ประโยชน์ที่พลอยได้ของ 'การจดทะเบียนพาณิชย์'

ประโยชน์ที่พลอยได้ของ 'การจดทะเบียนพาณิชย์'

ทำความรู้จัก "การจดทะเบียนพาณิชย์" ตาม พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 คืออะไร? และผู้ประกอบการที่จดทะเบียนแล้ว ได้ประโยชน์อะไรบ้าง?

กฎหมายทะเบียนพาณิชย์ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน คือพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 ตราออกใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2479 หลักการสำคัญคือเพิ่มพาณิชยกิจที่จะจดทะเบียนอีกหลายพาณิชยกิจ เน้นเจตนารมณ์เพื่อประโยชน์ทางสถิติและทราบหลักฐานของผู้ประกอบพาณิชยกิจ เพิ่มรายการจดทะเบียนเงินทุนของผู้ประกอบพาณิชยกิจเพื่อทราบฐานะการค้าของพ่อค้า

ในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนากฎหมายใน ประมาณปี 2546-2549 เพื่อพิจารณาปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย มีข้อเสนอให้พิจารณายกเลิกกฎหมายทะเบียนพาณิชย์ด้วย แต่อนุกรรมการจากกระทรวงพาณิชย์เห็นควรให้คงไว้เพราะน่าจะยังมีประโยชน์

ซึ่งเมื่อมีการปฏิรูประบบราชการในช่วงปี 2545 มีการปรับปรุงส่วนราชการในกระทรวงพาณิชย์ เช่น กรมทะเบียนการค้าเปลี่ยนเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีภารกิจใหม่คืองานส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังไม่มีกฎหมายในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ จึงต้องอาศัยกฎหมายทะเบียนพาณิชย์ ออกประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจที่เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และที่เกี่ยวข้อง ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ เพื่อให้ทราบตัวตนของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

  • สาระสำคัญของพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499

ผู้ประกอบพาณิชยกิจตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ โดยสำนักงานใหญ่ของผู้ประกอบพาณิชยกิจตั้งอยู่ท้องที่ใดให้จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์ในท้องที่นั้น ถ้าสำนักงานใหญ่อยู่ในต่างประเทศ สำนักงานสาขาในประเทศไทยตั้งอยู่ท้องที่ใด ก็ให้จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์ ณ ท้องที่นั้น

การประกอบพาณิชยกิจที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ในปัจจุบัน เป็นไปตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องให้ผู้ประกอบพาณิชย์ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2553 คือ

ผู้ประกอบพาณิชยกิจตามรายการที่กำหนดในข้อ 4 ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ยกเว้นผู้ประกอบพาณิชยกิจที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัท จำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด

ผู้ประกอบพาณิชยกิจตามรายการที่กำหนดในข้อ 5 ซึ่งเป็นพาณิชยกิจที่ควบคุมเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าเป็นบุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต้องจดทะเบียนพาณิชย์

  • สถานที่จดทะเบียนพาณิชย์

ช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อประมาณปี 2550 ภารกิจการจดทะเบียนพาณิชย์ก็เป็นภารกิจที่จะต้องโอนให้เป็นอำนาจขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

ในระยะเริ่มแรกทยอยโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมก่อน จนในปี 2553 องค์กรปกครองท้องถิ่นทุกแห่งมีความพร้อม สถานที่จดทะเบียนพาณิชย์จึงเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 6 ของประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าวข้างต้น คือให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจที่ต้องจดทะเบียนตามข้อ 4 และ 5 ยื่นคำขอจดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลที่สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่ หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดเฉพาะในท้องที่นอกเขตเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล

สำหรับนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย แต่มาตั้งสาขาประกอบพาณิชยกิจในประเทศไทย สำนักงานสาขาใหญ่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่สำนักงานทะเบียนใดก็ให้จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์ท้องที่นั้น

การจดทะเบียนพาณิชย์เจตนารมณ์ตามกฎหมายเพื่อทราบสถิติ ตัวตนและสถานะของกิจการของการประกอบพาณิชยกิจ อันเป็นประโยชน์ของทางราชการ อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนพาณิชย์มีประโยชน์ที่พลอยได้ ตามที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาบางคดีที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทะเบียนพาณิชย์ เช่น

