"กรรมการสมานฉันท์" หาช่องคุย แกนนำม็อบคณะราษฎร - "วันชัย" จ่อคุย "ไผ่ ดาวดิน"

"กรรมการสมานฉันท์" หาช่องคุย แกนนำม็อบคณะราษฎร - "วันชัย" จ่อคุย "ไผ่ ดาวดิน"

กรรมการสมานฉันท์ เชื่อ 4กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตอบรับแน่ จ่อหาช่องทางคุยนอกรอบ "ม็อบเยาวชน" หมอวันชัย เปรยอาจหาช่องคุย "ไผ่ ดาวดิน" ฟังข้อเรียกร้อง-ฟังความเห็น

      นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ กรรมการสมานฉันท์ ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะกรรมการ ซึ่งมีมติเลือก กรรมการส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 คน ได้แก่ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นางปาริชาติ สถาปิตานนท์​ นักวิชาการด้านสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายภูมิ มูลศิลป์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่า ในเบื้องต้นกรรมการที่เสนอชื่อได้ทาบทามไว้เบื้องต้นก่อนเสนอชื่อในที่ประชุม เพื่อให้กรรมการลงมติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม ดังนั้นว่าไม่มีบุคคลใดที่ไม่ตอบรับ และหลังจากนี้เชื่อว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะลงนามแต่งตั้งภายใน 1-2 วันนี้ ดังนั้นในการประชุมกรรมการสมานฉันท์สัปดาห์หน้าจะเชิญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าประชุมเพื่อพูดคุยทำงานต่อไป
      นพ.วันชัย กล่าวถึงผลหารือถึงการเชิญกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าร่วม ด้วยว่า ในส่วนของพรรคฝ่ายค้านนั้น กรรมการที่เป็นส.ส.​ รับจะไปดำเนินการพูดคุย ขณะที่ฝั่งผู้ชุมนุมนั้นเบื้องต้นจะหาช่องทางเพื่อพูดคุยกับตัวแทนของกลุ่มผู้ชุมนุม และขอเข้าไปพูดคุยถึงความต้องการ รวมถึงรับฟังข้อเรียกร้อง ทั้งนี้จะเป็นรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ โดยส่วนตัวอยู่ในพื้นที่จ.ขอนแก่น พื้นที่เดียวกับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ดาวดิน แกนนำกลุ่มคณะราษฎร เพื่อชวนให้ร่วมพูดคุย 
 
      นพ.วันชัย กล่าวด้วยว่าในการทำงานที่ประชุมหารือกันเบื้องต้นว่าจะตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ โดยบุคคลที่จะเป็นอนุกรรมการนั้นต้องเป็นบุคคลที่พูดคุยได้กับฝ่ายผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ เหมือนครั้งที่ตนเคยทำสานเสวนาคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงที่มีบุคคลที่สามารถพูดคุยได้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมทำงาน อย่างไรก็ดีในการทำงานเพื่อรับฟังความเห็นนั้นจะไม่จำกัดเฉพาะผู้ชุมนุม แต่จะเปิดกว้างให้ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นสะท้อนความต้องการและวางอนาคนร่วมกัน
 
      ผู้สื่อข่าวรายงานถึงผลการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่มีนายเทอดพงษ์​ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา  มีประเด็นพิจารณาที่สำคัญ คือ การวางกรอบการทำงาน โดยมีมติให้กำหนดกรอบเวลาทำงานเป็น 2 ระยะ คือ มาตรการระยะสั้น จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ เพื่อรับฟังความต้องการของทุกกลุ่ม และเพื่อวิเคราะห์ จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเพื่อหาทางออกในการสมานฉันท์ ส่วนมาตรการระยะยาว ได้วางหลักที่จะสร้างความปรองดองอย่างยั่งยืน โดยดึงความร่วมมือกับภาคประชาสังคมทั่วประเทศให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างความสมานฉันท์ของประชาชน  
      นอกจากนั้น ยังกำหนดกรอบอำนาจและหน้าที่ อาทิ พิจารณาศึกษา ค้นคว้าและรวบรวมความคิดเห็น แนวทางในประเด็นสร้างความปรองดอง การปฏิรูปการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์, จัดทำข้อเสนอในการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดในสังคมไทยอย่างยั่งยืน, จัดสัมมนา รับฟังความคิดเห็น อบรม หรือศึกษาดูงานเกี่ยวกับการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดแก่สังคมไทยอย่างยั่งยืน, ขอความร่วมมือบุคคลหรือหน่วยงานมาให้ข้อมูล เอกสาร ข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นตามที่กรรมการเห็นสมควร.