นิปปอนเพนต์ชู‘นวัตกรรม’ แก้ปัญหาต้นทุน-แรงงานขาด

 นิปปอนเพนต์ชู‘นวัตกรรม’  แก้ปัญหาต้นทุน-แรงงานขาด

“นิปปอนเพนต์” ผู้ผลิตสีอันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับ 4 ของโลกจากประเทศญี่ปุ่น เผชิญภาวะตลาดถดถอยไม่ต่างจากอุตสาหกรรมแขนงอื่น จากวิกฤติโควิดส่งผลกระทบตลาดรวมสีทาบ้านและอาคาร แต่ก็พบว่า กลุ่มสีเพื่อสุขภาพ กลับเติบโตแบบก้าวกระโดด!

“นิปปอนเพนต์” ผู้ผลิตสีอันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับ 4 ของโลกจากประเทศญี่ปุ่น เผชิญภาวะตลาดถดถอยไม่ต่างจากอุตสาหกรรมแขนงอื่น จากวิกฤติโควิดส่งผลกระทบตลาดรวมสีทาบ้านและอาคาร แต่ก็พบว่า กลุ่มสีเพื่อสุขภาพ กลับเติบโตแบบก้าวกระโดด! ขณะที่ “ปัจจัยลบ” ทั้งแนวโน้มการลดต้นทุน ปัญหาแรงงาน (ช่างสี) ขาดแคลนเป็นโจทย์ในการตั้งรับและมองหาโอกาสใหม่ในการเปิดเกมรุก

วัชระ ศิริฤทธิชัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสีนิปปอนเพนต์ในประเทศไทยกล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน โดยวิกฤติโควิด-19 ทำให้แรงงานต่างด้าวหายไปจากตลาด และแนวโน้มแรงงานไทยลดน้อยถอยลงเพราะเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย

ทำให้บริษัทรีเซ็ตวิชั่น! ในการทำธุรกิจ มุ่งนำเสนอสินค้าและบริการที่เข้ามาช่วย "แก้ปัญหาลูกค้า" ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการโครงการ (B2B) อาทิ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมา สถาปนิก ช่างสี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ส่วนลูกค้ากลุ่มผู้บริโภค (B2C) เน้นสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการ เช่น สีที่ช่วยป้องกันไวรัส พร้อมตอกย้ำ “The Coatings Expert” ผู้เชี่ยวชาญทุกงานสี

“นวัตกรรมและบริการ จะทำให้สปีดการขึ้นโครงการเร็วขึ้น ลดเวลาการทำงาน ลดต้นทุนแรงงาน เท่ากับลดความเสี่ยงของดีเวลลอปเปอร์ เราพยายามสร้างความแตกต่างโดยยึดความต้องลูกค้าเป็นหลักเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งท่ามกลางภาวะที่ตลาดชะลอตัวเพื่อผลักดันยอดขายให้เติบโต 20%ต่อเนื่องจากปีก่อน”

ปี 2563 ตลาดสีทาบ้านและอาคารมูลค่า 25,000 ล้านบาทหดตัว 5-10% ขณะที่ดีมานด์ลดลง 15% เนื่องจากวิกฤติโควิดทำให้ลูกค้าลดหรือชะลอการปรับปรุงบ้าน อาคาร โรงงาน สำนักงาน ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ทั้งแนวราบ และอาคารสูงต่างชะลอหรือยกเลิกการขึ้นโครงการใหม่ รวมถึงรวมถึงการล็อกดาวน์ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ทำให้ต้องปิดร้านค้าในช่องทางโมเดิร์นเทรดเป็นระยะเวลาเกือบ 3 เดือน จึงส่งผลกระทบในวงกว้าง

“แม้วิกฤติโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อตลาดรวมสีทาบ้านและอาคาร แต่ก็พบว่า กลุ่มสีเพื่อสุขภาพ กลับมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้มีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 1,000-1,500 ล้านบาท รวมทั้งยังพบว่า ผู้ประกอบการสีหันไปลงทุนในธุรกิจอื่น เช่น เคมีภัณฑ์ ผนังบ้าน เป็นต้น ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจยังคงเดินหน้าและมีการเติบโตต่อไป”

วัชระ ประเมินว่า ครึ่งปีแรกปี 2564 ตลาดสีสีทาบ้านและอาคารจะชะลอตัวเหมือนกลางปี 2563 แต่หากสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อ ครึ่งปีหลังมี “วัคซีน” จะเป็นปัจจัยทำให้ตลาดกระเตื้องขึ้น คาดสิ้นปีนี้ยอดขายเติบโต 20%

นิปปอนเพนต์ จะนำนวัตกรรมต่างๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ปลอดภัยในยุคโควิดที่กำลังระบาดระลอกใหม่นี้ ขณะที่กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการโครงการต่างต้องการเดินหน้าโครงการต่อเนื่อง พร้อมมองหา “เทคโนโลยีใหม่” มาเป็นตัวช่วยเสริมให้การทำงานเร็วขึ้น ลดการใช้แรงงานคน ลดต้นทุน แต่คงประสิทธิภาพของงานได้ดี ทำให้ส่งมอบงานได้เร็วยิ่งขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของนิปปอนเพนต์ที่โฟกัสกลุ่มลูกค้า B2B ต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน มุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความสำคัญของการเลือกใช้สีและวัสดุเคลือบผิวที่มีคุณภาพ และขั้นตอนการทำงานที่ถูกต้อง ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสีทาบ้านหรือสีทาอาคาร มีทั้งการเกิดรอยด่าง สีซีด สีลอกล่อน ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ ขณะที่บางคนมองแต่ความสวยงาม แต่เมื่อใช้งานผ่านไปเพียง 3-4 ปีเริ่มเกิดปัญหา

โดยจะมีแคมเปญการตลาดตอกย้ำความเป็น “The Coatings Expert” ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ สร้างความเข้าใจการเลือก ใช้ และเตรียมสี แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพพื้นผิวของผนังหรือวัสดุนั้นๆ เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีผ่านแคมเปญโฆษณา “เครื่องสำอางเพื่อบ้านคุณ” บอกเล่าเรื่องราวผ่านสื่อออนไลน์เป็นหลักถึงการแต่งเติมบ้านให้ยังคงความสวยสดงดงามแม้เวลาจะผ่านไป

สำหรับแคมเปญ “เครื่องสำอางเพื่อบ้านคุณ” มีแนวคิดที่ว่า บ้านเปรียบเสมือนใบหน้าของผู้หญิงที่รอการแต่งเติมโดยผู้สร้างสรรค์ความงามเพื่อความสมบูรณ์แบบ ส่วนสีทาบ้านผลิตภัณฑ์เพื่อพื้นผิวเปรียบเสมือนเครื่องสำอางบนใบหน้า ที่ดึงความสวยงามของบ้านที่ต้องการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญด้านสีเช่นกัน โดยวิธีการสื่อสารจะหยิบยกประเด็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างความเข้าใจขั้นตอนการทำงานและผลิตภัณฑ์ได้เข้าใจง่ายขึ้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและรวดเร็ว