'ท่องเที่ยวฯ' ชง 'บิ๊กตู่' พิจารณารัฐร่วมจ่ายค่าจ้างแรงงานท่องเที่ยว 4 แสนคนนาน 2 เดือน

'ท่องเที่ยวฯ' ชง 'บิ๊กตู่' พิจารณารัฐร่วมจ่ายค่าจ้างแรงงานท่องเที่ยว 4 แสนคนนาน 2 เดือน

“พิพัฒน์” ยื่นข้อเสนอเอกชนท่องเที่ยวให้ “บิ๊กตู่” พิจารณารัฐร่วมจ่ายค่าจ้าง 50% แล้ว เล็งหารือนายกฯเพิ่มขอฉีดวัคซีนพนักงานโรงแรม-ร้านอาหาร-ร้านนวด-คนขับรถนำเที่ยว-แท็กซี่ใน 7 เมืองท่องเที่ยวหลักก่อน

พร้อมชี้เป้าดึงต่างชาติเที่ยวไทย 10 ล้านคนปี 64 เป็นไปได้ยาก ทำได้ 5 ล้านคนถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ได้เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พิจารณาข้อเรียกร้องของภาคเอกชนท่องเที่ยวที่ขอให้รัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน 50% ของเพดานสูงสุด 15,000 บาท ภายใต้ระบบร่วมจ่ายหรือ Co-Payment ให้แก่บุคลากรธุรกิจท่องเที่ยวจำนวน 400,000 คนเป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งรัฐอาจต้องใช้เงินร่วมจ่ายประมาณ 6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้นายกฯได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปพิจารณาร่วมกับ 5 กระทรวง ได้แก่ การคลัง การท่องเที่ยวฯ แรงงาน มหาดไทย และพลังงาน เพื่อหาข้อสรุปและทางออกของข้อเรียกร้องดังกล่าว รวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเสนอขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน ซึ่งกระทรวงการคลังจะหารือกับสมาคมธนาคารไทยให้เข้ามาช่วยพยุงผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยว

สำหรับแนวทางการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 กระทรวงการท่องเที่ยวฯเตรียมหารือกับนายกฯ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่กลุ่มผู้ประกอบการและบุคลากรท่องเที่ยว อาทิ พนักงานโรงแรม ร้านอาหาร คนขับรถนำเที่ยว คนขับรถแท็กซี่ และหมอนวดในเมืองท่องเที่ยวหลัก 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และสงขลา เป็นกลุ่มแรกๆ จำนวนประมาณ 5 ล้านโดส ครอบคลุม 2.5 ล้านคน

“เหตุผลที่ต้องการให้มีการฉีดวัคซีนแก่บุคลากรท่องเที่ยวใน 7 เมืองหลักเป็นกลุ่มแรกๆ ก่อน เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยากมาเที่ยวไทยก็อยากรู้ว่ากลุ่มคนที่ต้อนรับเขานั้นได้รับการฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง ขณะที่บุคลากรท่องเที่ยวเองก็จะได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยความสบายใจ เพราะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 แล้ว นับเป็นความสบายใจของทั้งสองฝั่ง คือฝั่งผู้ให้บริการและฝั่งนักท่องเที่ยว”

ส่วนเรื่องการออกพาสปอร์ตวัคซีน (Vaccine Passport) สำหรับคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ทาง สธ.กำลังอยู่ระหว่างออกแบบว่าควรเป็นรูปแบบไหน จะเป็นการให้ตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันหรือสมาร์ทการ์ด ยังต้องรอข้อสรุปอีกที ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็อยู่ระหว่างออกแบบพาสปอร์ตวัคซีนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

“ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้ตั้งเป้าหมายตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยปี 2564 ที่จำนวน 5-10 ล้านคน โดยมองว่าถ้าปีนี้มียอดเดินทางเข้าไทย 5 ล้านคน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว”

เพราะการที่จะไปถึงเป้าสูงสุด 10 ล้านคนนั้นเป็นไปได้ยาก ต้องขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นและความพร้อมในการเดินทางของนักท่องเที่ยวจาก 3 ตลาดหลักระยะใกล้ ได้แก่ ตลาดมาเลเซีย ซึ่งนิยมเดินทางข้ามพรมแดนมาเที่ยวภาคใต้ของไทย เมื่อปี 2562 มีชาวมาเลเซียทั้งหมดเดินทางเข้ามาถึง 4 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีตลาดจีนซึ่งเคยเดินทางเข้าไทยสูงถึง 11 ล้านคนในปีดังกล่าว รวมถึงตลาดอินเดียซึ่งเคยเดินทางเข้าไทย 2 ล้านคนในปีเดียวกัน โดยทั้ง 3 ตลาดครองสัดส่วนมากกว่า 40% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยทั้งหมดกว่า 39.9 ล้านคนเมื่อปีดังกล่าว ส่วนตลาดระยะไกล เช่น ยุโรป และอเมริกา มองว่ายังหวังได้ยากที่จะเป็นกำลังหลักในการฟื้นตัวของปีนี้