บัญชีกลางย้ำไม่มีหน้าที่เรียกคืนเบี้ยยังชีพคนชรา

บัญชีกลางย้ำไม่มีหน้าที่เรียกคืนเบี้ยยังชีพคนชรา

โฆษกบัญชีกลางแจง กรมฯไม่มีหน้าที่เรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพคนชรา แต่เป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมฯทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมตรวจสอบคุณสมบัติว่าเป็นบุคคลที่ได้รับบำนาญ ซึ่งถือเป็นการทำผิดเงื่อนไขการรับเงินดังกล่าว

นางนิโลบล แวววับศรี รองอธิบดี ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลางเปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวการเรียกเงินเบี้ยยังชีพจากคนชรา เนื่องจาก เป็นผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญข้าราชการด้วยนั้น กรมฯขอชี้แจงว่า กรมบัญชีกลางเป็นเพียงหน่วยงานที่ตอบข้อซักถามจากกระทรวงมหาดไทยว่า บุคคลที่มีรายชื่อที่ส่งมานั้น เป็นบุคคลที่มีสิทธิรับเงินบำนาญหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯได้ตอบข้อซักถามไปเพียง 1 รายเท่านั้น ทั้งนี้ หนึ่งในเงื่อนไขการรับเงินเบี้ยยังชีพคนชรา คือ จะต้องไม่เป็นบุคคลที่รับเงินบำนาญด้วย

โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวว่า เมื่อมีการตรวจสอบพบว่า มีคนชรารับเงินเบี้ยยังชีพคนชราและเงินบำนาญไปพร้อมๆกัน ในทางปฏิบัติแล้ว บุคคลนั้นๆ จะต้องคืนเงินเบี้ยยังชีพ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับคนชรานั้นๆ จะทำหน้าที่เรียกเงินคืน ดังนั้น จึงไม่ใช่หน้าที่ของกรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียกเงินคืนได้แล้ว จะมีหน้าที่นำเงินดังกล่าวส่งคืนเข้าคลังหลวง เพราะถือเป็นเงินของแผ่นดิน

เมื่อถามว่า เหตุใดจึงเพิ่งมีการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว ทั้งที่การจ่ายเงินคนชราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวว่า การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกรมบัญชีกลางในเรื่องดังกล่าว เพิ่งจะมีการเชื่อมโยงอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 2563 ดังนั้น ข้อมูลที่พบว่า มีการรับเงิน 2 ทาง คือ ทั้งเบี้ยยังชีพคนชราและเงินบำนาญจึงเกิดขึ้น

อย่าไงรก็ดี แม้จะมีการเรียกเงินคนชราคืน แต่เงินบำนาญยังคงจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย ยกตัวอย่าง กรณีนางบวน โล่สุวรรณ อายุ 89 ปี ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถูกเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพจำนวน 8.4 หมื่นบาทเนื่องจากได้รับเงินบำนาญกรณีลูกชายเป็นทหารเสียชีวิตจากเหตุคลังแสงระเบิดนั้น ขณะนี้ ทางกรมฯก็ยังจ่ายเบี้ยยังชีพให้เดือนละ 1 หมื่นบาท