เมื่อฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมปัญหา COVID-19

เมื่อฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมปัญหา COVID-19

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปัญหา COVID-19 รุนแรงขึ้น เสี่ยงเพิ่มจำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้น

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไทยรวมถึงกรุงเทพมหานครยังไม่ดีขึ้น สัปดาห์ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯและหลายจังหวัดต้องเผชิญการกลับมาของ ฝุ่นจิ๋วหรือฝุ่นPM 2.5 อีกครั้ง

2-3 ปีที่ผ่านมา คนไทยรู้จักฝุ่นจิ๋วมากขึ้น จากเดิมที่ไม่สนใจ หรือคิดว่าเป็นหมอก ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ทราบถึงพิษภัย และผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นจิ๋ว 

ฝุ่นจิ๋วเป็นสาเหตุสำคัญของมลพิษในอากาศ ก่อโรคหลายชนิด ตัวอย่างงานวิจัย พบว่า 29% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอด 25% ของผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด และ 43% ของผู้เสียชีวิตจากถุงลมโป่งพองหรือหลอดลมอักเสบเรื้อรังเกิดจากมลพิษในอากาศ 

ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา หลายวันคุณภาพอากาศใน กทม. ต่ำกว่ามาตรฐาน ตัวอย่าง วันที่ 21 ม.ค.2564 เวลา 7.00 น. ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินกว่ามาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึง 69 พื้นที่ของ กทม. (ข้อมูลจากกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.)

หลายท่านอาจไม่ทราบ ฝุ่น PM2.5 ส่งผลต่อปัญหา COVID-19 ด้วยครับ บทความนี้จะนำงานศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่าง COVID-19 และฝุ่น PM2.5 ที่น่าสนใจ มาเล่าสู่กันฟัง

ประการแรก นักระบาดวิทยาชี้ว่า มลพิษในอากาศหรือฝุ่น PM2.5 สัมพันธ์กับการระบาดของ COVID-19 อย่างน้อยใน 3 ลักษณะ กล่าวคือ 1) ทำให้ระบาดมากขึ้น 2) ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น และ 3) ทำให้เมื่อติดเชื้อ มีอาการป่วยรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้เนื่องจากไวรัส COVID-19 แพร่กระจายผ่านการไอหรือจาม มลพิษในอากาศกระตุ้นให้คนไอและจามมากขึ้น จึงเพิ่มการแพร่ระบาดสูงขึ้น นอกจากนี้มลพิษในอากาศยังทำให้การดักจับหรือกำจัดของเสียในระบบทางเดินหายใจทำงานแย่ลง จึงทำให้เราเสี่ยงติดเชื้อง่ายขึ้น รวมถึงมลพิษในอากาศทำให้สุขภาพคนแย่ลง เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ง่ายขึ้น เช่นโรคเกี่ยวกับปอด หัวใจ มีผลให้เมื่อติด COVID-19 มักมีอาการรุนแรง ดังจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจาก COVID-19 ล้วนเป็นผู้มีโรคเหล่านี้เป็นพื้นฐาน

ประการที่สอง มีงานศึกษาหลายชิ้นทดสอบทางสถิติพบความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่น PM2.5 กับ COVID-19 ที่น่าสนใจ เช่น งานชิ้นแรกตีพิมพ์ในวารสาร Science

Advances ปี 2020 เรื่องมลพิษในอากาศกับการเสียชีวิตจาก COVID-19 ในประเทศสหรัฐอเมริกา (เผนแพร่ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พ.ย. 2563) ผู้วิจัยใช้ข้อมูลการเสียชีวิตของคนอเมริกันจาก COVID-19 ของ Center for Systems Science and Engineering Coronavirus Resource มหาวิทยาลัย Johns Hopkins

ผลการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่มีประวัติค่าฝุ่น PM2.5 สูง อัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 ในพื้นที่นั้นสูงไปด้วย งานศึกษาระบุชัดว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีนัยสำคัญสูงทางสถิติ ทั้งพบอีกว่า การเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในค่าฝุ่น PM2.5 นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการเสียชีวิตจาก COVID-19 อย่างมาก 

