นวัตกรรม สู้โควิด-19 หน้ากากผ้าเปลี่ยนสีเมื่ออุณหภูมิสูง

นวัตกรรม สู้โควิด-19 หน้ากากผ้าเปลี่ยนสีเมื่ออุณหภูมิสูง

มทร.ธัญบุรี คิดค้นนวัตกรรมหน้ากากผ้าป้องกันไวรัสโควิด-19 ด้วยการเปลี่ยนสีของสารเทอร์โมโครมิก ช่วยตรวจสอบในเบื้องต้นได้ว่าผู้สวมใส่มีอาการป่วยหรือมีอุณภูมิร่างกายสูงเกิน 37.5 องศาหรือไม่ ต้นแบบนวัตกรรมหน้ากากผ้าในเชิงพานิชย์ได้ในอนาคต

สำหรับ นวัตกรรมหน้ากากผ้าป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยแสดงผลผู้ป่วยที่มีอุณหภูมิสูงด้วยการเปลี่ยนสีของสารเทอร์โมโครมิก เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนานวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถแก้ปัญหาและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และจะสามารถเป็นต้นแบบนวัตกรรมหน้ากากผ้าในเชิงพานิชย์ได้ในอนาคต ขณะนี้ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว

ผลงานทีมผู้วิจัย ดร.นารีรัตน์ จริยะปัญญา อาจารย์นักวิจัยภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ สาขาวิศวกรรมการจัดการผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี)ผศ.สุนีย์ หทัยวสีวงศ์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา และทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 นำโดย “บีม” น.ส.วิจิตรา ควรรับผล “นิว” น.ส.มนัญญา จำปาศรี พร้อมด้วย “มายด์” น.ส.คนิษฐา สุวรรณศิลป์

หน้ากากผ้าที่ทีมวิจัยต้องการพัฒนาควบคู่กับการประยุกต์ใช้สารเทอร์โมโครมิกประกอบด้วย หน้ากากผ้าชั้นนอก มีประสิทธิภาพ สะท้อนน้ำ ป้องกันแบคทีเรีย หายใจได้สะดวก ที่สำคัญยังป้องกันไฟฟ้าสถิตย์ได้ด้วยการใส่เส้นใยที่มีส่วนผสมของคาร์บอนไฟเบอร์ ส่วนผ้าชั้นใน เป็นผ้าฝ้าย 100% ไม่ตกแต่งสารเพื่อป้องกันการระคายเคืองบนผิวหนัง ขณะที่แถบยางยืดใช้ตกแต่งสารเทอร์โมโครมิก เนื่องจากแถบยางยืด เป็นส่วนที่แนบติดกับผิวหนังจึงสามารถสัมผัสอุณหภูมิความร้อนบริเวณใบหน้าได้เป็นอย่างดี และชิ้นส่วนของผ้าที่ตกแต่งสารเทอร์โมโครมิกนั้นได้ออกแบบมาเพื่อที่สัมผัสอุณหภูมิบนผิวหน้าให้ได้มากที่สุด

ทีมผู้วิจัย ยังกล่าวอีกว่า การออกแบบหน้ากากผ้าป้องกันไวรัสโควิด-19 สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการออกแบบหุ่นจำลองขึ้นมาและให้มีอุณหภูมิประมาณ 37.5 – 40 องศาเซลเซียส และสวมหน้ากากผ้าลงบนหุ่นทดลอง เนื่องจากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นเป็นการเสี่ยงต่อทีมผู้วิจัยที่จะทดสอบกับผู้ป่วยอุณหภูมิสูงจริง 

จึงได้สร้างต้นแบบจำลองมาใช้งานและจะนำหน้ากากผ้าที่ตกแต่งด้วยสารเทอร์โมโครมิกไปใช้กับผู้ป่วยที่เป็นไข้และมีอุณหภูมิสูงจริงต่อไป และเหมาะกับทุกกลุ่มคนที่ต้องอยู่ในคนหมู่มาก เพื่อช่วยคัดกรองผู้ที่มีอุณหภูมิสูงออกจากคนปกติ ซึ่งสอดรับกับการตรวจวัดอุณหภูมิที่มีเพียงการวัดเฉพาะทางเข้าเพียงเท่านั้น โดยหน้ากากที่พัฒนาขึ้นนี้มีราคาสูงกว่าหน้ากากผ้าทั่วไปเพียงแค่ 10 – 15 บาทเท่านั้น สามารถซักด้วยน้ำสะอาดและสบู่ได้มากถึง 30 ครั้ง  

สำหรับหลักการใส่หน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากผ้าหรือหน้ากากทางการแพทย์มีความจำเป็นในปัจจุบันเนื่องจากสามารถป้องกันละอองฝอยต่างๆ ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อโควิด-19 สู่ผู้อื่น รวมถึงป้องกันละอองฝอยจากผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มาสู่ตัวเราได้อีกด้วย อ.นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯแนะนำว่า สิ่งสำคัญของการใส่หน้ากากอนามัยคือต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เราลดโอกาสการแพร่เชื้อหรือลดโอกาสที่จะได้รับเชื้อจากผู้อื่นได้ นอกจากนี้ ควรใช้หน้ากากอนามัยร่วมกับวิธีอื่นๆ ในการลดโอกาสรับและแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ๆ ได้แก่ การล้างมือบ่อยๆ และการเว้นระยะห่าง ถ้าทำได้ทั้งสามสิ่งนี้พร้อมกันรับรองได้ว่าเราจะปลอดภัยจากโรคโควิด- 19 ได้

สำหรับ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Medical Mask หรือ Surgical Mask) เป็นสินค้าควบคุม ซึ่งได้รับการรับรองว่ามีคุณสมบัติสามารถป้องกันละอองฝอยได้ และสามารถใช้ในทางการแพทย์ในห้องผ่าตัด หน้ากากทางการแพทย์ที่ด้านหน้ามีสีเข้มก็เพื่อประโยชน์ในการกันน้ำ กันความชื้น และป้องกันละอองฝอยได้ดี ด้วยมาตรฐานในการผลิตทำให้หน้ากากทางการแพทย์ มีรูประมาณ 3 - 5 ไมครอน ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันละอองฝอยที่เป็นแหล่งกำเนิดเชื้อโรคต่างๆ ที่แพร่กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี สำหรับหน้ากากอนามัยที่ขายกันตามท้องตลาด ซึ่งเป็นหน้ากากผ้าก็สามารถป้องกันละอองฝอยได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่าการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากากผ้าที่มีขายกันอยู่นั้นมีความปลอดภัยและสามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้

การซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จริงๆ แล้วสีไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสีเขียว ฟ้า ขาว แต่ลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งคือด้านสีเข้มจะกันไม่ให้น้ำเข้ามา ด้านอ่อนจะเป็นด้านที่มีความนุ่ม เพราะสัมผัสกับใบหน้าของเรา ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสีอะไรก็มีความปลอดภัยทั้งนั้น ขอให้ซื้อกับผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ และได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าก็เพียงพอแล้ว” อ.นพ.ธิติวัฒน์ กล่าว