหาเงินให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเพียงพอต่อการยังชีพทั้งบ้านเท่าเดิม

“บ้านเราจนลงจากภาวะของการเป็นประเทศที่อยู่ในสังคมสูงอายุ หากเราไม่ทำอะไรเลย ไม่เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตรูปแบบการทำงาน คนจะต้องหาเงินให้ได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะเปลี่ยนวิธีคิดการทำงานแน่นอน”   

T : Technological การเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์(AI) หุ่นยนต์ต่างๆ ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้คนทำงานและเปลี่ยนรูปแบบการทำงานด้วย 

“อย่างหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดคือเรื่องทัศนคติ วิธีการคิดส่วนหนึ่งเกิดจากตัวเรา แต่อีกส่วนมาจากเทรนด์การตลาด ทำให้คนปรับตัวเองให้เป็นที่ต้องการของตลาด” 

อย่างไรก็ตาม วิกฤติโรคระบาดที่ยังคงอยู่ ทำให้มนุษย์เงินเดือนห่วง “ความมั่นคงในการทำงาน” สูงสุด มองว่างานที่ทำอยู่จะยังไม่ถูกถอดจากองค์กรหรือมีเอไอเข้ามาแทนที่เร็วๆนี้ ตามด้วยความมั่นคงทางรายได้ เพราะตอนนี้รายได้เท่าเดิม หรืออาจถูกลดเงินเดือน แต่รายจ่ายมากขึ้น ทำให้ “งานที่2” เป็นสิ่งที่คนมองหาเพิ่มเสริมรายได้จากเงินเดือน-งานประจำ 

นอกจากงานมั่งคง “สุขภาพ” ทั้ง “ร่างกาย” และ “จิตใจ” เป็นสิ่งที่คนทำงานต้องการอยากองค์กร เช่น ช่วงโควิดบริษัทมีการทำประกันสุขภาพให้หรือไม่ ด้านสุขภาพจิต ต่างกังวลไวรัสร้ายจนถามตัวเอง..ติดยังวะ! ยิ่งต้องเดินทางฝ่าวงล้อมโควิดไปทำงานที่บริษัท หากไม่สามารถตอบโจทย์ความมั่นคงทั้ง 3 ด้าน พนักงานจะรู้สึกไม่อยากทำงานทุ่มเทเต็มที่ให้องค์กร

“ต้องปรับตัวทั้ง 2 ฝั่ง องค์กรต้องปรับเพื่อรักษาคนเก่งไว้”  อย่างไรก็ตาม การทำงานเต็มไปด้วยความเครียด และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนทำงานต้องหาทางสร้างแรงจูงใจ ดึงตัวเองออกจากสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อฟื้นสภาพจิตใจและทำงานอย่างมีความสุข 

++ปั้นโมเดลธุรกิจใหม่ 

ลดต้นทุน จับมือมิตร 1+1 ต้องมากกว่า 2

ธุรกิจมีทั้งเล็กใหญ่ แต่จะเป็น “ผู้ประกอบการ” ไซส์ไหน ก็ยังต้องรบกับสงครามที่ยังไม่มีจุดจบ และหากจะพูดถึงหนึ่งในผู้ประกอบการที่โดดเด่นด้านการเอาตัวรอด ฝ่าวิกฤติโควิดได้ค่อนข้างสวยสดงดงาม ต้องยกให้ แม่ทัพ ของ “เพนกวิน อีท ชาบู” เพราะไม่เพียงแก้เกมเปิดร้านไม่ได้ แต่กลับขายสินค้าเสิร์ฟอร่อยถึงบ้าน โกยออเดอร์รัวๆหมดในพริบตา แต่ “บาดแผลฉกรรจ์” จากโรคระบาด เป็นบทเรียนที่ดีไม่น้อย 

