'โตโยต้า'ทวงคืนตำแหน่งค่ายรถขายดีสุดในโลก

'โตโยต้า'ทวงคืนตำแหน่งค่ายรถขายดีสุดในโลก

'โตโยต้า'ทวงคืนตำแหน่งค่ายรถขายดีสุดในโลก โดยปีที่แล้ว กลุ่มยนตรกรรมชั้นนำแห่งนี้ทำยอดขายรถยนต์ได้ 10.4 ล้านคัน

โตโยต้า มอเตอร์ โค ค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลกสัญชาติญี่ปุ่น สามารถหวนกลับมาเป็นค่ายรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดของโลกได้สำเร็จในปี2563 หลังจากห่างหายไปนาน5ปี โดยเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มยนตรกรรมชั้นนำแห่งนี้ทำยอดขายรถยนต์ได้ 10.4 ล้านคัน ผลพวงจากความต้องการที่คึกคักทั้งในสหรัฐและในจีน ประกอบกับโตโยต้าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 น้อยกว่าบรรดาผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ทั่วโลก

โตโยต้า ก้าวแซงหน้าโฟล์คสวาเกน ขึ้นมาเป็นค่ายรถที่ทำยอดขายได้มากที่สุดในโลก ถือเป็นครั้งแรกในรอบ5ปี ที่ค่ายรถญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งนี้ โดยโตโยต้า ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (28ม.ค.)ว่าในปีที่แล้ว ขายรถยนต์รุ่นใหม่ได้ 9.52 ล้านคัน ลดลง 11.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เมื่อรวมกับยอดขายของซูบารุ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโตโยต้าเมื่อปี 2563 ทำให้ยอดขายรถของบริษัทอยู่ที่ 10.4 ล้านคัน

เจ้าหน้าที่ของโตโยต้า เปิดเผยว่า กลยุทธ์ที่แข็งแกร่งด้านการขาย ซึ่งรวมถึงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ เป็นปัจจัยที่ทำให้ยอดขายของโตโยต้าดีกว่าบริษัทรถยนต์รายอื่นๆ ส่วนยอดขายทั่วโลกของโฟล์คสวาเกน ปรับตัวลง 15.2% สู่ระดับ 9.31 ล้านคันในปี 2563

ส่วนบริษัทนิสสัน มอเตอร์ เตรียมเปิดเผยรายงานยอดขายรถยนต์แต่คาดว่ายอดขายของนิสสันจะน้อยกว่าของโตโยต้าและโฟล์คสวาเกน เนื่องจากยอดขายของนิสสันฟื้นตัวขึ้นอย่างเชื่องช้า

อย่างไรก็ตาม เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ทำให้ยอดขายของทั้งกลุ่มบริษัทโตโยต้าร่วงลงเกือบครึ่งหนึ่งในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ แต่บริษัทก็พยายามเร่งฟื้นยอดขาย โดยเฉพาะในจีน ซึ่งพลิกฟื้นจากสถานการณ์โควิด-19 ในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มข้น
เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว โตโยต้าขายรถได้ 987,700 คัน เพิ่มขึ้น 8.9% จากช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ ถือเป็นการทำยอดขายสูงที่สุดในเดือนดังกล่าว ในตลาดอเมริกาเหนือ ยอดขายของโตโยต้าเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในเดือนพ.ค. อานิสงส์จากกระแสความนิยมรถสปอร์ตอเนกประสงค์(เอสยูวี)

เมื่อปี 2563 โตโยต้าผลิตรถโดยรวมได้ 9.21 ล้านคัน ลดลง 14.1% และในญี่ปุ่น บริษัทผลิตรถได้ 2.92 ล้านคัน รวมทั้งรุ่นเล็กซัสที่ยอดการผลิตลดลง 14.4% โดยแต่ละปี ค่ายรถชั้นนำของญี่ปุ่น ผลิตรถได้ตามเป้าคือ 3 ล้านคัน เป็นเป้าการผลิตของบริษัทเพื่อรักษาระบบห่วงโซ่อุปทานในประเทศ คงการจ้างงานและรักษาบรรดาซัพพลายเออร์ทั้งหลายเอาไว้

เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว โตโยต้า มียอดการผลิตรถทั่วโลกเพิ่มขึ้น 7.0% เมื่อเทียบรายปี อยู่ที่ 828,066 คัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดสำหรับเดือนพ.ย. แม้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่ค่ายรถญี่ปุ่นรายอื่นๆมียอดผลิตลดลงในเดือนพ.ย. แต่โตโยต้ากลับสวนกระแสด้วยยอดผลิตรถที่เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน เพราะอานิสงส์จากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากจีนและญี่ปุ่น

นอกจากนี้ โตโยต้ายังทำยอดขายรถในเดือนพ.ย.ได้จำนวน 852,213 คันทั่วโลก เพิ่มขึ้น 1.8% และเป็นระดับสูงสุดสำหรับเดือนพ.ย. เพราะได้แรงหนุนจากยอดขายรถเอสยูวีราฟ 4 และรถหรูเล็กซัสในจีน รวมถึงอุปสงค์รถเอสยูวีแฮริเออร์และรถคอมแพคในญี่ปุ่น

แต่ในเดือนนี้ ไม่ได้มีแค่โตโยต้าเท่านั้นที่มียอดการผลิตรถทั่วโลกลดลง ค่ายรถรายใหญ่ในญี่ปุ่น 8 รายก็ปรับตัวลง 0.3% อยู่ที่ 2.36 ล้านคัน ถือว่าลดลงครั้งแรกในรอบสามเดือน ส่วนยอดขายรถของ 8 ค่ายรถรายใหญ่ในญี่ปุ่น ลดลง 3.6% ในเดือนพ.ย.เมื่อเทียบรายปี อยู่ที่ 2.24 ล้านคัน

ท่ามกลางการดิ้นรนเพื่อฟื้นยอดขายในช่วงที่โควิด-19 ยังระบาดหนัก ค่ายรถชั้นนำของญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า ก็พยายามพัฒนารถขับเคลื่อนอัตโนมัติไปพร้อมๆกัน ด้วยความหวังว่าจะใช้ประโยชน์จากระบบขับเคลื่อนอัตโนมัตินี้ช่วยให้ยอดขายรถทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด โตโยต้า เพิ่มความร่วมมือกับบริษัทในเครือของอเมซอนดอทคอม บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของสหรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการพัฒนายานยนต์ที่เชื่อมต่อระบบคลาวด์ในอนาคต ซึ่งโตโยต้า บอกว่า การจับมือกับอเมซอน เว็บ เซอร์วิส (เอดับเบิลยูเอส)บริษัทในเครือของอเมซอน มีเป้าหมายที่จะนำการวิเคราะห์ข้อมูลของเอดับเบิลยูเอสไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีของยานยนต์ ให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต ที่โตโยต้าหวังว่าจะใช้ประโยชน์จากความร่วมมือกับเอดับเบิลยูเอส เพื่อพัฒนายานยนต์ที่เชื่อมต่อระบบคลาวด์ ก่อนที่จะมีการใช้เครือข่ายไร้สาย 5จีอย่างแพร่หลาย