วศ.พัฒนา 'สมาร์ทคิท' เพิ่มแม่นยำเครื่องวัดอุณหภูมิฯ เสริมแกร่งตรวจโควิด!

วศ.พัฒนา 'สมาร์ทคิท' เพิ่มแม่นยำเครื่องวัดอุณหภูมิฯ เสริมแกร่งตรวจโควิด!

วศ.พัฒนาชุด 'สมาร์ทคิท' เพิ่มแม่นยำให้เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟาเรด หวังสนับสนุนหน่วยตรวจหรือ จุดคัดกรองตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เสริมความมั่นใจด้วยผลการวัดอุณหภูมิที่แม่นยำ และน่าเชื่อถือ พร้อมจัดทำต้นแบบนำร่องแก่ผู้ประกอบการ เพื่อขยายสู่เชิงพาณิชย์

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) พัฒนาชุดสมาร์ทคิท หรือชุดถ่ายโอนมาตรฐาน (transfer standard) ใช้ตรวจสอบความถูกต้องของการอ่านค่าอุณหภูมิของเครื่องวัดอุณหภูมิชนิดไม่สัมผัส (อินฟาเรด) เพื่อช่วยสนับสนุนหน่วยตรวจหรือจุดคัดกรองตรวจหาผู้ติดเชื้อโรคโควิด–19 มีความมั่นใจว่ามีผลการวัดอุณหภูมิที่ถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ
161210166992
นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า จากวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจำนวนมาก ทั้งยังมีแนวโน้มการแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง จึงได้ดำเนินการให้นักวิทยาศาสตร์เร่งเดินหน้างานวิจัยและนวัตกรรมในหลายๆ ด้าน เพื่อตอบโจทย์การใช้งานจริงในปัจจุบัน และในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว โดยเฉพาะการจัดตั้งจุดคัดกรองเพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อโรคโควิด–19 ซึ่งสังเกตได้จากผู้ป่วยมีอาการไข้ขึ้นอุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 37.5 องศา
ซึ่งปัจจุบันตามจุดคัดกรองต่างๆ นิยมใช้เครื่องวัดอุณหภูมิชนิดไม่สัมผัส (อินฟาเรด) หรือ Non-Contact Thermometer ที่ใช้เทคโนโลยีอินฟาเรด เนื่องจากเป็นเครื่องวัดอุณหภูมิที่สะดวกและปลอดภัยทั้งผู้ใช้และผู้ถูกตรวจ และถึงแม้ว่าเครื่องวัดอุณหภูมิจะมีความสะดวกและปลอดภัยแต่ก็มีโอกาสผิดพลาดของผลการวัดและอาจส่งผลให้การคัดกรองผู้ป่วยมีความผิดพลาดได้ จึงเป็นที่มาของการวิจัยพัฒนาที่ วศ. ให้ความสำคัญ และเป็นการเสริมประสิทธิภาพให้จุดคัดกรองตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น เป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการ
161210169157

161210171134

ด้านนายวันชัย ชินชูศักดิ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ และนายวีระชัย วาริยาตร์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชุดสมาร์ทคิทดังกล่าว มีหลักการทำงานโดยเมื่อกระแสไฟฟ้าถูกส่งผ่านวงจรของสารกึ่งตัวนำความร้อนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นที่จุดรอยต่อด้านหนึ่งและจะถูกดูดกลืนอีกด้านหนึ่งเรียกว่า Peltier Effect ซึ่งหลักการนี้นำมาใช้ในการพัฒนาชุดสมาร์ทคิทดังกล่าว โดยสถานภาพปัจจุบันชุดสมาร์ทคิทนี้ ได้ยื่นขอใบรับรองการจดอนุสิทธิบัตรแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาในการรับรองไม่เกิน 6 เดือน โดย วศ. พร้อมทำเป็นเครื่องต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับผู้ประกอบการต่อไป