ภาคอสังหาฯจี้แบงก์ชาติชะลอใช้ LTV ชั่วคราว พร้อมขอฟื้น ‘บ้านดีมีดาวน์’ พยุงธุรกิจ

“อธิป พีชานนท์” ประธานคณะกรรมการสมาคมกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ฯ ร้องแบงก์ชาติชะลอใช้มาตรการ LTV หลังเป็นอุปสรรค มองควรจูงใจให้กลุ่มมีกำลังซื้อเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัย และควรฟื้นบ้านดีมีดาวน์ กระตุ้นภาคอสังหาฯ

นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชะลอการใช้มาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือ มาตรการ LTV ชั่วคราว เพราะเป็นอุปสรรคต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 เพื่อความจำเป็น    

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ามาตรการที่ ธปท.ออกมาเพื่อสกัดการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ แต่ปัจจุบันที่ภาคอสังหาฯได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ขณะนี้ไม่มีการเก็งกำไร แต่ภาคอสังหาฯจำเป็นต้องดึงกลุ่มคนที่ยังมีกำลังซื้อเข้ามาซื้ออสังหาฯ ดังนั้นควรยกเลิกชั่วคราว และหากสถานการณ์กลับมาปกติธปท.จะกลับมาใช้มาตรการดังกล่าวก็ได้

“ที่ผ่านมาเอกชนได้ส่งหนังสือถึง ธปท. ต่อการชะลอใช้มาตรการ LTV แล้วหลายรอบ แต่ก็ไม่ได้รับนัด เพราะจะขอเข้าพบเอาตัวเลขชี้แจง โดยสถานะเศรษฐกิจวันที่ออกกฎกับตอนนี้ต่างกันเยอะ เศรษฐกิจขณะนั้นไม่ได้รับผลกระทบ โดยมาตรการดังกล่าวทำให้การขอสินเชื่อมีกฎเกณฑ์เข้มงวด เข้าถึงสินเชื่อได้ยากเป็นเรื่องจำเป็นแก้ปัญหา ถ้าดีขึ้นยินดีกลับไปใช้ LTV เหมือนเดิม”

นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลออกโครงการบ้านดีมีดาวน์ ซึ่งหมดระยะเวลาไปเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นโครงการที่ประชาชนมาใช้สิทธิ์ 2 หมื่นราย มีการใช้วงเงินหลักแสนล้านบาท ปรากฎว่าโครงการดังกล่าวหายไปขาดตอน อยากให้นำกลับมาเป็นการช่วยภาคอสังหาฯอีกทาง

ส่วนมาตรการการลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 0.01% สำหรับบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาทนั้น มองว่าช่วยกระตุ้นภาคอสังหาฯได้มากในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เพราะค่าธรรมเนียมการโอนลดลงไป 0.01% นั้น ใน 1 ล้านบาท จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 3 หมื่นบาท 3 ล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายได้ 9 หมื่นบาท จะเป็นตัวตัดสินใจให้คนซื้อบ้าน แต่รัฐบาลควรเร่งผลักดันให้มาตรการดังกล่าวมีผลออกมาภายในครึ่งเดือน ไม่ควรนานเกิน 2 เดือน เหมือนปีที่ผ่านมา ที่ยังมีช่องว่างของการประกาศใช้กฎหมาย และต้องการให้ผ่อนปรนและเปลี่ยนคำจากลดค่าธรรมเนียมการโอนสำหรับบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นลดค่าธรรมเนียมการโอนสำหรับ 3 ล้านแรกแทน ซึ่งส่วนเกิน 3 ล้านแรกก็เสียค่าธรรมเนียมปกติ

“ปัญหาของอสังหาฯในปีนี้ คือมีคนถูกปฏิเสธสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยมากถึง 40% ดังนั้นรัฐต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เพราะไม่ให้เกิดการเลิกจ้างแรงงาน โดยขณะนี้ผู้ประกอบการหยุดการออกโครงการใหม่ๆ เพราะมองว่าภาคอสังหาฯในครึ่งปีแรงยังได้รับผลกระทบโควิด และจะฟื้นครึ่งปีหลังที่จะเป็นตัวขับเคลื่อน

ภาคอสังหาฯให้เติบโต และผู้ประกอบการจะมีการออกโครงการใหม่ๆในช่วงครึ่งปีหลัง”