ผ่าแผนเศรษฐกิจ ‘เจเน็ต เยลเลน’

ผ่าแผนเศรษฐกิจของ "เจเน็ต เยลเลน" ผู้นำทีมฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐในรัฐบาลโจ ไบเดน ที่น่าจับตาจากอดีตประธานธนาคารกลาง (เฟด) สู่รัฐมนตรีคลังหญิงคนแรกของสหรัฐ จะนำทีมเศรษฐกิจฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 อย่างไร?

เมื่อลมการเมืองเปลี่ยนทิศ จนทำให้นายโจ ไบเดนจากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 ต่อจากนายโดนัลด์ ทรัมป์แล้ว ลมเปลี่ยนทิศนี้ก็ยังพัดหวนให้ “นางเจเน็ต เยลเลน” (อดีตประธานธนาคารกลาง (เฟด) ซึ่งพ้นตำแหน่งไปเมื่อปี 2561 ในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์) ได้กลับมาเป็นผู้นำทีมฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐอีกครั้งในบทบาทใหม่คือ รัฐมนตรีคลังหญิงคนแรกของสหรัฐ

ตอนที่นางเจเน็ต เยลเลน ทำหน้าที่เป็นประธานเฟดในช่วงปี 2557-2561 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์การเงินโลกแล้ว นางเจเน็ต เยลเลนได้เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันหลายครั้งแม้จะไม่มีสัญญาณของการจ้างงานเต็มที่ก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมการที่จะค่อยๆ ทยอยปล่อยขายหลักทรัพย์ทางการเงินที่ถือไว้จำนวนมากออกมา (Fed’s QE exit strategy) แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้มาก เพราะเธอได้ครบวาระแรกของการดำรงตำแหน่งประธานเฟดไปเสียก่อน

การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว ได้ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งซึ่งรวมถึงสหรัฐด้วย มีความจำเป็นต้องหันกลับไปใช้นโยบายคิวอีกันอีกครั้ง อัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศก็ได้ลดลงกลับไปใกล้ศูนย์กันอีกรอบ จึงมีคำถามว่าการกลับมาสวมหมวกรัฐมนตรีคลังหนนี้นั้น นางเจเน็ต เยลเลนจะวางแผนจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ให้ฟื้นคืนมาได้อย่างไรบ้าง

นางเยลเลนได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากนี้ สหรัฐควรกล้าที่จะ “จัดหนัก” เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในรูปของมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พลิกฟื้นกลับขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งเธอเชื่อว่ามาตรการทางการคลังดังกล่าวจะสร้าง “ประโยชน์” ได้มากกว่า “ต้นทุน” ที่เสียไป

เธอยังหวังว่ารัฐสภาสหรัฐจะให้ความเห็นชอบผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน (ที่หลายฝ่ายมองว่าอาจจะเกินตัวในยามที่สหรัฐกำลังขาดดุลงบประมาณที่สูงถึงร้อยละ 15 ของจีดีพี และมีหนี้สาธารณะถึงร้อยละ 100 ของจีดีพี) เธอกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สหรัฐจะต้องเร่งช่วยเหลือประชาชนของตนที่ตกงานและคนด้อยโอกาสในสังคม เพื่อให้พวกเขาสามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ได้ ส่วนปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณนั้น เราสามารถรอไปแก้ในช่วงระยะกลางต่อไปได้

นอกจากนี้ นโยบายภาษีของประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่ได้สัญญาไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียงว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้น เช่น ภาษีเงินได้ธุรกิจที่จะปรับขึ้นจากร้อยละ 21 ไปเป็นร้อยละ 28 เป็นต้นนั้น ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ภาษีและลดการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐได้บางส่วน

เธอยังคาดการณ์ว่าผลจากการใช้จ่ายจำนวนมากของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ (เมื่อผนวกกับผลของการฉีดวัคซีนให้คนอเมริกันจำนวนมากเพื่อหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19) แม้ส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา แต่เธอก็มั่นใจว่าธนาคารกลางสหรัฐจะสามารถใช้นโยบายการเงินเพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อเอาไว้ได้

ในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เจเน็ต เยลเลน ได้ย้ำว่าเธอไม่เห็นด้วยกับเรื่องการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันไม่ให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากเกินไป ขณะเดียวกัน สหรัฐก็จะมีมาตรการตอบโต้ประเทศอื่นที่ดำเนินนโยบายบิดเบือนลดค่าเงินของตัวเองเหมือนในอดีตเช่นกัน

ส่วนเรื่องของประเทศจีนนั้น นางเจเน็ต เยลเลน กล่าวว่า จะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากรที่ดำเนินการไปแล้วกับประเทศจีนในช่วงนี้ ซึ่งสะท้อนท่าทีเชิงรุกของสหรัฐต่อประเทศจีนในเรื่องเศรษฐกิจและการค้า ว่าจะยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักในเร็วๆ นี้

และในฐานะที่เธอก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่นางเจเน็ต เยลเลนจะมีความเห็นว่าเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาโลกร้อนก็คือ การใช้ระบบการกำหนดราคาคาร์บอนที่ได้ผลนั่นเอง

โดยสรุปแล้ว ผู้เขียนขอวิเคราะห์ว่ารัฐมนตรีคลังคนใหม่ของสหรัฐ นางเจเน็ต เยลเลน คงคาดการณ์ว่าการกระจายฉีดวัคซีนจะสามารถช่วยสกัดและลดความกังวลในปัญหาเรื่องการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐได้ในไม่ช้า เธอจึงตัดสินใจจัดหนักใช้ “สมาร์ทบอมบ์ทางการคลัง” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือคนตกงาน ธุรกิจ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แบบเทเกือบหมดหน้าตัก โดยไม่ต้องห่วงเรื่อง “เสถียรภาพทางการคลัง” และ “เสถียรภาพราคา” เพราะเธอมั่นใจว่าจะตามไปแก้ในภายหลังได้ สำหรับเธอแล้วการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้ามีความสำคัญมากกว่า จึงไม่อาจปล่อยให้ปัญหาทรุดหนักไปกว่านี้ เพราะจะก่อความเสียหายที่มากกว่าได้ในระยะยาว

ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดว่าแผนเศรษฐกิจดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่ คงหนีไม่พ้นเรื่องประสิทธิผลวัคซีนที่จะต้อง “เอาชนะ” โควิด-19 ให้ได้ก่อนที่สหรัฐจะใช้กระสุน “สมาร์ทบอมบ์ทางการคลัง” จนหมดเกลี้ยง จึงต้องจับตาดูด้วยใจระทึกต่อไป เพราะพวกเราก็มีส่วนได้ส่วนเสียในทางอ้อมด้วยไม่มากก็น้อย