1.ใช้ชื่อร้านจดทะเบียนพาณิชย์ เจ้าของร้านเป็นเจ้าของชื่อนั้นโดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4/2512 โจทก์เป็นเจ้าของร้านชื่อแซลวิน อินเด็นติ้งเอเย่นซี และได้จดทะเบียนพาณิชย์เพื่อใช้ในการประกอบการพาณิชย์แล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าของชื่อนั้นโดยชอบ เมื่อบริษัทต่างประเทศส่งเงินมาชำระหนี้แก่ร้านโจทก์ โดยธนาคารหนึ่งออกเช็คสั่งจ่ายเงิน โดยระยุชื่อร้านโจทก์ดังกล่าวเป็นผู้รับเงิน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คฉบับนั้นโดยชอบ เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากธนาคารจำเลยซึ่งเรียกเก็บเงินตามเช็คไปเข้าบัญชีของผู้ที่มิใช่ผู้ทรงเช็คแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องธนาคารจำเลยได้โดยชอบ

2.สำนักงานที่จดทะเบียนพาณิชย์ถือเป็นสาขาและภูมิลำเนาของนิติบุคคลต่างประเทศ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3234/2522 บริษัท ก.และบริษัท อ. เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเดนมาร์ก จดทะเบียนประกอบการพาณิชย์ต่อสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ ใช้ชื่อว่า “สายการเดินเรือเมอสก์ สาขากรุงเทพฯ” มีสำนักงานในกรุงเทพฯ ถือได้ว่าสายการเดินเรือเมอสก์ สาขากรุงเทพฯ เป็นสำนักงานสาขาของบริษัท ก.และบริษัท อ. เป็นภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ.มาตรา 71 ฟ้องบริษัท ก.และบริษัท อ.ได้ที่ศาลแพ่ง

3.ฟ้องสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศที่จดทะเบียนพาณิชย์ได้ แม้ไม่ใช่นิติบุคคล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1282/2524 โจทก์ใส่ชื่อจำเลยในตอนต้นของคำฟ้องว่า “สายเดินเรือเมอสก์ สาขากรุงเทพฯ” ตามชื่อที่จดทะเบียนพาณิชย์ไว้ แต่ในคำบรรยายฟ้องโจทก์ก็ได้กล่าวให้ทราบชัดแล้วว่าจำเลยหมายถึงบริษัท ก.กับบริษัท อ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลอยู่ในประเทศเดนมาร์ก และมีสำนักงานสาขาสำหรับดำเนินธุรกิจซึ่งบริษัททั้งสองทำร่วมกันในประเทศไทยโดยใช้ชื่อว่า “สายเดินเรือเมอสก์ สาขากรุงเทพฯ” เป็นจำเลย ดังนี้แม้ “สายเดินเรือเมอสก์ สาขากรุงเทพฯ” จะมิได้เป็นนิติบุคคล ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยได้

ซึ่งต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2883/2532 วินิจฉัยออกมาแนวเดียวกัน

4.แสดงถึงวัตถุประสงค์ของบริษัทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2334/2521 บริษัทจำกัดมีวัตถุที่ประสงค์ตามหลักฐานใบทะเบียนพาณิชย์ว่าเป็นนายหน้าตัวแทนค้าต่าง ซื้อขายสินค้า ดังนี้ การรับจำนองค้ำประกันหนี้ค่าซื้อสินค้าอยู่ในวัตถุประสงค์ของบริษัท

5.พิจารณาประกอบว่าเป็นพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ตาม ป.พ.พ. 1332 หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2491/2561 จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการรับจ้างทำความสะอาดและซ่อมแซมกระเป๋าถือ มีเครื่องประดับจำพวกเพชรและทองรูปพรรณวางแสดงอยู่ในร้านก็เป็นของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ขอยืมโจทก์มาแสดงในร้าน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนพาณิชย์ประกอบพาณิชยกิจจำหน่ายเครื่องประดับจำพวกเพชร นาก เงินและทองรูปพรรณ

ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ค้าของเก่าประเภทเพชรทอง ไม่ปรากฏว่ามีการซื้อขายเครื่องประดับเพชรทองที่ร้าน บ. ของจำเลยที่ 1 เลย ถือไม่ได้ว่าเป็นพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นตามความหมายของ ป.พ.พ.มาตรา 1332 เมื่อจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ได้ซื้อทรัพย์สินของโจทก์ จากจำเลยที่1 ที่มิใช่พ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ทั้งการซื้อขายไม่สุจริตย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองจากบทกฎหมายดังกล่าวจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำต้องคืนทรัพย์ที่ซื้อมานั้นแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของแท้จริง