กมธ.ปลดล็อก“รัฐธรรมนูญใหม่” เปิดฉบับปรับแก้ฝ่ายการเมือง

กมธ.ปลดล็อก“รัฐธรรมนูญใหม่”  เปิดฉบับปรับแก้ฝ่ายการเมือง

ถนน แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกขนานามว่า แก้ยากมาก เดินมาสู่จุดที่เรียกว่า ใกล้สำเร็จ หลัง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ที่มีทั้ง ฝ่ายค้าน และ ฝ่ายรัฐบาล เห็นพ้องในสาระและเตรียมส่งให้รัฐสภา พิจารณาปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

     รัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดที่กำหนดกติกาการอยู่ร่วมกัน ได้กลายเป็นชนวนความขัดแย้งในสังคม ไม่เฉพาะฝ่ายการเมืองแต่ยังลามไปถึงประชาชน โดยเฉพาะทีมผู้นำรัฐบาลจากคณะรัฐประหาร ถูกกล่าวหาว่าเปลี่ยนกติกาใหม่เพื่อสืบทอดอำนาจ จนหลักการประชาธิปไตยถูกตั้งคำถามอย่างหนัก นำไปสู่การชุมนุมที่ตั้งเงื่อนไขต้องแก้รัฐธรรมนูญ

     ปัญหานี้จึงไม่สามารถซุกไว้ใต้อำนาจรัฐบาลได้อีกต่อไป กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญจึงเริ่มต้นขึ้น และมาถึงจุดนี้

     คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) รัฐสภา ที่มี วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกรรมาธิการทำงานใกล้เสร็จสิ้น โดยเหลือการประชุมของกรรมาธิการอีก 1 ครั้งในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ก่อนเชิญสมาชิกรัฐสภาที่เสนอคำแปรญัตติทั้ง 109 คนมาชี้แจงรายละเอียด จากนั้นจึงสรุปเนื้อหาทำเป็นรายงานเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุระเบียบวาระวันที่ 24 - 25 กุมภาพันธ์ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาในวาระสอง

     สำหรับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข มีข้อปรับปรุงซึ่งใช้การลงคะแนนตัดสิน สำหรับสาระสำคัญที่ปรับปรุงจากเนื้อหาหลัก ตามฉบับแก้ไขของกลุ่ม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล มีดังนี้

     หมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าด้วยการให้มี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ​(ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้ง บทสรุปให้มี ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยประเด็นนี้ กมธ.ฯ ได้พิจารณาถกเถียงกันอย่างยาวนาน กว่า 3 ชั่วโมง ก่อนจะสรุปเป็นความเห็นพ้อง

     สาระที่ถกเถียงคือการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ว่าจะใช้เขตจังหวัดตามความเห็นของ ส.ส.ฝ่ายค้าน เขตประเทศตาม กมธ.ซีกของพรรคก้าวไกลเสนอ หรือแบบแบ่งเขตตามที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐเสนอ

     เสียงส่วนใหญ่ เห็นพ้องว่าการใช้เขตจังหวัดจะสกัดการซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้ รวมถึงขจัดอิทธิพล-มาเฟียได้

     ส่วนคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ร.ยืนตามเนื้อหา ให้สิทธิ์บุคคลอายุ 18 ปีลงเลือกตั้งได้ ส่วนลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะลงสมัครเป็นส.ส.ร. ยกรัฐธรรมนูญ​มาตรา 98 มาบังคับใช้ พร้อมทั้งห้ามเป็นข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรี

     หลักเกณฑ์ของการกำหนดจำนวนของ ส.ส.ร.ในแต่ละจังหวัดพึงมี ยึดเกณฑ์จำนวนประชากรปีที่เลือกตั้งส.ส.ร. หารด้วยจำนวน ส.ส.ร. กรณีจังหวัดใดมีประชากรน้อยกว่าสัดส่วนที่หารแล้ว จะให้ถือว่ามี ส.ส.ร. ได้หนึ่งคน ส่วนจังหวัดใดที่มีประชากรมาก และมีส.ส.ร.​ได้เกิน 1 คน จะใช้หลักไล่คะแนนสูงสุด ไปจนถึงลำดับที่มีส.ส.ร.ในจังหวัดนั้น

     กรอบเวลาการเลือกตั้ง ส.ส.ร.กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องดำเนินการเลือกตั้งภายใน 90 วัน ขณะที่รายละเอียดอื่นๆ สำคัญ​ เช่น การเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร กกต.​ต้องจัดให้ผู้สมัคร ส.ส.ร. ได้แนะนำตัวอย่างเท่าเทียม ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้ใช้มาตรา 95 และมาตรา 96 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

