3 กลุ่มเชื่อมดีเจดังติด'โควิด-19'อาจเข้าข่ายความผิด 3 กฎหมาย

3 กลุ่มเชื่อมดีเจดังติด'โควิด-19'อาจเข้าข่ายความผิด 3 กฎหมาย

ศบค.รายงานติดเชื้อใหม่ 756 ราย เฉพาะคัดกรองเชิงรุกสมุทรสาคร 724 ราย SaveZone 61 จังหวัดไม่พบคิดเชื้อช่วง 7 วัน กรณีเชื่อมดีเจดังเอาผิดคนปิดข้อมูล-สถานที่-คนร่วมงานเลี้ยงสังสรรค ์อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายรวม 3 ฉบับ โทษทั้งจำ-ปรับ

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที 28 ม.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19(ศบค.) กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 756 ราย เป็นการเข้ารับการรักษาในระบบบริการ 22 รายในจ.สมุทรสาคร 9 ราย กรุงเทพฯ 8 ราย สมุทรปราการ 3 ราย นนทบุรีและอยุธยาจังหวัดละ 1 ราย การคัดกรองเชิงรุก 724 รายในจ.สมุทรสาครทั้งหมดเป็นแรงงานข้ามชาติ 710 ราย คนไทย 14 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย ผู้ป่วยสะสม 16,221 ราย เสียชีวิตสะสม 76 ราย เฉพาะรอบใหม่ สะสม 11,984 ราย รักษาหาย 7,347 ราย ยังรักษา 4,621 ราย เสียชีวิตสะสม 16 ราย


หากดูจากตารางแสดงผู้ติดเชื้อรายจังหวัดจะเห็นว่าหลายจังหวัดมีตัวเลขประปราย โดยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา(21-28ม.ค.2564) จังหวัดที่ไม่เคยมีผู้ติดเชื้อ 14 จังหวัด, จังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 7 วันที่ผ่านมา 47 จังหวัด, จังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกันในช่วง 5-6 วันที่ผ่านมา 2 จังหวัด,จังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกันในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา 1 จังหวัด และจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 2 วันที่ผ่านมา 13 จังหวัด ซึ่งมีจังหสัดที่เรียกว่าเซฟโซน(safe zone)ถึง 61 จังหวัด

0กลุ่มก้อนเชื่อมดีเจมะตูมติดเพิ่ม2 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า กรณีการติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับกรณีดีเจมะตูม มีการรายงานทางการพบติดเชื้อแล้ว 24 ราย และทราบอย่างไม่เป็นทางการเพิ่มอีก 2 ราย รวม 26 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 113 ราย และเสี่ยงต่ำ 53 ราย ซึ่งอาจจะมีทยอยรายงานผลออกมาอีก ซึ่งสิ่งที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีความกังวลจากการสอบสวนโรคคือผู้ติดเชื้อไปในหลายสถานที่ทั้งโรงแรมและร้านอาหาร แต่กลับพบว่า 1.ให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน ทำให้เกิดความสับสน ทั้งที่ไปในสถานที่ใกล้เคียงกัน และ2.มีการปกปิดข้อมูล ซึ่งจะทำให้การแพร่เชื้อระบาดออกไปและคุมโรคได้ล่าช้า


0เอาผิดบุคคลปิดข้อมูล
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เรื่อง ขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.กรณีที่บุคคลให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน หรือมีการปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูลซึ่งควรต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 55 แห่งพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท รวมถึงอาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

0 สถานที่-คนร่วมงานเลี้ยงอาจผิด

2.กรณีสถานที่ซึ่งใช้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคและไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด และ3.กรณีบุคคลที่ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด ซึ่งเป็นมาตรการตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพราะ กรุงเทพมหานครถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามคำสั่งศบค.ที่ 1/2564 ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564 โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน4หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า ตอนนี้เกิดปรากฏการณ์สังคมลงโทษผู้ติดเชื้อ จึงอยากให้สังคมติดตามข่าว ไม่เอาอารมณ์ตัดสิน ให้กรณีนี้นำไปสู่การป้องกันในครั้งต่อไป ต้องยอมรับว่า มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การลงโทษผู้ติดเชื้อ ไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขอให้กฎหมายเป็นผู้ดูแล แต่ประชาชนก็สามารถเรียนรู้เพื่อหามาตรการป้องกันต่อไป ซึ่งเหตุการณ์ใกล้เคียงกันเกิดขึ้นที่ห้างไอคอน สยาม เมื่อวันที่ 16 ม.ค. รายงานพบผู้ติดเชื้อ โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 12 ราย ขณะนี้ติดเชื้อแล้ว 7 ราย และไอคอนสยามที่เดียว มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีกราว 200 ราย จำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อ และต้องค้นหาเชิงรุก อย่างให้เห็นการทำงานที่หนักหน่วงของเจ้าหน้าที่


0ชีวิตคนเมืองเสี่ยงแพร่โรค

"ลักษณะการใช้ชีวิตของกทม.มีวิถีชีวิตชุมชนที่ค่อนข้างใกล้ชิด จึงน่าห่วงจากที่มีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการและไม่มีมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ทำให้การติดเชื้อแพร่ออกไป ยกตัวอย่าง กรณีจอมทองที่มีคนติดเชื้อ 1 คนซึ่งมาจากสมุทรสาคร จากนั้นแพร่เชื้อต่อให้ในครอบครัว และชุมชนจากการที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันยังมีการสังสรรค์ดื่มเหล้า และใช้ชีวิตในชุมชนโดยไม่ป้องกันการแพร่เชื้อทำให้มีผู้ติดเชื้อในชุมชนต่อไปอีกจำนวนมาก ดังนั้น ขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและ อย่าปกปิดข้อมูล เพราะมีความผิดตามกฎหมาย หากไม่ปกปิดเมื่อมีการสอบสวนโรคแล้วจะได้ประกาศไทม์ไลน์ให้คนในชุมชนป้องกันได้"พญ.อภิสมัยกล่าว

0 ย้ำผ่อนคลายแล้วยังต้องเข้มป้องกัน
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า การประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันที 29 ม.ค.2564 เป็นการออกมาตรการเป็นหลักการ แต่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะประชุมเพื่อแต่ละพื้นที่ออกมาตรการเฉพาะพื้นที่ให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม แม้มีการผ่อนคลายแล้ว แต่ในส่วนของภาคประชาชนการ์ดตกไม่ได้ ยังต้องมีการป้องกันส่วนบุคคลทั้งใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างเมื่อไปในสถานที่ต่างๆ ส่วนสถานประกอบการ กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด เช่น ห้างสรรพสินค้าต้องมีการคัดกรอง ไม่จัดกิจกรรมที่ทำให้คนแห่ไปรวมตัวคับคั่ง อย่างโปรโมชั่นวันตรุษจีนก็ยังไม่ควรจัด และส่วนของชุมชน จะต้องเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นการทำผิดและมีความเสี่ยง