เช่นเดียวกับงานวิจัยชื่อ Assessing the relationship between surface levels of PM2.5 and PM10 particulate matter impact on COVID-19 in Milan, Italy ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่น PM2.5 และ PM10 ต่อการระบาดของ COVID-19 ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 1 ม.ค. - 30 เม.ย. 2020 และศึกษาร่วมกับตัวแปรอื่นๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ผลการศึกษาพบว่าคุณภาพอากาศที่แย่ลง หรือปริมาณฝุ่นที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรวมจาก COVID-19 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวัน และจำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 

จากงานวิจัยที่ยกมาเป็นข้างต้นจะเห็นว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปัญหา COVID-19 รุนแรงขึ้น เสี่ยงเพิ่มจำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม บางช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์เข้มข้น เพื่อลดการแพร่ระบาด ก็มีส่วนช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้น ปริมาณฝุ่น PM2.5 ลดลง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวลง ตัวอย่างงานวิจัยเรื่อง Air quality during the COVID-19: PM2.5 analysis in the 50 most polluted capital cities in the world ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Pollution เดือน ก.ค. ปี 2020 ซึ่งสำรวจสถานการณ์คุณภาพอากาศใน 50 เมืองที่ยามปกติมีมลพิษในอากาศสูงสุดในโลก พบว่าผลของมาตรการล็อกดาวน์ช่วง COVID-19 ทำให้ค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่น PM2.5 ใน 50 เมืองนี้ลดลงถึง 12% 

สอดคล้องกับข้อมูลจาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ชี้เช่นกันว่า ระดับฝุ่น PM2.5 ที่อันตรายขึ้น ส่งผลให้เชื้อไวรัส COVID-19 ระบาดง่ายขึ้น ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น

เราเตือนเรื่องผลกระทบฝุ่น PM2.5 มานานแล้วว่า มันทำให้เกิดความระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ระบบภูมิต้านทานทางธรรมชาติของเราเสียหาย จนทำให้เราติดเชื้อโรคอื่นๆ ไม่เพียงแต่เชื้อโควิดได้ง่ายขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ฝุ่น PM2.5 ยังสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปในระบบเลือด แพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบทั่วทั้งร่างกายอีกด้วย

ขณะที่งานวิจัยของกรีนพีชที่ทำร่วมกับ AirVisual ประเมินว่าในปี 2562 มลพิษทางอากาศใน 6 หัวเมืองใหญ่ของไทย เช่น กรุงเทพ เชียงใหม่ ชลบุรี สร้างความเสียหายต่อสุขภาพและเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าถึง 200,000 ล้านบาท ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อและป่วยหนักจาก COVID-19 มากขึ้น 

เช่นเดียวกับงานวิจัยจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑลช่วง 1 เดือน ระหว่าง 5 ม.ค.- 5 ก.พ. 2563 (ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19) คิดเป็นมูลค่าถึง 3,200-6,000 ล้านบาท โดยประกอบด้วยค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ ค่าเสียโอกาสจากการท่องเที่ยว และค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจ

ฝุ่นจิ๋ว นอกจากก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจ ปัญหาฝุ่นยังแฝงมิติของความเหลื่อมล้ำ เพราะคนรายได้น้อยเสี่ยงได้รับผลกระทบมากกว่าคนรายได้สูง 

ขณะที่คนมีรายได้สูงสามารถป้องกันตัวเองจากฝุ่นได้ดีกว่าคนมีรายได้น้อย คนรายได้สูงสามารถซื้อเครื่องฟอกอากาศ หน้ากากคุณภาพสูงเพื่อป้องกันฝุ่น มีรถยนต์ส่วนบุคคลใช้เดินทางสัญจร กระทั่งย้ายบ้านหรือที่พักอาศัยไปบริเวณที่สภาพแวดล้อมดีขึ้น ผู้มีรายได้ต่ำเผชิญข้อจำกัดมากกว่าในการรับมือปัญหาฝุ่นหรือป้องกันตัวเอง..และเช่นเดียวกับปัญหา COVID-19 ที่ผู้มีรายได้น้อยเสี่ยงได้รับผลกระทบมากกว่าเช่นกัน

สำหรับรัฐบาลไทย การรับมือ COVID-19 อาจยากกว่าเพราะเป็นปัญหาใหม่ ต้องรอความสำเร็จของวัคซีน แต่กับปัญหาฝุ่น ซึ่งเป็นปัญหาเดิม เกิดซ้ำทุกปี รัฐบาลควรมีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน เพื่อสร้างความปลอดภัยทางสุขภาพให้ประชาชน และลดภาวะซ้ำเติมปัญหา COVID-19 ได้ดีกว่านี้