161211342195

ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้งเพนกวิน อีท ชาบู เล่าสถานการณ์ขับเคลื่อนธุรกิจท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงโรคระบาด เสมือนสงครามที่ยังไม่สิ้นสุด และท่ามกลางสมรภูมิดังกล่าวเกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาล หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “เทรนด์” ที่มองว่าจะไม่มีอีกแล้ว สูตรสำเร็จทางการตลาดที่เคยทำ สร้างยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำยามวิกฤติ หากทำซ้ำอาจแป้ก! โดยประสบการณ์ขายชาบูแถมหม้อเสิร์ฟความอร่อยถึงบ้าน สร้างความฮือฮาให้ตลาด ผู้บริโภค ปิดการขายอย่างรวดเร็ว พอใช้กระบวนท่าเดิมกลับไม่ดีเหมือนเดิม

นอกจากนี้ “คู่แข่ง” มากขึ้น เมื่อต้องการอยู่รอดปรับกระบวนท่าเก่งขึ้นด้วย เดลิเวอรี่ที่เย้ายวนใจเพราะผู้บริโภคใช้จ่ายต่อครั้งคึกคัก กลับลดลง นโยบายรัฐที่เปลี่ยนท่ามกลางโควิดระบาด ทำให้ผู้ประกอบการต้องเกาะติดสถานการณ์และปรับตัวเรียลไทม์แบบครึ่งวันจึงจะพ้นกับดักความสำเร็จ เช่น เพนกวิน อีท ชาบู เตรียมออกแคมเปญแถมหม้อชาบูตอน 20.00 น.แต่รัฐออกแอ๊พพลิเคชั่น “หมอชนะ” ต้องแก้แคมเปญภายใน 2 ชั่วโมง ดึงผู้บริโภค 

“สิ่งที่เราเรียนรู้จากปีที่ผ่านมา คือ Trend is No Trend สูตรสำเร็จและแคมเปญการตลาดเดิมๆใช้ไม่ได้แล้วตอนนี้ เราต้องมีความยืดหยุ่นสูงมากในการปรับตัว เพราะไม่รู้เลยวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น” 

ปีนี้การผนึกพันธมิตรจำเป็นมาก หาโมเดลธุรกิจใหม่ ลงทุนน้อยสุด ใช้ทรัพยากรที่มีร่วมกันให้ “คุ้มค่าสร้างผลลัพธ์ไม่ใช่แค่ 1+1=2 และ “รอด” ไปด้วยกัน ที่ห้ามลืม! คือการ “เข้าใจความต้องการลูกค้าเชิงลึก” หรือ Insight หาจุดเจ็บปวด(Pain point)ให้เจอแล้วแก้โจทย์ให้โดนใจ ตัวอย่าง แคมเปญของเพนกวินฯ เน้นเจาะสาวโสด ทั้งแจกหม้อชาบูทานคนเดียว ชาบูแถมทินเดอร์ แถมคอร์สเสริมความงาม แม้กระทั่งหม้อชาบูปลุกเสกความรักโดยพระ 9 รูป ใช้เวลาปลุกเสก 3 ชั่วโมง เรียกว่าขยี้!อย่างต่อเนื่อง แต่ผลลัพธ์คุ้ม เพราะหม้อ 1,000 ชุด ขายหมดใน 1 นาทีบ้าง 5 นาทีบ้าง  

“เราทำตลาดเจาะเซ็กเมนต์เดียวให้แน่นคือสาวโสด เพราะมีเพนพอยท์เยอะ หากใครจะเข้ามาในตลาด การโฟกัส เข้าใจลูกค้าหลักจริงๆจะอยู่รอด” 

ท้ังหมดเป็นเพียงบางส่วนของ “เทรนด์ 2021” ที่กูรูเศรษฐกิจ การตลาด ฉายภาพลางๆ ให้เป็น “เข็มทิศ” หรือ “ตะเกียง” นำทางธุรกิจปีฉลูให้ยืนหยัดอย่างแข็งแรง ฝ่ามรสุมจนผ่านพ้นรับวันท้องฟ้าแจ่มใสในเร็ววัน