     การออกเสียงเลือกตั้งต้องโดยตรงและลับ เลือกได้เพียง 1 คน ทั้งนี้จะลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้ใดก็ได้

     กำหนดอำนาจ กกต. ออกหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งส.ส.ร. ได้ เมื่อเลือกตั้งเสร็จ กกต.​ต้องประกาศผลภายใน 15 วัน

     ส่วนการจัดทำรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. มีสาระสำคัญคือทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 240 วัน

     สำหรับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดให้มีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ​ตามที่ฝ่ายค้านเสนอ แต่เห็นพ้องกันว่า เป็นอำนาจของ ส.ส.ร. ที่จะกำหนดและพิจารณาตั้งกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ ทำหน้าที่ จึงกำหนดให้นำรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ว่าด้วยการตั้งกรรมาธิการ และระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการประชุมรัฐสภามาบังคับใช้โดยอนุโลม

161210703252

     กำหนดให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ต้องรับฟังความเห็นของประชาชน คณะรัฐมนตรี ส.ส. วุฒิสภา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีข้อกำหนดที่เป็นบทบังคับ คือ ต้องฟังความคิดเห็นประชาชนในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง

     หลังการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ กำหนดให้ส.ส.ร.นำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อให้อภิปรายแสดงความคิดเห็น โดยไม่มีการแก้ไข หรือลงมติชี้ขาด จากนั้นให้ส่งให้กกต.​ดำเนินการออกเสียงประชามติ ภายใน 90 วัน

     สำหรับผลการประชามติ หากเห็นด้วยให้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่หากผลประชามติตรงกันข้าม จนเป็นผลให้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ส.ส.ร.ยกร่างนั้นตกไป กำหนดมีกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยสมาชิกรัฐสภายืนยันเสนอ แต่คนที่เคยทำหน้าที่ “เขียนรัฐธรรมนูญ” รอบก่อน ห้ามกลับมาทำหน้าที่ซ้ำอีก

     อย่างไรก็ดี ในมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น โดยปลดล็อคเสียงของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เห็นชอบด้วยวาระแรก และปลดล็อคเสียงเห็นชอบในวาระสาม ที่กำหนดให้มี เสียงของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ร้อยละ 20 รวมถึงเสียง ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 นั้น ล่าสุดยังต้องลงมติในหลักเกณฑ์นั้น โดยมีตัวเลือกระหว่าง คะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 หรือเสียง 2 ใน 3 หรือ เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง

    ซึ่งประเด็นนั้นจะโยงถึงกรณีจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ กรณีร่างของ ส.ส.ร.ตกไปที่กำหนดให้อำนาจรัฐสภาดำเนินการ ซึ่งตามร่างของส.ส.รัฐบาล ต้องใช้เกณฑ์ออกเสียง 2 ใน 3 แต่กรรมาธิการมองว่าเป็นเกณฑ์คะแนนที่สูงและยากเกินไป จึงเสนอให้ใช้เกณฑ์คะแนนเสียงที่สอดคล้องกับการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยวันที่ 4 กุมภาพันธ์จะได้ข้อยุติอย่างชัดเจน

     โดยในสาระที่ปรับปรุงนั้น “สมคิด เชื้อคง" ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ฐานะกรรมาธิการฯ บอกว่าพอใจในเนื้อหา เพราะหัวใจที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านต้องการคือ “ส.ส.ร.​มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 100%” ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยไม่ถือเป็นสาระสำคัญ

161210749438

     ส่วนกรณีที่ระยะเวลาทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ใช้เวลา เกือบ 1 ปี ครึ่ง แบ่งเป็นเลือกตั้ง ส.ส.ร.90 วัน ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.ร.15 วัน ทำรัฐธรรมนูญใหม่ 240 วัน ทำประชามติ 90 วัน ​ประกาศผลประชามติ บวกวันทูลเกล้าฯ ถวาย และประกาศใช้นั้น “สมคิด” บอกว่า ไม่ติดใจ แม้จะเกินเวลาที่ฝ่ายค้านตั้งใจให้เป็น

     “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ที่ให้ ส.ส.ร.มาจากเลือกตั้ง ถือเป็นผลงานจากการผลักดันของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และการสร้างกระแสของประชาชน ผมเชื่อว่าในวาระ 2 และวาระ 3 จะได้รับการตอบรับจากทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนมีตัวแทนร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไม่มีสะดุด” สมคิดทิ้งท้าย.